สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ต่อลมหายใจ ‘ผ้าไทย’ พลิกฟื้นเศรษฐกิจยั่งยืน

สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ต่อลมหายใจ ‘ผ้าไทย’ พลิกฟื้นเศรษฐกิจยั่งยืน

ผ้าไทย – “ผ้าไทย ก็เหมือนภาษาไทย พูดมารู้ว่าเป็นคนไทย ผ้าไทยใส่มาก็รู้เลยว่าเป็นคนไทย เป็นอัตลักษณ์ เป็นสมบัติของคนไทย อย่าให้มาตายในรุ่นเรา แต่ต้องทำให้อยู่ต่อไป”

เสียงของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความสำคัญของ “ผ้าไทย” มรดกภูมิปัญญา ที่ “กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย” ประสานความร่วมมือกับ “สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์” จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน ตลอดจนกระจายรายได้สู่ชุมชนฐานราก ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ (ขวา) ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ (ซ้าย)

“ปฐมบท” สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวถึงแรงบันดาลใจของโครงการมาจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ได้ทอดพระเนตรเห็นผ้าฝีมือชาวบ้านที่งดงามมาก และหาได้ยาก เนื่องจากวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ที่สมัยก่อนเรียกว่า “5 ย” คือ กางเกงยีนส์ ผมยาว ใส่เสื้อยืด รองเท้ายาง (รองเท้าแตะ) และสะพายย่าม แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระปรีชาญาณ และกำลังพระราชทรัพย์ต่างๆ ยาวนานกว่า 60 ปี รื้อฟื้นขึ้นมา ทำให้ผ้าไทยกลับคืนสู่สังคมไทย ชาวบ้านภาคภูมิใจ เป็นอาชีพเลี้ยงดูชีวิตและครอบครัวได้

“สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชดำริว่า ขาดทุนของพระองค์คือกำไรของชาติ ทรงชุบชีวิตผ้าไทยขึ้นมา กระทั่งมาถึงวันนี้ คนทอผ้าของเรามีมากพอที่จะรักษามรดกภูมิปัญญาไว้ได้แล้ว แต่เรื่องใหญ่คือทำยังไงให้คนรุ่นใหม่รู้จักผ้าไทย และกล้าที่จะใส่ผ้าไทย เราจึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ให้ผ้าไทยดำรงคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน” อธิบดี พช.กล่าว

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า สตรีไทยโชคดีกว่าสตรีใดในโลก ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระเมตตา ไม่เฉพาะสตรีไทยแต่กับปวงชนชาวไทยทุกคน พระองค์ทรงรื้อฟื้นชีวิตของผ้าให้กลายเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของไทย ปัจจุบันเรามีผ้าหลากหลายวัฒนธรรมทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผ้าไหมแพรวา ผ้ามัดหมี่, ภาคเหนือ มีผ้าไหมยกดอกลำพูน, ภาคกลาง มีหลากหลายมาก ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม, ภาคใต้ มีผ้ายกนคร

“สภาสตรีฯซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณในเรื่องของผ้า จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาจัดทำโครงการ โครงการแรกคือ โครงการตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน เราจะพบว่าทุกหย่อมหญ้าของหมู่บ้านจะต้องมีผ้าที่ทอจากมือผู้หญิง จากแม่ของลูก ผ้าหนึ่งผืนต้องผ่านลมหายใจของผู้หญิงเป็นแรมวัน แรมอาทิตย์ แรมเดือน เงินทุกบาทที่ได้จากการขายผ้าก็กลับไปสู่ครอบครัวสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จนกระทั่งการทอผ้าที่เป็นอาชีพเสริม ในปัจจุบันเป็นอาชีพหลักในหลายๆ ครอบครัวทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างไว้ นับเป็นมรดกที่มีคุณค่า มีความหมายอย่างยิ่งต่อปวงชนชาวไทย”

“ต่อมาในปี 2562 สภาสตรีฯจัดโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เพื่อรณรงค์ให้คนไทยทั้งประเทศหันมาใส่ผ้าไทย หันมานิยมไทย ไม่จำเป็นต้องสวย แต่ให้มีภูมิปัญญาของคนในพื้นที่นั้นๆ และมีเอกลักษณ์ของผ้าที่มีความชัดเจน”

