ภาพวาดผนังถ้ำรูป “หมู” บนเกาะที่อินโดนีเซีย ส่อเป็นงานศิลป์รูปสัตว์เก่าแก่อันดับต้นๆ

ภาพวาดในผนังถ้ำเป็นรูปทรงสัตว์คล้าย "หมู" ในถ้ำ Leang Tedongnge บนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ภาพจาก AFP PHOTO /MAXIME AUBERT/GRIFFITH UNIVERSITY/HANDOUT

ผลการศึกษาภาพวาด “หมู” บนผนังถ้ำในอินโดนีเซียซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์ช่วงกลางเดือนมกราคม 2021 เปิดเผยผลตรวจสอบอายุของภาพวาดหมูบนผนังถ้ำที่พบเมื่อปี 2017 ด้วยกระบวนการตรวจสอบแบบ Uranium-series โดยระบุว่า ภาพนี้น่าจะถูกวาดขึ้นย้อนไปได้ขั้นต่ำที่สุดอย่างน้อยช่วง 45,000 ปีก่อน

ภาพวาด “หมู” ถูกพบในถ้ำที่เรียกว่า “Leang Tedongnge” ในหุบเขาบนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2017 แน่นอนว่า ภาพวาดบ่งชี้ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานบนเกาะในยุคแรก ๆ ของภูมิภาคนี้ ผลการตรวจสอบอายุด้วยวิธี Uranium-series พบว่า มีอายุเก่าแก่ราว 45,500 ปีเป็นอย่างน้อย

Maxime Aubert ผู้ร่วมศึกษาและร่วมเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Science Advance Journal แสดงความคิดเห็นว่า ผู้วาดนี้มีลักษณะความเป็น “โมเดิร์น” ไม่แตกต่างจากมนุษย์ยุคปัจจุบัน โดยมีอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับวาดภาพแบบใดก็ได้ตามที่ต้องการแล้ว

ผู้ร่วมศึกษายังระบุว่า อายุของภาพวาดนี้เป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำ และอาจเก่าแก่กว่านั้นเนื่องจากกรรมวิธีที่ใช้ตรวจสอบคือการทดสอบเปลือกแคลไซต์ (calsite) ที่ปรากฏอยู่บนภาพ เปลือกเหล่านี้มีองค์ประกอบของยูเรเนียม ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดอายุจากอัตราจากเสื่อมสลายของมัน

อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีในยุโรปอาทิ Paul Pettitt จากมหาวิทยาลัย Durham ในสหราชอาณาจักรยังตั้งคำถามกับกระบวนการการตรวจสอบอายุภาพวาดบนผนังถ้ำในอินโดนีเซียซึ่งอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้

รายงานข่าวจากสำนักข่าว BBC ระบุว่า ภาพวาด “หมู” ในถ้ำ “Leang Tedongnge” อาจเป็นงานศิลปะรูปทรงสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุด แต่ยังไม่ใช่งานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เชื่อกันว่าเป็นร่องรอยขีดเขียนบนก้อนหินที่แอฟริกาใต้ซึ่งถูกระบุว่ามีอายุ 73,000 ปี

เป็นที่ทราบกันดีว่าเกาะสุลาเวสี คือพื้นที่สำคัญในทางโบราณคดี เป็นเกาะหนึ่งที่อยู่ในบรรดาโซนหมู่เกาะซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า Wallacea ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าความสำคัญของ Wallacea อย่างหนึ่งคือพื้นที่นี้อาจเป็นเส้นทางสำหรับมนุษย์ยุคโมเดิร์นในเส้นทางไปสู่ออสเตรเลียเมื่อกว่า 60,000 ปีก่อน จึงทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า อาจมีมนุษย์อยู่บนเกาะสุลาเวสีในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หรืออาจก่อนหน้านั้นอีกด้วยหรือไม่ ซึ่งนำมาสู่ข้อสังเกตต่อมาว่า จะมีงานศิลปะที่ปรากฏเป็นรูปทรงสิ่งต่างๆ ชิ้นอื่นบนเกาะสุลาเวสี ที่มีอายุเก่ากว่า 45,000 ปีหรือไม่

คำตอบของคำถามนี้อาจต้องรอการค้นพบอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคตต่อไป


อ้างอิง:

Indonesia: Archaeologists find world’s oldest animal cave painting. BBC. Online. Published 14 JAN 2021. Access 15 JAN 2021. <https://www.bbc.com/news/world-asia-55657257>

Brian Handwerk. “45,000-Year-Old Pig Painting in Indonesia May Be Oldest Known Animal Art”. Smithsonian. Online. Published 14 JAN 2021. Access 15 JAN 2021. <https://www.smithsonianmag.com/articles/45000-year-old-pig-painting-indonesia-may-be-oldest-known-animal-art-180976748/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2564