เผยแพร่ |
---|
ที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดกอรอนตาโล (Gorontalo) อันห่างไกล Salsa Djafar ทารกน้อยเพศหญิงวัยเพียง 18 เดือนถูกจับมาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส พร้อมด้วยเครื่องประดับศรีษะสีทองเพื่อเตรียมตัวประกอบพิธีเข้า “สุหนัต” ประเพณีสำคัญตามความเชื่อทางศาสนาในอินโดนีเซีย ประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดโลก โดยหมอพื้นเมืองได้ใช้มีดตัดเอาหนังชิ้นเล็กๆ ที่หุ้มปุ่มกระสัน (clitoris) ของเธอออก ก่อนปักมีดลงไปบนลูกมะนาว เป็นการจบพิธี และถือว่าสาวน้อยคนนี้ได้กลายเป็นมุสลิมเต็มตัว
“มันทำใจยากที่เห็นลูกต้องร้องไห้อย่างนี้ แต่มันถือเป็นประเพณี” Arjun Djafar พ่อวัย 23 ปี ของ Salsa กล่าวกับ AFP
การเข้าสุหนัตในผู้หญิง รู้จักกันในอีกชื่อว่าการสร้างความเสียหายต่อเครื่องเพศของผู้หญิง (female genital mutilation, FGM) เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมาหลายชั่วอายุคน และหลายคนถือว่าเป็นพิธีแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ โดยเฉพาะในจังหวัดซึ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงอย่างกอรอนตาโล ซึ่งรัฐบาลประเมินว่า ในจังหวัดนี้มีเด็กอายุไม่เกิน 11 ปีกว่า 80 เปอร์เซนต์ ที่ผ่านการเข้าสุหนัตมาแล้ว ขณะที่สถิติรวมทั้งประเทศอยู่ราว 50 เปอร์เซนต์
Khadijah Ibrahim หมอพื้นเมืองที่สืบทอดวิชาชีพต่อมาจากแม่ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อนอ้างว่า เด็กผู้หญิงคนใดที่ไม่ผ่านพิธีกรรมขริบอวัยวะเพศเสี่ยงที่เกิดปัญหาทางจิต และความพิการบกพร่องตามมา การขริบอวัยวะเพศยังช่วยป้องกันไม่ให้เด็กหญิงกลายเป็นพวกมัวเมาในกามเมื่อโตขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า คำสวดอ้อนวอนของหญิงที่ไม่ผ่านการขริบจะไม่ได้รับการยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า
การประกอบพิธีกรรมเช่นนี้มิได้จำกัดแต่เฉพาะในท้องถิ่นห่างไกลอย่างกอรอนตาโลเท่านั้น แม้แต่ในกรุงจาการ์ตาก็มีการประกอบพิธีนี้เช่นกัน แต่วิธีการที่ใช้อาจจะรุนแรงน้อยกว่าเช่นการเจาะปุ่มกระสัน แทนที่จะใช้วิธีการขริบหนังหุ้มออก
ด้านรัฐบาลอินโดนีเซียพยายามหาทางประนีประนอมกับความเชื่อและประเพณีของชาวบ้านจึงได้ยกเลิกนโยบายสั่งห้ามการประกอบพิธีโดยสิ้นเชิง และหันมาสนับสนุนให้หมอใช้วิธีการที่สร้างความเสียหายน้อยกว่า และมีความปลอดภัยมากกว่าแทน โดยรัฐบาลอินโดนีเซียอ้างว่าปัจจุบัน วิธีการที่ใช้ในพิธีสุหนัตผู้หญิงโดยทั่วไปในอินโดนีเซีย เช่นการเจาะเพื่อติดตุ้มปุ่มกระสันนั้นไม่เข้าลักษณะเป็นการสร้างความเสียหายต่อเครื่องเพศ (FGM) แต่อย่างใด
แต่ทางสหประชาชาติไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของอินโดนีเซีย โดยระบุว่า FGM นั้นหมายถึง “กระบวนการใดๆ ที่สร้างความเสียหายต่อเครื่องเพศของสตรีโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์” ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจสร้างปัญหาหลายอย่างตามมา ทั้งด้านการเจริญพันธุ์ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกแซงระหว่างการคลอดบุตรได้ ทางสหประชาชาติจึงพยายามหาทางกำจัดการประกอบพิธีกรรมนี้ให้หมดไป
ทั้งนี้ ปัญหาการสุหนัตในผู้หญิงเป็นหัวข้อถกเถียงที่เผ็ดร้อนในอินโดนีเซียมาแล้วหลายครั้ง นักกิจกรรมหลายคนมองว่า พิธีกรรมดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของผู้หญิง และยังเป็นพิธีกรรมที่ไม่มีการยืนยันในคัมภีร์อัลกุรอานแต่อย่างใด
ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียก็มีท่าทีกลับไปกลับมาอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่เคยออกคำสั่งห้ามแพทย์ทำการสุหนัตในผู้หญิงโดยสิ้นเชิงเมื่อปี 2006 ทำให้องค์กรใหญ่ของมุสลิมออกฟัตวา (คำวินิจฉัยทางศาสนา) มาตอบโต้ระบุว่า ผู้หญิงที่ผ่านการสุหนัตย่อมได้รับการยกย่องในความสูงส่ง
หลังจากนั้นหลายปี รัฐบาลก็กลับไปอนุญาตให้แพทย์ทำการสุหนัตให้ผู้หญิงได้อีก หากเป็นเพียงการ “เจาะหนังหุ้มปุ่มกระสัน” ก่อนที่จะยกเลิกคำสั่งนี้อีกครั้ง แล้วตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมแทน
บรรดานักรณรงค์มองว่า พฤติกรรมของรัฐบาลที่โลเลไปมาจึงทำให้เกิดความสับสน และทำให้การประกอบพิธีที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเครื่องเพศเหมือนพิธีที่ทำในจังหวัดกอรอนตาโล ยังคงมีอยู่ต่อไป
ด้าน Jurnalis Uddin ผู้เชี่ยวชาญด้านการสุหนัตในผู้หญิง และหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาของรัฐบาลชี้ว่า รัฐควรเน้นนโยบายที่นำไปสู่การส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้วิธีการที่สร้างความเสียหายน้อยลง โดยชี้ว่า “การกำจัดวิธีปฏิบัติดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิงไม่ต่างไปจากการว่ายน้ำทวนกระแส”
หมายเหตุ: “สุนัต” หรือ “สุหนัต? หากยึดตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ไม่มีบัญญัติคำว่า “สุนัต” มีแต่คำว่า “สุหนัต” อันหมายถึง “พิธีขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายตามข้อกำหนดในศาสนาอิสลาม”
การนำคำนี้มาใช้ในเชิงเทียบเคียงในฐานะที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มาจากพื้นฐานความเชื่อเดียวกัน ซึ่งแม้แต่เว็บไซต์ของชาวมุสลิม อย่าง “สำนักข่าวมุสลิมไทย” ก็นำคำนี้มาใช้ในการรายงานข่าวเรื่องการ “สุหนัต” ในผู้หญิงเช่นเดียวกัน