“ต้นไม้รอบวัดโพธิ์กำลังป่วย” ทีมสำรวจ-ออกแบบชี้แจงภาพตัดต้นไม้ข้างวัดพระเชตุพน

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายด้านนอกวัดโพธิ์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 (ภาพจาก ROMEO GACAD / AFP)

ประเด็นการดูแลรักษาสภาพพื้นที่ในเมืองของไทยมักเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดข้อสงสัยและข้อถกเถียงเสมอ ในช่วงต้นปี 2564 เพิ่งเกิดกรณีล่าสุดเมื่อภาพต้นไม้ขนาดใหญ่บนทางเท้าด้านข้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ในสภาพถูกตัดเรียบร้อยแล้วถูกส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์ระหว่างช่วงวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2564 ในรอบวันที่ผ่านมาจึงเกิดเสียงวิจารณ์และข้อคำถามถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว

ภายหลังเกิดการส่งต่อภาพในสื่อสังคมออนไลน์ ทีมงานพบว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Mam Suteethorn โพสต์ข้อความอธิบายที่มาที่ไปกรณีนี้ในฐานะ “หัวหน้าทีมสำรวจและออกแบบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และเปิดโพสต์ข้อความชี้แจงเป็นสาธารณะ ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

เมื่อตรวจสอบข้อมูลคณาจารย์ที่ปรากฏในเว็บไซต์ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบชื่อ ดร. กนกวลี สุธีธร ระบุตำแหน่งว่าเป็นอาจารย์ และคณะกรรมการหลักสูตรปริญญาตรี

ข้อความในโพสต์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งระบุว่า สืบเนื่องจากการโพสต์ภาพตัดต้นไม้บริเวณทางเท้าข้างวัดพระเชตุพน ในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมงานฯ จึงชี้แจงว่า ทีมงานฯ “ตัดต้นไม้ที่มีปัญหาสุขภาพและความเสี่ยงออกทั้งหมด 52 ต้น และปลูกต้นไม้ใหม่ 70 ต้น”

ที่มาที่ไปของการตัดนั้น ข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า ก่อนจะดำเนินการตัดต้นไม้ ทีมงานได้ศึกษาเก็บข้อมูลของต้นไม้ทั้งหมดตั้งแต่กลางปี 2563 โดยได้ประเมินสุขภาพและความเสี่ยงของต้นไม้แต่ละต้นด้วย “แบบฟอร์มที่ปรับปรุงจาก International Society of Arboriculture (ISA) และโรงเรียนต้นไม้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และยังลงพื้นที่สำรวจและประชุมร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานเขตพระนคร กรมโยธา รฟม. สจล TOT การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานคร ภูมิสถาปนิก ผู้รับเหมางานภูมิทัศน์ และ BIG Trees เพื่อประเมินความเสี่ยง ปัญหาที่เกิดขึ้นและอาจเกิดจากต้นไม้ถนน และความเป็นไปได้ในการปลูกต้นไม้เพิ่มและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณทางเท้าโดยรอบ

ทั้งนี้ วัดพระเชตุพน ร่วมกับสำนักงานเขตและทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาและเสนอแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้ารอบวัด เพื่อสร้างพื้นที่อันร่มรื่น มีพืชพรรณเหมาะสมกับพื้นที่และปลอดภัย

ผู้โพสต์ข้อความ ระบุผลการตรวจสอบดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่)

“จากการสำรวจเก็บข้อมูลและประเมินผลพบว่ามีต้นไม้บนทางเท้าที่มีปัญหาทั้งหมด 52 ต้น (พญาสัตตบรรณ 48 ต้น ประดู่ 1ต้น ปีบ 2 ต้น มะรุม 1 ต้น) โดยต้นไม้กลุ่มนี้มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ และอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงที่จะโค่นล้มและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน ชีวิตและทรัพย์สินสาธารณะ

ในเบื้องต้นได้ประสานงานกับทางเขตที่จะขุดล้อมต้นไม้บางส่วนที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพดีพอสมควร เพื่อย้ายไปปลูกในพื้นที่ชานเมืองที่มีบริเวณกว้างและมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายน้อยกว่าบริเวณโบราณสถาน

