เผยแพร่ |
---|
ช่วงที่กำลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ที่ได้ทำลายเศรษฐกิจไปทั่วโลก นานาประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า แม้แต่กลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเองก็ไม่อาจยื่นมือช่วยเหลือประเทศที่ด้อยกว่า จึงต้องหันมาพึ่งพาช่วยเหลือตนเองก่อนที่เศรษฐกิจจะตกต่ำไปกว่านี้
ประเทศไทยเองก็ต้องยอมรับความจริงว่า การที่จะหวังการฟื้นฟูเศรษฐกิจเฟื่องฟูจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศนั้นในยามนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะ
- ยังไม่มีมาตรการคลายล็อกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย
- ถึงแม้คลายล็อก แต่นักท่องเที่ยวก็ยังไม่ออกเดินทางข้ามประเทศทันที เนื่องจากต่างอยู่สภาวะรัดเข็มขัด ที่สำคัญยังไม่มีวัคซีนรักษา ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา
ประเทศไทยถือว่าโชคดีกว่าหลายประเทศของโลก นอกจากเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติแล้ว ทฤษฎี “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ แนะนำสั่งสอนไว้ใช้ในยามเจอวิกฤติสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook : Bangkok Bank SME
ที่สำคัญ สภาพัฒน์ ได้อัญเชิญมาเป็นนโยบายเศรษฐกิจหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินับตั้งแต่แผนฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) เป็นต้นมา โดยคำนิยามของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสไว้ว่า
“เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไป ในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์”
“ความพอเพียง” หมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการในทุกขั้นตอน
ฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องเริ่มต้น “พึ่งตนเอง”เป็นหลัก
การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังจากนี้จะต้องเริ่มจากการ “พึ่งตนเอง” เป็นหลัก ซึ่งนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “เที่ยว กิน ใช้ในประเทศ” และ “ผลิตเพื่อขายในประเทศ” เป็นอันดับแรก ถือเป็นนโยบายหลักที่เริ่มดำเนินการทันที และในทางปฏิบัติของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ตอบสนอง ทั้งส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทย และสนับสนุน SMEs ผลิตเพื่อบริโภคในประเทศก่อน
วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกครั้งนี้ เหมือนกับเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทุกประเทศไม่มีทางช่วยเหลือกันได้ เพราะล้มพร้อมกันทั้งโลก ไม่มีใครแข็งแรงพอที่จะช่วยกันได้ เมื่อเทียบกับในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เอเชียบาดเจ็บสาหัสกันทุกประเทศ แต่ชาติตะวันตกไม่ได้รับผลกระทบ ทำให้เงินจากฝั่งโน้นมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ แต่ตอนนี้ทุกคนล้มกันหมดไม่มีใครช่วยใครได้ ด้วยเหตุนี้นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยจะมุ่งเน้นการ “พึ่งพาตนเอง” ตามทฤษฎี “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9
ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่เคยตกยุกสมัย
โดยหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่เคยตกยุคสมัย ยังเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนสำคัญของรัฐบาลไทยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อก้าวข้ามปัญหาและสารพัดอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยยึดหลักปรัชญาฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังนี้
1. พอประมาณ
คำจำกัดความของคำว่า “พอประมาณ” ไม่ได้สื่อถึงความยากจน การอยู่อย่างลำบาก แต่หมายถึง “ความพอเพียง การประมาณตน และวางแผนทางการเงินที่ดี” ถ้าในสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ น่าจะเป็นการพอมีพอใช้ ลด ละ เลิก อะไรที่ไม่จำเป็น หรือประเมินแล้วเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือยที่เกินฐานะเกินรายได้
อาทิ การซื้อสินค้าที่ยังไม่จำเป็นทันด่วน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่การซื้อของจากออนไลน์เป็นเรื่องที่ง่ายมาก เราอาจจะพักก่อน เพื่อนำเงินในส่วนนั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไม่เดือดร้อน ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน รวมไปถึงอาจจะทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองในทุกเดือนต่อจากนี้ เพื่อตัดถอนสิ่งที่ไม่จำเป็น และใช้อย่างพอเพียงเพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต
2. มีเหตุมีผล
การพอประมาณอาจเป็นตัวตั้งต้นที่ทำได้ยากพอสมควร แต่จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีวิธีคิดแบบมีเหตุมีผลควบคู่ไป เช่น มุมมองที่ว่าของมันต้องมีที่ซื้อในทุกครั้ง ลองคิดต่อดูว่ามีแล้วสร้างประโยชน์อย่างไรต่อการดำรงชีวิต ใช้แล้วนอกจากสร้างสุขยังสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อการทำงานเพื่อหาเลี้ยงเงินด้วยหรือเปล่า หากมันสอดรับก็ซื้อ ในทางกลับกันหากไม่ได้สร้างประโยชน์อย่างหลากหลายหรือมากพอ ก็ควรพักและหยุดการจับจ่ายใช้สอยไว้ก่อน ซึ่งการตัดกิเลสในส่วนสินค้าที่ยากได้ก็เหมือนได้นั่งพัก
3. ภูมิคุ้มกัน
ทุกคนควรถอดบทเรียนจากโควิด-19 โดยเฉพาะเริ่มมองถึงการวางแผนระยะยาว อาทิ การมองหาประกันสุขภาพที่ใครหลายคนมองข้าม รวมทั้งการซื้อกองทุนเพื่อการออมระยะยาว ซึ่งการออมนี้การันตีได้เป็นอย่างดีว่าไม่ว่าวิกฤตไหนจะเข้ามา การมีเงินออมไว้สามารถก้าวข้ามและแก้ไขในทุกวิกฤตได้อย่างอุ่นใจ
4. สร้างความรู้
การมองหาองค์ความรู้ใหม่ทุกมิติในการเพิ่มพูนให้กับตัวเอง เพราะวิกฤตโควิด-19 ได้สอนให้ทุกคนทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำ เช่น การทำงานที่บ้าน ฉะนั้นโควิด-19 นี่แหละอาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ซึ่งทุกคนต้องเปิดโลกทัศน์เพื่อพร้อมรับอยู่เสมอ ที่สำคัญต้องคอยติดตามข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมายที่เป็นความรู้ใหม่ให้กับสังคม
5. มีคุณธรรม
หลังจากการสร้างตัวเองให้เป็นผู้รอดในวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักถึง คือการปรับจากการเป็นผู้รับจากทุกมาตรการเข้มข้น เป็นผู้ให้ให้กับสังคมบ้าง ในสัดส่วนที่ไม่เดือดร้อน เช่น การทำความสะอาดบ้านและชุมชน การอาสาตนเป็นผู้ช่วยสังคมในทุกด้าน ด้วยการยึดเอาประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง
การฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบ “พึ่งตัวเอง” โดยยึดหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาผนวกใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แม้กระทั่งวิกฤติโควิด-19 ทำให้ประชาชนชาวไทยอยู่ด้วยความยากลำบาก แต่ยึดหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นดั่งหลักคิดประจำจิตที่ผลิตคนให้มีความเข็มแข็งทั้งกายและใจ ทุกคนจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
คลิกอ่านเพิ่มเติม
- 8 วิธีปรับสมดุลชีวิตและทำงาน Work From Home
- หากวันนี้ กทม. ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับคุณ จะทำอย่างไร?
Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิกที่นี่ หรือสายด่วนโทร 1333