10 อันดับการค้นพบทางโบราณคดีประจำปี 2016 โดย นิตยสาร Archaeology

ปีนี้ข่าวสารทางโบราณคดีมีเรื่องที่น่าสนใจอยู่มากมาย แต่หลายข่าวก็เหมือนเป็นการสร้างกระแสทยอยสร้างข่าว แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับไม่มีอะไรในกอไผ่ เหมือนข่าวการพบห้องลับในสุสานตุตันคามุนที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ติดตามข่าวสารโบราณคดีอย่างมาก แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป

อย่างไรก็ดี เรื่องทางโบราณคดีที่เข้าข่ายเป็นการค้นพบจริงๆ ก็ยังมีอีกหลายเรื่อง ซึ่งทางนิตยสารที่เก่าแก่ของสหรัฐฯ อย่าง Archaeology ก็ได้จัดอันดับ 10 การค้นพบแห่งปี 2016 อันประกอบด้วย…

1. พบจารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบในกรุงลอนดอน

จารึกที่พบในครั้งนี้เป็นแผ่นไม้ของชาวโรมันในกรุงลอนดอน หรือ ลอนดินิอุม (Londinium) ตามสำเนียงของชาวโรมัน ซึ่งวิธีการเขียนจะใช้ขี้ผึ้งทาบนแผ่นไม้แล้วใช้เหล็กแหลมจารึกตัวอักษรลงไป และด้วยความที่มันทำจากไม้ทำให้หลักฐานที่จะหลงเหลือมาถึงปัจจุบันมีค่อนข้างน้อย แต่ความโชคดีที่พื้นที่ที่พบในครั้งนี้ ซึ่งจะใช้ก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Bloomberg ในยุโรป เป็นดินโคลนซึ่งปราศจากออกซิเจนทำให้ช่วยรักษาสภาพของแท่งจารึกกว่า 400 ชิ้น ซึ่งมีอายุเกือบ 2,000 ปี เอาไว้ได้

2. ความกว้างขวางของอาณาจักรพระนครหรืออังกอร์

การใช้เทคโนโลยีการสแกนด้วยเลเซอร์ทางอากาศหรือ Lidar เหนือพื้นที่ป่ากว่า 900 ตารางกิโลเมตรในเสียมเรียบ รอบที่ตั้งของปราสาทนครวัด ทำให้นักวิจัยพบร่องรอยของเมืองเก่าอายุหลายร้อยปีหลายแห่งรอบๆ ปราสาทหินแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบผังเมืองรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และลำคลองมากมายที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ และยังพบเนินดินปริศนาจำนวนมากที่รายล้อมปราสาทในยุคศตวรรษที่ 11 และ 12 หลายๆ แห่ง

3. การเปลี่ยนแปลงการปกครองในเอเธนส์

นักโบราณคดีได้พบสุสานขนาดใหญ่ 2 แห่งใกล้กับกรุงเอเธนส์ พบมีโครงกระดูกมนุษย์ราว 80 ราย 36 รายอยู่ในสภาพถูกล่ามด้วยโซ่ ซึ่งคาดว่าจะมีอายุย้อนไปถึงยุคศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ช่วงเวลาสำคัญที่เอเธนส์กำลังตกอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมือง เมื่อเกิดกลุ่มคนเห็นว่า การปกครองโดยกลุ่มอภิชนถึงเวลาที่จะต้องถูกแทนที่ด้วยการปกครองแบบรวมศูนย์โดยมีผู้ถืออำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว แต่ความพยายามของพวกเขาล้มเหลว และซากศพเหล่านี้ก็น่าจะเป็นร่างของเหล่ากบฏที่ต้องการนำระบอบใหม่มาใช้กับเอเธนส์นั่นเอง