“จากการประมาณการพบว่า จากคนไทย 67 ล้านคน หากมี 35 ล้านคน มาใส่ผ้าไทยเพิ่มอาทิตย์ละ 2 วัน จะทำให้มีการซื้อผ้าและใช้ผ้าเพิ่ม 10 เมตรต่อคน ราคาผ้าเฉลี่ยเมตรละ 300 บาท จะทำให้มีการจำหน่ายผ้าทอไทยถึง 350 ล้านเมตร คิดเป็นมูลค่า 105,000 ล้านบาท กลับคืนสู่ชุมชน ซึ่งเงินแสนล้านนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตกไปถึงพี่น้องประชาชน ช่วยให้หลุดพ้นความยากจน มีรายได้ที่ดี มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น” ดร.วันดีกล่าว

เพิ่มวันใส่ กำลังใจคนทอ เด็กรุ่นใหม่เห็นอาชีพ

โครงการเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยทางกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ร่วมกับจังหวัดทุกจังหวัด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค สมาคมองค์กรสมาชิกและภาคีเครือข่ายสภาสตรีแห่งชาติฯทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปเกิดความตระหนักรู้ และร่วมมือกันจัดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่มากมายและต่อเนื่อง

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำแผนรณรงค์ให้คนไทยใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้นอีก 1 วันเป็น 2 วัน จากเดิมนโยบายรัฐบาลที่รณรงค์ให้ใส่ผ้าไทยทุกวันอังคาร ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

“ที่เราต้องไปขอให้ท่านผู้ว่าฯทุกจังหวัดเป็นผู้นำในการใส่ผ้าไทย หรือนำเสนอเรื่องขอมติ ครม.ให้ใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้น เพื่อให้มาเป็นตัวเร่งที่จะทำให้คนในสังคมหันมาใส่ผ้าไทยกันเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องของปริมาณคน และจำนวนวัน จำนวนชิ้นที่ใส่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ 1.ทำให้คนเกิดความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ได้คุ้นชินว่าผ้าไทยสวย ผู้ใหญ่ก็ใส่”

“2.ส่งผลกระทบไปสู่ยอดขาย ทำให้คนที่ทอผ้าไทยเกือบทุกจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมี 2 จังหวัดที่ยังไม่มีผ้าไทยเป็นของตัวเองคือ จ.สมุทรปราการ และ จ.ตราด ซึ่งถ้าทุกคนมาช่วยกันสวมใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยใส่เป็นเคยใส่ หรือเคยใส่อยู่แล้ว จากอาทิตย์ละวันสองวัน เป็นอาทิตย์ละสามวันสี่วัน เรียกว่าใส่เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลกระทบไปสู่ยอดขาย เมื่อผ้าที่ทอมาขายได้ คนก็มีกำลังใจทอผ้า ขณะเดียวกัน เด็กเยาวชนก็จะเห็นว่าเป็นอาชีพได้ด้วย ถ้าเราช่วยกันทำอย่างนี้ถึงจะยั่งยืน”

ผ้าไทย ไม่ได้มีแค่ ผ้าไหม

ประเทศไทยมีผ้าหลากหลายชนิด แต่ละชนิดล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า เพราะมาจากภูมิปัญญาไทย ทำในประเทศไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย

อธิบดี พช.กล่าวว่า ผ้าไทยมีหลากหลายมาก ผ้าชาวเขา ผ้าหม้อห้อม ผ้าบาติก ใส่ได้ทุกวัน ไม่มีซ้ำ เพราะไม่ได้จำกัดว่า จะต้องใส่เฉพาะผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ขอให้เป็นผ้าไทย เกิดจากฝีมือของชาวบ้าน ของพวกเราคนไทยด้วยกัน

ประธานสภาสตรีฯเสริมว่า ผ้าไทยไม่จำเป็นต้องผ้าไหม ผ้าฝ้ายก็ได้เหมือนกัน และใส่ง่าย ไม่ต้องซักรีด สามารถซักที่บ้าน และตากแห้งได้สบายๆ

สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน 4.4 พันล้าน

ผลการขับเคลื่อนโครงการทุกภาคส่วน เช่น ภาคราชการ เอกชน ประชาชน ต่างก็มีความตื่นตัวและตอบรับกระแสการใส่ผ้าไทยมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ของชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยมียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า ทั้งทางหน้าร้านและออนไลน์ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนตุลาคม 2562 – เมษายน 2563 มียอดจำหน่าย 4,490,805,336 ล้านบาท โดยมีผู้รับประโยชน์จากโครงการ จำนวน 226,512 คน

“จากการเอ็มโอยู 76 จังหวัด ทำให้เกิดการซื้อผ้า เพราะทุกคนก็มาแต่งตัว จัดแฟชั่น จัดกิจกรรมต่างๆ ก่อนที่จะมีโควิด-19 มีรายได้หมุนเวียนทั้ง 76 จังหวัด เฉพาะแค่งานเล็กๆ ที่เราจัดไม่น้อยกว่า 4.4 พันล้านบาท ฉะนั้น ถ้าเรารณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังและยั่งยืน เราจะสามารถสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ภายในปี 2565 แน่นอน” ดร.วันดีกล่าวอย่างมั่นใจ

นับเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น จ.นครศรีธรรมราช จากเดิมที่ผู้ประกอบการผ้ามีรายได้เดือนละ 1 แสนบาท เมื่อมีโครงการเข้าไปรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 4 แสนบาท และจากการจัดงาน OTOP CITY 2019 ที่เมืองทองธานี เมื่อเดือนธันวาคม 2562 เฉพาะส่วนของผ้าไทยทำรายได้ถึง 1,500 ล้านบาท

กำเนิด “ผ้าลายใหม่” พัฒนา “ผ้าพื้นถิ่น”

คุโณปการของโครงการนี้ นอกจากทำให้เกิดการรวบรวมผ้าไทยทุกประเภทจากทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว ยังได้ทำให้เกิด “ผ้าไทย” ประจำจังหวัดขึ้นมาใหม่ ในจังหวัดที่ไม่มีผ้าประจำจังหวัด

ดร.วันดีเล่าว่า จ.สมุทรสาคร เดิมไม่มีผ้าประจำจังหวัด แต่บัดนี้มีผ้าสไบมอญและได้สร้างลวดลายขึ้นมา ชื่อว่า ลายปลาทู และลายกล้วยไม้

นอกจากนี้ โครงการยังช่วยพัฒนาผ้าพื้นถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งลวดลาย การสร้างสี

“ผ้าขอนแก่น มีผ้าแคนแก่นคูน, ร้อยเอ็ด ผ้าสาเกต เป็นผ้าประจำจังหวัด ส่วนอุดรธานีกำลังรื้อฟื้นผ้า ที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ หรือมหาสารคาม เป็นเมืองที่มีวัตถุดิบในเรื่องของไหมมากอันดับต้นๆ ของประเทศ มีผู้ที่ทอผ้าไหมลายโบราณหลากหลายมากมาย”

ปลาบปลื้มทั้งแผ่นดิน

ดร.วันดีเผยว่า จ.มหาสารคาม ได้ทูลเกล้าฯถวายผ้าไทยโบราณ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อเสด็จฯ เป็นประธานในงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจแรก

“พระองค์ทรงนำผ้าที่ทูลเกล้าฯ ถวายมาตัดฉลองพระองค์ และทรงสวมให้ได้ชื่นชมในวันที่โดยเสด็จฯ ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องมือแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยฉลองพระองค์ที่งดงาม และผ้าไทยที่ทรงมีพระมหากรุณาเลือกไปตัดเป็นฉลองพระองค์ ซึ่งมาจากของเรา สร้างความปลาบปลื้มให้กับสภาสตรีฯ และคนมหาสารคามเป็นอย่างมาก”

“พัฒนา” รองรับ “แฟชั่นสมัยใหม่”

นายสุทธิพงษ์ ระบุว่า ปัจจุบัน คนทอผ้าพัฒนาตัวเองตามยุคสมัย มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจสืบสานงานด้านนี้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มทอผ้าปักธงชัย จ.นครราชสีมา ได้พัฒนาลวดลายทอผ้าลายดอกโบตั๋นตามความต้องการของมาดามพันเผิง ภริยาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และกลุ่มทอผ้าไหมยกดอกลำพูน จ.ลำพูน ก็ได้ข้ามขีดจำกัดของการทอผ้า จากเดิมนิยมทอผ้า 4 เมตร ก็พัฒนาทอให้ยาวได้ถึง 10 เมตร ตามความต้องการของมาดามพันเผิง เพื่อนำไปตัดเป็นชุดต่างๆ ซึ่งต่อไปเชื่อว่ากลุ่มทอผ้าทั่วประเทศจะพัฒนาตาม

“ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า พวกที่ทอผ้าไทยแบบโบราณเขาสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นสมัยใหม่ได้ เพียงแต่ไม่มีเรื่องการตลาดไปกระตุ้น แต่ถ้าพวกเราช่วยกันเรียกร้องตรงนี้ เขาจะปรับตัวได้ ส่วนเรื่องของการออกแบบดีไซน์ก็เป็นโอกาสของเด็กรุ่นใหม่ อย่างแบรนด์ขวัญตา ซึ่งเป็นแบรนด์ผ้าไทย ที่สามารถพาชุดผ้าไทยไปอวดโฉมถึงแฟชั่นวีกลอนดอน ประเทศอังกฤษ”

