เผยแพร่ |
---|
ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ในแวดวงโบราณคดียุโรป-อเมริกาเริ่มสัมผัสกับปรากฏการณ์ “คืนสิ่งของ” จากหมู่วัยรุ่นคนหนุ่มสาว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศเผยเรื่องผู้หญิงชาวแคนาดารายหนึ่งส่งชิ้นส่วนเซรามิกซึ่งเธอหยิบฉวยไปจากปอมเปอีเมื่อ 15 ปีก่อน โดยให้เหตุผลว่า หลังจากหยิบไป ชีวิตเธอประสบโชคร้ายมาหลายปี กรณีล่าสุด เพิ่งปรากฏหญิงสาวจากสหรัฐอเมริกา ส่งเศษชิ้นส่วนหินอ่อนกลับคืนสู่อิตาลี
เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2020 ปรากฏผู้หญิงชาวแคเนเดียนรายหนึ่งซึ่งรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศเผยว่าชื่อของเธอคือ นิโคล เธอเป็นผู้ส่งพัสดุที่ภายในบรรจุชิ้นส่วนกระเบื้องโมเซก 2 ชิ้น และชิ้นส่วนเซรามิกอีกชิ้นไปให้เอเยนต์ด้านการท่องเที่ยวในปอมเปอี ทางตอนใต้ของอิตาลี ในพัสดุยังมีจดหมายบรรยายคำสารภาพของเธอว่า หลังจากเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีปอมเปอีที่เปิดให้เข้าชมได้ เมื่อปี 2005 เธอประสบเคราะห์ร้ายต่างๆ นานา ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นผลมาจากการหยิบฉวยสิ่งของจากพื้นที่ไป เธอเล่าว่า เหตุการณ์เหล่านั้นรวมถึงสถานะทางการเงินซึ่งเธอตกที่นั่งลำบาก พร้อมกับตรวจพบมะเร็งเต้านมอีก 2 ครั้ง ในจดหมายมีข้อความส่วนหนึ่งว่า “ได้โปรด นำมันกลับไป มันนำมาซึ่งเคราะห์ร้าย”
กรณีการส่งพัสดุของนิโคลเผยแพร่ไปทั่วโลกจนกลายเป็นกระแสข่าว หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2020 รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศเปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์โรมันแห่งชาติ (National Roman Museum) ได้รับพัสดุส่งมาจากต่างแดน เมื่อเปิดออกมาจึงพบชิ้นส่วนหินอ่อนที่มีแกะสลักข้อความว่า “แด่แซม ด้วยรักจากเจสส์, โรม 2017”
ในพัสดุปรากฏจดหมายแนบมาด้วย จากปากคำของ Stéphane Verger ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์โรมันแห่งชาติ (National Roman Museum) ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ เมื่อวิเคราะห์สำนวนภาษาในจดหมาย เชื่อว่าผู้เขียนหรือเจ้าของพัสดุน่าจะเป็นวัยรุ่นเพศหญิง
“คาดว่าเธอมาโรมในปี 2017 และหยิบชิ้นส่วนหินอ่อนไปด้วยเพื่อเป็นของขวัญให้กับหนุ่มคนรักของเธอ เรื่องนี้ส่งผลต่อความรู้สึกของผมเพราะเธอยังเป็นเยาวชน เธอเข้าใจว่าเธอทำเรื่องผิดพลาดไป” Stéphane Verger กล่าว
“ปี 2020 ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดจนยับเยิน มันทำให้ผู้คนนึกสะทกสะท้อน เช่นเดียวกับทำให้นึกถึงเรื่องความผิดชอบชั่วดี เมื่อมองว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังหยิบฉวยผ่านมา 3 ปีแล้ว และเธอนำมาคืน มันถือเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญทีเดียว”
เนื้อหาส่วนหนึ่งในจดหมายเล่าถึงความรู้สึกผิดที่หยิบฉวยสิ่งของไปจากสถานที่เดิม และยังขีดเขียนข้อความลงบนสิ่งของที่ได้จากแหล่งโบราณอีก รายงานข่าวจาก The Guardian เผยว่า เจสส์ พยายามถูข้อความที่เขียนด้วยปากกาน้ำหมึกสีดำ แต่ไม่เป็นผล
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอจะระบุแหล่งที่มาดั้งเดิมของวัตถุซึ่งส่งมาถึงพิพิธภัณธ์โรมันแห่งชาติ แต่รายงานข่าวเผยว่า เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าอาจมาจากพื้นที่ Roman Forum ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรโรมัน
Stéphane Verger ยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า ไม่แน่ว่าผู้ส่งพัสดุชิ้นล่าสุดนั้นอาจได้ยินเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงแคนาดาที่ตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้ Verger ยังกล่าวอีกว่า หินอ่อนมีที่มาจากเหมือง Asia Minor หรือภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ชาวไทยเรียกกันว่า “เอเชียน้อย”
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563