4. เสื้อผ้าที่เก่าแก่ที่สุด

เสื้อผ้าชุดที่ว่านี้ถูกพบตั้งแต่ปี 1913 (พ.ศ. 2456) ถูกเรียกกันว่า “ชุดตาร์คาร์น” (Tarkhan Dress) ตามชื่อเมืองที่พบในอียิปต์ และด้วยเทคโนโลยีตรวจวัดอายุที่ทันสมัยที่สุดก็ทำให้เรารู้ว่า ชุดที่เจอเมื่อร้อยปีก่อนมีอายุย้อนกลับไปถึงช่วง 3482-3103 ปีก่อนคริสตกาล หรือมีอายุกว่า 5 พันปีทำให้มันกลายเป็นเสื้อผ้าทอที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมา

5. มนุษย์ถ้ำยุคแรก อายุเกือบ 2 แสนปี

ก่อนหน้านี้ นักโบราณคดีได้ตรวจสอบถ้ำบรูนิเกล (Bruniquel) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส และพบกับโครงสร้างรูปวงแหวนจำนวนมากที่ทำจากหินงอกหินย้อยที่แตกหัก พร้อมกับซากกระดูกหมีที่มีร่องรอยถูกเผาซึ่งสามารถวัดอายุได้ราว 47,000 ปี แต่ปีนี้นักวิจัยได้ใช้วิธีการตรวจอายุด้วยสารยูเรเนียม-ธอเรียมกับโครงสร้างหินย้อยและเศษซากอนุภาคที่เกาะตัวบนโครงสร้างเหล่านี้จึงได้พบว่าพวกมันน่าจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ 176,000 ปีก่อน ด้วยฝีมือของมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล (เนื่องจากเป็นมนุษย์กลุ่มเดียวที่อาศัยในบริเวณนั้นเมื่อยุคเวลาดังกล่าว)

6. สถานะของผู้หญิงในเปรู

บทบาทของผู้หญิงในสังคมโบราณได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในแวดวงวิชาการ และในเปรู นักโบราณคดีก็ได้พบหลักฐานการมีสถานะที่สูงส่งของสตรีในสังคมโบราณเช่นกัน ณ แหล่งโบราณคดีที่เมืองเอสเปโร (Áspero) ที่มีการค้นพบโครงกระดูกผู้หญิงตกแต่งด้วยเปลือกหอยหนาม (Spondylus) ซึ่งมีถิ่นฐานห่างจากสถานที่พบโครงกระดูกหลายร้อยไมล์ และยังพบเครื่องประดับทำจากกระดูกลิงและนกจากแอมะซอน บ่งบอกสถานะพิเศษของสตรีรายนี้ได้เป็นอย่างดี โดยคาดกันว่าเธอจะมีชีวิตอยู่เมื่อราว 4,600 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคเริ่มแรกของอารยธรรมที่รู้จักการหาปลาและทำไร่ในเปรู

7. การทำสงครามของมนุษย์เมื่อ 10,000 ปีก่อน

การใช้ความรุนแรงแบบรวมหมู่มักจะเกิดจากการแย่งชิงที่ดินหรือทรัพยากรอื่นๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่ความจริงเสมอไป เพราะเมื่อ 10,000 ปีก่อน สังคมแบบล่าสัตว์หาของป่า คนจากกลุ่มสังคมต่างถิ่นกัน ก็สามารถหาเรื่องขัดแย้งมาฆ่าแกงกันได้ หลักฐานดังกล่าวคือซากโครงกระดูกมนุษย์ 27 รายที่พบบริเวณทะเลสาบเตอร์กานา (Turkana) ซึ่งมิได้อยู่ในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานและไม่พบสิ่งของมีค่าใดๆ พบเพียงแต่เพียงโครงกระดูกพร้อมร่องรอยการถูกทำร้ายด้วยไม้ และลูกธนูซึ่งทำจากหินภูเขาไฟที่พบห่างออกไป ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ลงมือทำร้ายเป็นคนต่างถิ่น และเป็นอีกเครื่องยืนยันว่า มนุษย์พร้อมที่จะใช้กำลังต่อสู้เพื่อสิ่งที่ต้องการเสมอ และการรวมกลุ่มก็ทำให้เกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรมซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การสู้รบได้เช่นกัน

8. จุดนัดพบทางจิตวิญญาณที่เปอร์โตริโก

เกาะโมนา (Mona) ของเปอร์โตริโก เป็นถิ่นของชนพื้นเมืองที่ชื่อว่าชาวไทโน (Taino) ซึ่งในถ้ำต่างๆ จะเห็นภาพเขียนผนังถ้ำของเหล่าภูติผีเทวดาที่พวกเขานับถืออยู่ทั่วไป แต่ล่าสุดนักโบราณคดีจากบริติชมิวเซียมยังได้พบหลักฐานการสลักลวดลายข้อความของชาวสเปนยุคศตวรรษที่ 16 ปะปนอยู่ด้วย มีทั้งข้อความอ้างอิงจากไบเบิล หรือไม้กางเขน และลายเซ็นของผู้จารึก โดยนักโบราณคดีกล่าวว่า รอยจารึกของชาวสเปนมิได้ไปทับภาพเดิมของชนพื้นเมือง จึงเหมือนกับการสื่อสารระหว่างสองกลุ่มความเชื่อนั่นเอง

9. มนุษย์แอนติกิเธรา

ซากเรือล่มแห่งแอนติกิเธรา (Antikythera shipwreck) ซึ่งมีอายุราว 65 ปีก่อนคริสตกาล เป็นหนึ่งในซากเรือที่ใหญ่ที่สุด มีทรัพย์สมบัติมากที่สุด และยังเป็นจุดเรือล่มที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ณ จุดนี้มีการค้นพบโบราณวัตถุสำคัญๆ มากมายรวมถึง “เครื่องจักรแห่งแอนติกิเธรา” ซึ่งมักกล่าวกันว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แต่การค้นพบที่สำคัญที่สุดที่เจอในปีนี้ก็คือร่างของผู้เสียชีวิตซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก โดยร่างเหล่านี้น่าจะเป็นของชายฉกรรจ์ ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยหาคำตอบได้ว่า เหล่านักล่องทะเลเหล่านี้มีรากเหง้ามาจากที่ไหน

10. ลานประหารที่สาบสูญแห่งซาเลม

การล่าแม่มดแห่งซาเลมซึ่งมีการไต่สวนขึ้นในช่วงปี 1692-1693 (พ.ศ. 2235-2236) มีเอกสารร่วมสมัยที่กล่าวถึงอยู่นับพันชิ้น แต่ไม่มีเอกสารชิ้นใดที่กล่าวถึงสถานที่ประหารของนักโทษ 19 รายเอาไว้เลย สถานที่ดังกล่าวถูกคาดกันว่าน่าจะเป็นที่ไหนสักแห่งในบริเวณใกล้กับกัลโลว์ฮิลล์ (Gallow Hill) ซึ่งถูกหลงลืมกันไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ก่อนที่ซิดนีย์ เพอร์เลย์ (Sidney Perley) นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 จะออกมาบอกว่าสถานที่ดังกล่าวน่าจะเป็นพรอคเตอร์’สเลดจ์ (Proctor’s Ledge) ซึ่งเป็นแนวหินบริเวณเชิงเนินเขากัลโลว์ฮิลล์ และการวิเคราะห์หลักฐานล่าสุดในปีนี้ซึ่งอาศัยคำให้การที่ถูกละเลยพร้อมกับการวิเคราะห์สถานที่ที่จะสามารถเห็นได้จากจุดใดจุดหนึ่ง หรือ “viewshed analysis” ก็ช่วยยืนยันได้ว่าข้อสันนิษฐานของ เพอร์เลย์ ถูกต้อง


ที่มา: http://www.archaeology.org/issues/240-1701/features/5125-top-10-archaeological-discoveries-of-2016