อีกส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาวงการผ้าไทยกับพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมกลุ่มโอท็อปในจังหวัดต่างๆ อาทิ นครศรีธรรมราช ลำพูน

“การเสด็จไปแต่ละครั้งพระองค์จะพระราชทานคำแนะนำต่างๆ เช่น การปรับสี การปรับลาย ซึ่งพ่อครูแม่ครู หรือลูกศิษย์ คนรุ่นใหม่ ก็สามารถพัฒนาได้ ผมว่าอนาคตขีดจำกัดเรื่องของแบบไม่ถูกใจจะลดลง”

และข่าวดีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอยากสืบสาน รักษา ต่อยอด “ผ้าไทย” อธิบดี พช.กล่าวว่า กรมมีความยินดีที่จะช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ให้ผู้ที่สนใจ แต่ขอคนที่ตั้งใจจริง ติดต่อได้ที่กรมการพัฒนาชุมชน หรือตัวแทนที่มีอยู่ทุกตำบล ทุกอำเภอ

ขยายสู่จังหวัดที่ 77

ดร.วันดีกล่าวว่า กระแสการตอบรับโครงการเป็นไปอย่างดียิ่ง สภาสตรีฯจึงได้ทำเรื่องขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านมอบหมายให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับทราบข้อเสนอ

“ดร.วิษณุ มีไอเดียว่าอยากให้ขยายไปจังหวัดที่ 77 คือกรุงเทพฯ ซึ่งท่านประสานกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อให้เจ้าหน้าที่ 34 เขตเป็นแบบอย่างของการสวมใส่ผ้าไทย”

ต่อลมหายใจผ้าไทยสู่ชุมชนยั่งยืน

แม้กระแสตอบรับดี แต่นายสุทธิพงษ์ยังบอกว่า “พอใจในระดับหนึ่ง” เพราะยังอยากเห็นภาพรวมของประเทศที่เข้มแข็งและเข้มข้นมากกว่านี้ ด้วยอยากเห็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทุกคน ช่วยกันสวมใส่ผ้าไทยให้มากกว่าวันประชุม ครม. เช่น ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือคนที่มีสถานะทางสังคมให้ทุกจังหวัดเกิดความมั่นใจ

“หน่วยราชการต่างๆ เวลาเชิญประชุมทำไมต้องระบุว่าสวมสูท สวมชุดสากล ทำไมไม่ระบุว่าชุดสากลสุภาพ หรือชุดผ้าไทย หรือทำไมไม่กำหนดว่าผ้าไทยไปเลย เป้าหมายสำคัญที่เราคิดว่าจะทำให้สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้คนหันมาสวมใส่ผ้าไทยอย่างจริงจัง ท่านผู้นำต้องช่วย เราถึงไปหาผู้ว่าฯทุกจังหวัด ไปหาผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ เพื่อสืบสานลมหายใจของผ้าไทยที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงต่อลมหายใจมาให้เรา และสนองพระราชดำรัสที่ไพเราะจับใจคนทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ว่า พระองค์จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นจริงขึ้นมาในเรื่องของผ้าไทย”

ดร.วันดีกล่าวทิ้งท้ายว่า ความหวังของโครงการนี้ที่มุ่งมั่นเดิมทีก่อนมีโควิด-19 เราอยากให้คนทั้งประเทศมาร่วมกันใส่ผ้าไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้

“พอเกิดวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่อยากขอกราบวิงวอน เชิญชวน พวกเราจะมีชีวิตรอด และจะสามารถกลับมายืน และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งจิตใจและรายได้ อย่างเดียวคือ เราต้องนิยมไทย เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเราให้กลับมาได้เร็ว วิงวอนคนไทยทั่วประเทศ ขอเพียงร่วมกันใส่ผ้าไทยทุกวัน ขอให้คิดว่าเราใส่ผ้าไทย 1 ผืน ช่วยเศรษฐกิจของไทยด้วยเงินทุกบาทที่เราจ่ายไป ฉะนั้น การสนับสนุนการใส่ผ้าไทย ไม่เพียงสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมของบรรพบุรุษ แต่ยังต่อยอดชีวิตไปอีกหลายๆ ชีวิต ที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน” ดร.วันดีทิ้งท้าย และอธิบดี พช.กล่าวเสริมว่า

“เราอยากเห็นลมหายใจของผ้าไทย ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงช่วยต่ออายุให้จนมีลมหายใจที่แข็งแรงในวันนี้ ให้มีลมหายใจที่อยู่คู่กับแผ่นดินไทยตลอดไป”

ร่วมกันสืบสาน อนุรักษ์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน