หลักฐานใหม่จากหลุม “ดวงฤกษ์สมัยทวารวดี” กรมศิลป์ขุดพบที่โบราณสถานโคกแจง นครปฐม

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานโคกแจง ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ก่อด้วยอิฐ ขนาดความกว้างฐานด้านละ 7.20 เมตร และมีบันไดที่กึ่งกลางทั้ง 4 ด้าน นับเป็นโบราณสถานที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานสำคัญหลายแห่งในเมืองโบราณนครปฐมที่เคยพบก่อนหน้า

โบราณสถานโคกแจง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายหลังการขุดศึกษาทางโบราณคดี

จากการขุดแต่งพบว่าด้านบนสุดของโบราณสถานที่ชำรุดหักพัง มีลักษณะของหลุมที่กรุผนังด้วยแผ่นอิฐ นักโบราณคดีจึงขุดตรวจสอบลงไปจนถึงระดับความลึกที่ 1.20 เมตร ได้พบโบราณวัตถุที่น่าสนใจ คือ แผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 26.2 เซนติเมตร หนา 1.2 เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในพื้นที่กรอบอิฐ แผ่นดินเผานี้มีการขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์แบ่งเป็น 12 ช่องตามแนวรัศมี และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย ในแต่ละช่องตารางพบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง รวมถึงที่ขอบของแผ่นดินเผาก็ได้พบตัวอักษรจารึกเช่นกัน

Advertisement
อิฐที่ก่อเรียงเป็นกรอบวงกลมบริเวณเกือบกึ่งกลางโบราณสถาน
ภาพแสดงตำแหน่งที่พบและทิศทางการวางแผ่นดินเผาทรงกลม

นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ (ภาษา เอกสาร และหนังสือ) นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร) และนางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ ได้พิจารณารูปอักษรในเบื้องต้นพบว่า มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอักษรสมัยหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 อย่างไรก็ตาม การอ่านแปลและวิเคราะห์สาระในจารึก จำเป็นต้องพิจารณาจากอักษรที่มีทั้งหมด ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายหลังจากโบราณวัตถุได้ผ่านกระบวนการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ให้มีความแข็งแรง

แผ่นดินเผาทรงกลมที่ขุดค้นพบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 พื้นผิวด้านบนพบการขีดช่องตาราง คล้ายกับดวงฤกษ์ โดยมีลักษณะการขีดออกเป็นแฉกจากแกนกลางแบ่งเป็น 12 ช่อง และขีดเส้นวงกลม ซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย ในแต่ละช่องตารางย่อยดังกล่าว พบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง

การค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่เป็นการค้นพบแผ่นฤกษ์ทรงกลมที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมเคยได้พบหลักฐานแผ่นอิฐที่สันนิษฐานว่าเป็นอิฐฤกษ์ที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม เป็นอิฐที่มีการทำลวดลายพิเศษ และที่เจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอิฐที่ตกแต่งด้วยการเขียนสีเป็นลวดลาย การค้นพบแผ่นฤกษ์มีตัวอักษรที่ใจกลางโบราณสถานโคกแจง จึงเป็นหลักฐานใหม่ที่จะช่วยให้การศึกษาทางโบราณคดีในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง

โบราณสถานโคกแจง ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังการขุดศึกษาทางโบราณคดี

ปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้เคลื่อนย้ายแผ่นดินเผานี้ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ดำเนินการอนุรักษ์ตามกระบวนการ หลังจากนั้นจะได้นำไปศึกษาวิเคราะห์รูปแบบอักษรที่จารึก และการศึกษาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป