เบื้องหลังการเปิดโปงคดีหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองคอนหาย ดูเอกสารสำคัญ 2 ชิ้นที่ได้คืน

เอกสาร 2 ชิ้นที่ได้คืนมาและแสดงต่อสื่อที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนโมกข์กรุงเทพฯ เมื่อ 22 ก.ค. 2563 ด้านบนเป็น "สีมากถา" ด้านล่างคือ "พระอภิธรรม"

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 แวดวงวิชาการและงานศึกษาเอกสารโบราณรับทราบข่าวอันน่าตื่นตระหนกว่าหนังสือบุดสมุดข่อยจำนวนมากหายไปจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช สิ่งที่ตามมาคือเริ่มมีกระบวนการติดตามและจัดตั้งศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนครขึ้น

ภายหลังเกิดกระแสข่าว ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีนี้เริ่มมีข่าวดีให้ทราบเป็นระลอก เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ มีผู้เกี่ยวข้องแจ้งให้ทราบถึงข่าวคราวของเอกสารชิ้นสำคัญซึ่งได้คืนมา ผู้เสวนาในงานเดียวกันยังเปิดเผยถึงเส้นทางการแจ้งเหตุซึ่งทำให้สังคมตื่นรู้และนำมาสู่กระบวนการติดตามเอกสารคืนในเวลาต่อมา

นายสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปะ ซึ่งเป็นผู้แจ้งเบาะแส เล่าที่มาของการแจ้งเรื่องและหลักฐานว่า สถานะของตนเองเป็นผู้ช่วยพระครูเหมเจติยาภิบาล (โสพิทธ์ อินทโสภิโต) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่พยายามขับเคลื่อนการทวงคืนหนังสือบุด

ภูมิหลังของเรื่องนี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อ 25 กันยายน พ.ศ. 2561 ตนเองพร้อมนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช และพระครูเหมฯ เข้าชมหนังสือบุดซึ่งแสดงที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ตนเองเปิดตู้กลุ่ม “เอกสารยังคัดแยกประเภทไม่ได้” เจอตำรายังไม่มีทะเบียน จึงนำมากางเปิดเพื่อถ่ายภาพเก็บไว้ด้วยความสนใจ

เวลาผ่านมาถึงเดือนเมษายน 2563 เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นจิตรกรอิสระทำงานเกี่ยวกับศิลปะไทยมีคุณยายเป็นเจ้าของพระนิพพานโสตร ซึ่งท่านได้มอบเอกสารให้ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไว้ด้วย เพื่อนรายนี้อยู่ในแวดวงหนังสือเก่าบ้าง เพื่อนคนนี้เป็นผู้แจ้งข้อมูลให้ตนเอง, นายแพทย์บัญชา และพระครูเหมฯ ว่า มีหนังสือบุดหลุดไปในตลาดหนังสือมืดหลายร้อยเล่ม พิจารณาจากลักษณะแล้วคิดว่าเป็นหนังสือจากงานช่างภาคใต้

เมื่อได้รับแจ้งจึงคิดว่าเป็นเหตุการณ์แปลกประหลาด มีหนังสือไม่ทราบที่มา ลักษณะสอดคล้องกับงานภาคใต้โดยไม่รู้ที่มา แต่ไม่ได้ดำเนินการใดต่อ

กระทั่งในวันที่ 8 มิถุนายน กลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่งที่สมาชิกสะสมเอกสารโบราณซึ่งตกทอดมาในตระกูลนำมาแชร์ความรู้กัน ปรากฏผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่สมาชิกกลุ่มแต่เดิม โพสต์ขายสำเนาของตำราเล่มเดียวกับที่สถาบันของราชภัฎ เนื่องจากเคยถ่ายสำเนาไว้ เมื่อเห็นภาพที่โพสต์จึงจำได้ทันทีว่าเป็นเล่มเดียวกับที่เคยเห็นในสถาบันราชภัฏ เลยนึกย้อนถึงสิ่งที่ทราบจากเพื่อนว่ามีหนังสือจำนวนมากหลุดไปในตลาดมืด แต่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อ เลยแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมซึ่งเคยติดต่อกันมา

จนท. แจ้งว่าหนังสือพร่องไปจริง 200-300 เล่ม แต่คิดว่านำไปทำสำเนาดิจิทัล หรือกิจกรรมอื่นๆ เมื่อแจ้งไปแล้วคิดว่า ตนเองได้แจ้งเบาะแสแล้วคงมีดำเนินการภายในเอง

แต่เมื่อ 17-18 มิ.ย. พบการโพสต์โชว์ภาพเอกสาร 2 เล่มคือ หนังสือพระมาลัย และตำรานวดจับเส้น

นายสุรเชษฐ์ แก้วสกุล

นายสุรเชษฐ์ จับสังเกตได้ว่า ภาพที่โพสต์ลงในระบบเป็นการถ่ายภาพลักษณะกางหนังสือถ่ายบนฟูกนอนของตัวเอง คิดว่าในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไม่น่ามีฟูกนอนในพื้นที่ เมื่อทักไปพูดคุยว่าได้มาอย่างไร ขายไหม เลยทราบว่า “เป็นของผู้โพสต์เอง” และได้บอกราคามา ทำให้ปักใจว่าหนังสือหลุดไปจากราชภัฎแล้ว จึงได้เริ่มประชุมกันกับผู้เกี่ยวข้อง 2-3 ครั้ง และทำหนังสือโดยแจ้งข้อมูลเปรียบเทียบกับภาพที่ถ่ายไว้ กับภาพในโลกออนไลน์ รวมถึงข้อสังเกตที่พบเจอในอินเทอร์เน็ตและตลาดมืดแจ้งให้ม.ราชภัฎทราบในวันที่ 30 มิถุนายน วันรุ่งขึ้น 1 ก.ค. อธิการบดีจึงแต่งตั้งนิติกรและคณะกรรมการตรวจสอบไปแจ้งความ

วันที่ 2 ก.ค. ทางราชภัฏ และตำรวจมาพบคณะและขอข้อมูล หลังจากนั้นได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันพอสมควร ในระยะต่อมาพบว่าการทำงานเป็นไปในลักษณะตามหาคนผิด ในด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่หนังสืออาจถูกซื้อไปโดยเอกชนแล้ว อาจหายสาบสูญ เก็บเข้ากรุไปแบบเงียบๆ ถูกทำลาย หรือถูกขายไปยังต่างประเทศซึ่งจะตามคืนมาได้ยาก

ภายหลังกลุ่มที่เกี่ยวข้องจึงเริ่มตั้งกรรมการซึ่งนำโดยฝ่ายสงฆ์ หลักการของกรรมการชุดนี้คือ ขอบิณฑบาตคืนในนามของคณะสงฆ์และให้สัญญากับผู้มอบคืนว่า หากไม่ประสงค์จะแจ้งตัวตนว่าตนเองเป็นใคร ได้เอกสารมาอย่างไร คณะสงฆ์รับปากให้เป็นเช่นนั้น ขอเพียงส่งมอบคืนเอกสารที่เป็นมรดกความทรงจำอันล้ำค่าของนครศรีธรรมราชกลับมา

หลังแถลงรับคืน มีช่องทางให้ทางเพจ ฯลฯ เท่าที่ตำรวจมีส่งให้คืน 37 เล่ม และส่งให้ศูนย์รีเช็ก หลังจากนั้นศูนย์ได้รับ 2 เล่มคือ “สีมากถา” และ “พระอภิธรรม” ซึ่งได้นำมาแสดงต่อสื่อในงานเสวนาที่กรุงเทพฯ เมื่อจบงาน คณะจะนำกลับไปที่นครศรีธรรมราชในทันที

นายแพทย์บัญชา อธิบายเพิ่มเติมว่า ตำรา “สีมากถา” มีความสำคัญมาก เป็นคู่มือการผูกพัทธสีมาพร้อมภาพประกอบ ขณะที่นายสุรเชษฐ์ แสดงความคิดเห็นว่า เป็นเอกสารที่มีอายุอยู่ในช่วงกลางสมัยรัชกาลที่ 4 ราวทศวรรษ 2400

“หลังจากพระท่านตัดสินใจตั้งศูนย์ฯ และกำลังจะแถลง ผมเลยตัดสินใจเอารูปที่พวกเราถ่ายโพสต์ขึ้นไป หลังโพสต์ภายใน 1 ชั่วโมงมีคนโทรมาหาผมทันที บอกว่าคุณหมอ สีมากถาเล่มนั้นอยู่ที่ผม ผมไม่รู้ว่าเป็นของขโมยมา เห็นเขาขาย ผมก็เห็นว่าเป็นของมีค่า ก็เจรจาขอซื้อ…ขอนัดคืนได้ไหม แล้วเขาก็นำมาคืนเมื่อวันเสาร์ (18 ก.ค.)” นายแพทย์บัญชา กล่าว

นอกเหนือจาก เอกสาร 2 ชิ้นที่นำมาแสดงต่อสื่อในวันนี้ นายสุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่กลับคืนไปยังนครศรีธรรมราช มี 3 ลัง แต่ยังไม่ได้เปิด จะเปิดในวันที่ 24 ก.ค. เพื่อนับจำนวน ขณะที่เช้าวันนี้ (22 ก.ค.) ได้รับติดต่อแจ้งความประสงค์จะคืนอีก 4 เล่ม เป็นพระมาลัยขนาดใหญ่ และที่ผ่านมาเคยส่งไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว 37 เล่ม เป็นเล่มที่ตำรวจตามสืบย้อนไปยังผู้ขาย

นายแพทย์บัญชา เผยว่า นับโดยประมาณ เอกสารที่รวบรวมคืนมาได้เวลานี้มีร่วมร้อยเล่มที่กำลังจะมา

“สีมากถา”
“สีมากถา”
“สีมากถา”
“พระอภิธรรม”