เผยแพร่ |
---|
จากรายงานของ Science Daily ลงวันที่ 1 มีนาคม 2017 คณะนักวิจัยจาก University College London (UCL) ยืนยันได้พบกับซากจุลชีพที่มีอายุอย่างน้อย 3,770 ล้านปี ซึ่งถือเป็นซากฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่เคยพบมา และถือเป็นหลักฐานโดยตรงถึงการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตยุคแรกๆ บนโลกมนุษย์ด้วย
ซากฟอสซิลดังกล่าวมีลักษณะเป็นเส้นๆ และท่อขนาดเล็กซึ่งเป็นร่องรอยที่ก่อตัวขึ้นจากแบคทีเรีย ถูกพบในชั้นหินในบริเวณที่เรียกกันว่า Nuvvuagittug Supracrustal Belt (NSB) ในควิเบก ประเทศแคนาดา
จุลชีพชนิดนี้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยแร่เหล็ก ในบริเวณที่คาดว่าเป็นรอยแยกใต้ท้องทะเลลึกที่เรียกว่าระบบ hydrothermal vent ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พื้นที่ที่อุดมด้วยแร่ธาตุและน้ำร้อนในระบบนี้คือสภาวะที่สิ่งมีชีวิตยุคแรกๆ บนโลกมนุษย์ก่อตัวขึ้น
ก่อนหน้านี้ ซากฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดถูกพบในเวสเทิร์นออสเตรเลีย มีอายุราว 3,460 ล้านปี ซึ่งมียังวิทยาศาสตร์บางรายไม่เชื่อว่าร่องรอยดังกล่าวเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิต ทำให้นักวิทยาศาสตร์จาก UCL ต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ ว่า ร่องรอยที่พวกเขาพบล่าสุดในควิเบกนั้นจะเกิดจากปัจจัยอื่นได้หรือไม่
นักวิจัยกล่าวว่า จากการพิจารณาอย่างเป็นระบบแล้ว ร่องรอยท่อเล็กๆ และเส้นฝอยๆ ที่เกิดจากฮีมาไทต์ (haematite-สารประกอบออกไซด์ของเหล็ก) เหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากกระบวนการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีวภาพได้ สิ่งที่พวกเขาค้นพบจึงน่าจะเป็นซากฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมา ซึ่งลักษณะของร่องรอยดังกล่าวก็ไม่ต่างไปจากร่องรอยที่เกิดจากแบคทีเรียที่ใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยแร่เหล็กตามรอยแยกใต้ทะเลลึกในปัจจุบัน
การค้นพบครั้งนี้ยังสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่ตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกเมื่อ แมทธิว ดอดด์ หนึ่งในคณะวิจัยจาก UCL กล่าวว่า “การค้นพบครั้งนี้แสดงถึงพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก ในช่วงเวลาเดียวกันที่ทั้งโลกและดาวอังคารต่างมีน้ำซึ่งอยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวดาว มันจึงทำให้เกิดคำถามที่น่าตื่นเต้นมากมายเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกตามมา เราหวังว่าจะได้พบกับหลักฐานของสิ่งมีชีวิตในอดีตบนดาวอังคารเมื่อ 4,000 ล้านปีก่อน หรือไม่เช่นนั้นโลกก็คงถือเป็นข้อยกเว้นที่พิเศษมาก”