แต่เมื่อเริ่มทำการรื้อไม้พุ่มที่คลุมโคนต้นและขุดล้อม พบปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถย้ายต้นไม้ไปได้เนื่องจากต้นไม้เกือบทั้งหมดคอผุจากความชื้น รากเปื่อยเป็นรา นอกเหนือจากบาดแผลที่ทรงพุ่มจากกิ่งหักหรือลมพายุ หลายต้นเอียงและมีความเสี่ยงที่จะโค่นล้ม มีรากรัดพันรอบคอต้น หลายต้นมีรากที่งัดพื้นทางเท้าและทำลายกำแพงวัด และรากพันระบบท่อใต้ดิน ทำให้ไม่สามารถขุดล้อมตุ้มดินออกได้

ต้นไม้ที่มีความจำเป็นต้องตัดออก คือต้นที่มีปัญหาสุขภาพ และมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายหากขาดการจัดการดูแล”

ในโพสต์เดียวกัน ดร. กนกวลี สุธีธร ยังให้ข้อมูลถึงที่มาของต้นไม้รอบวัดโพธิ์อีกว่า

“แต่เดิมทางเท้ารอบวัดโพธิ์ไม่มีต้นไม้

เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน มีการปลูกต้นหูกวางรอบวัด แต่เนื่องจากรากที่ชอนไชทำงานโครงสร้าง ใบขนาดใหญ่และลูกร่วงจำนวนมาก อีกทั้งขนาดลำต้นที่สูงใหญ่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหาย จึงได้มีการตัดต้นหูกวางทั้งหมดออกและเปลี่ยนเป็นต้นทรงบาดาลที่มีขนาดเล็ก แต่เนื่องจากทรงบาดาลมีขนาดเล็ก ไม่ให้ร่มเงา เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนจึงได้การเปลี่ยนเป็นต้นพญาสัตตบรรณ โดยได้ปลูกพญาสัตตบรรณทั้งหมด 50 ต้น

ต้นพญาสัตตบรรณเป็นไม้ป่า โตเร็ว สูงชะลูด จึงยากต่อการดูแลตัดแต่ง ต้นพญาสัตตบรรณมีดอกที่มีกลิ่นฉุนและเกสรร่วงเป็นจำนวนมาก ดอกใบและกิ่งร่วงบนหลังคาสร้างความเสียหายต่ออาคาร อีกทั้งยังมีรากที่ชอนไชทำลายโครงสร้างพื้น โบราณสถานและระบบสาธารณูปโภคใต้ดินก่อให้เกิดปัญหา

จากการสำรวจ พบว่าต้นพญาสัตตบรรณจำนวน 48 ต้น มีปัญหาคอผุ รากรัดรอบลำต้น ทรงพุ่มไม่สมดุลย์ มีบาดแผล ลำต้นเอียงและอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อทรัพย์สินสาธารณะ จึงเสนอให้เปลี่ยนชนิดต้นไม้ใหม่ที่มีความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่”

ผู้สนใจกรณีนี้อาจมีคำถามต่อมาเกี่ยวกับ “การเลือกใช้ต้นไม้” ดร. กนกวลี สุธีธร ยังชี้แจงในโพสต์ว่า “…หลักการสำคัญคือการเลือกใช้ต้นไม้ที่มีความปลอดภัยต่อการสัญจรทั้งผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะและคนเดินเท้า ดูแลรักษาง่ายและเป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่เมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ เนื่องจากดินที่อัดแน่น พื้นผิวคอนกรีต ความร้อนจากเมืองและถนนลาดยาง ปริมาณน้ำใต้ดินที่สูง และน้ำท่วมในฤดูฝนและการขาดน้ำเนื่องจากมีพื้นที่ผิวดินที่น้ำซึมได้จำกัดในฤดูแล้ง” 

ภายหลังการประชุมหารือกับวัดและสำนักงานเขตพระนคร(ผู้ดูแลต้นไม้)แล้ว ความคืบหน้าจากการบอกเล่าของหัวหน้าทีมาสำรวจฯ ระบุว่า “ในเบื้องต้นเรามีพื้นที่ปลูกต้นไม้ใหม่ได้ 70 ต้น ได้ดำเนินการปลูกไปบางส่วนแล้ว

การเลือกใช้ต้นไม้โดยมีการวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสม เลือกชนิดที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่และสภาพแวดล้อม จะช่วยให้ต้นไม้ที่ปลูกใหม่นี้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

สามารถรับชมภาพสภาพต้นไม้จากโพสต์ต้นทาง ที่นี่

ต้นไม้รอบวัดโพธิ์กำลังป่วย

จากกรณีที่มีการโพสเรื่องการตัดต้นไม้ที่ทางเท้าข้างวัดพระเชตุพน…

Posted by Mam Suteethorn on Tuesday, February 9, 2021


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564