พบบังเกอร์ลับในสกอตแลนด์ เป็นฐานกองโจรที่ “เชอร์ชิล” ตั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพประกอบเนื้อหา - บังเกอร์ในป่า

นักวิจัยจากหน่วยงานด้านป่าไม้และที่ดินแห่งสกอตแลนด์ค้นพบบังเกอร์ลับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบังเอิญระหว่างทำภารกิจตัดต้นไม้แถบชายแดนสกอตแลนด์ แถลงการณ์จากหน่วยงานต้นสังกัดที่ค้นพบระบุว่า บังเกอร์แห่งนี้ถูกสร้างเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับหน่วยกองหนุนป้องกันดินแดนซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อหน่วย “Auxiliary Unit” ริเริ่มโดยวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษเพื่อปกป้องดินแดนสหราชอาณาจักรหากเกิดการโจมตีขึ้น

คลิกชมภาพบังเกอร์และภาพแสกนพื้นที่จริงที่นี่

หน่วย Auxiliary Units เป็นหน่วยลับที่ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ เดิมทีแล้วพวกเขาเป็นคนทำงานในท้องถิ่น ริเริ่มก่อตั้งโดยคณะรัฐมนตรีในยามสงครามซึ่งมีวินสตัน เชอร์ชิล เป็นผู้นำ ตั้งขึ้นสำหรับการสงครามนอกรูปแบบเพื่อต่อต้านนาซีและปกป้องดินแดนหากกองทัพนาซีเยอรมันรุกเข้าดินแดนสหราชอาณาจักร หน่วยนี้เป็นที่รู้จักอีกชื่อว่า “scallywags” สะท้อนบทบาทการทำงานของพวกเขาที่ทำภารกิจลับ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือขัดขวางการติดต่อสื่อสารของฝ่ายตรงข้าม

หากกล่าวโดยง่าย หน่วยลับนี้เป็นหน่วยป้องกันตนเองที่มาจากการอาสา แต่พวกเขาไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันดินแดนที่ถูกบุกรุกในสงคราม แต่เป้าหมายหลักคือการขัดขวางรบกวนศัตรูด้วยปฏิบัติการทำลายล้างขั้นรุนแรงหากฝ่ายป้องกันรักษาดินแดนไม่สามารถรับมือได้แล้ว

แถลงการณ์ของหน่วยงานต้นสังกัดที่ค้นพบบังเกอร์นี้ถึงกับระบุว่า อายุขัยของสมาชิกหน่วยถูกคาดเอาไว้ว่าไม่น่าจะเกิน 12 วัน เนื่องจากพวกเขาต้องปฏิบัติการที่อันตรายมาก และลักษณะคำสั่งลงมือซึ่งสามารถตีความได้ว่าให้ “สู้จนตัวตาย” เมื่อสมาชิกหมดหน้าที่ลง หลายรายเข้าร่วมหน่วยรบพิเศษ SAS หรือหน่วยสงครามพิเศษอื่นๆ เอกสารบันทึกอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยนี้จึงแทบไม่ปรากฏสู่สาธารณะ มีเพียงคำให้สัมภาษณ์ของบุคคลที่อ้างว่าเป็นอดีตสมาชิกของหน่วยลับนี้ที่มักพูดคุยกับสื่อในช่วงหลายปีที่ผ่านมาให้คนทั่วไปได้อ่านเท่านั้น

แถลงการณ์ของหน่วยงานด้านป่าไม้และที่ดินแห่งสกอตแลนด์ยังอธิบายว่า “หน่วยนี้ค่อนข้างเป็นการลับ และอันตรายกว่ากองโจรที่ปรากฏในสื่อแนวตลกขบขัน” พร้อมระบุว่า การค้นพบทางโบราณคดีนี้มีแนวโน้มส่งผลต่อการศึกษาปฏิบัติการลับในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะหน่วยที่มักถูกมองว่าเป็น “หน่วยงานลับของเชอร์ชิล”

แม็ตต์ ริตชี (Matt Ritchie) นักโบราณคดีของหน่วยงานป่าไม้และที่ดินแห่งสกอตแลนด์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น แสดงความคิดเห็นว่า การค้นพบบังเกอร์นี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะจุดที่ตั้งของมันถูกปิดเป็นความลับ ส่วนใหญ่ก็ถูกกลบฝังหรือไม่ก็หายสาบสูญไปแล้ว ขณะที่รายงานข่าวจากสำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยว่า ในช่วงสงคราม หน่วยลับนี้น่าจะขุดบังเกอร์ราว 500 แห่งทั่วบริเทน บังเกอร์เหล่านี้มักเก็บอาวุธและเสบียงสำหรับยังชีพได้ 5 สัปดาห์ และถูกออกแบบให้รองรับคนอาศัยในเวลาเดียวกันได้อย่างน้อย 7 ราย

แม็ตต์ ยังเผยว่า ปกติแล้วบังเกอร์จะเป็นที่เก็บอาวุธเช่นปืนพก ปืนกล และไรเฟิล จนถึงระเบิดพลาสติกที่เรียกกันว่า Nobel 808 พร้อมอุปกรณ์จุดระเบิดและสวิตช์แรงดัน ขณะที่บังเกอร์ที่ค้นพบนี้มีโครงสร้างแบบมาตรฐาน เข้าผ่านประตูเล็กๆ สุดทางเดิน และทางออกอยู่สุดทาง ทั้งสองฝั่งมีการสร้างแบบผนังกันแรงระเบิด (เว้นระยะห่างระหว่างพื้นที่บังเกอร์กับทางเข้า) เพื่อป้องกันระเบิดมือ ขณะที่พื้นทำจากซีเมนต์ ผนังใช้สังกะสีตอกเหล็กเข้าเป็นทรงโค้ง ขนาดโดยรวมยาว 7 เมตร กว้าง 3 เมตร สภาพที่พบไม่หลงเหลือหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับเครื่องใช้ในบังเกอร์ ยกเว้นแค่ท่อนไม้หักบนพื้นซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของเตียงไม้

แน่นอนว่า หลังสงครามจบลง ผู้ที่รู้เรื่องการขุดบังเกอร์ย่อมต้องถูกจับเซ็นสัญญาการรักษาความลับ ดังนั้น จุดที่ตั้งของบังเกอร์เหล่านี้จึงไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน ขณะที่การค้นพบครั้งล่าสุด แถลงการณ์เผยว่า เป็นคิต ร็อดเจอร์ (Kit Rodger) ฝ่ายเทคนิกสำหรับการสำรวจที่มีพื้นเพมาจากทางตอนใต้ และเคนนีย์ โบเกิล (Kenny Bogle) เพื่อนร่วมงานที่ค้นพบทางเข้าบังเกอร์ระหว่างตรวจสอบสภาพแวดล้อมโดยรอบก่อนหน้าการตัดไม้

“บังเกอร์นี้ไม่ปรากฏในฐานข้อมูลของเรา แต่ตอนเด็กๆ เราเคยวิ่งเล่นในป่านี้และพบบังเกอร์ ผมจึงรู้ว่ามันอยู่ที่นั่น แต่เราจำได้แบบลางๆ จากความทรงจำเมื่อกว่า 40 ปีก่อน เคนนีย์ และผมกำลังหาต้นเฟิร์นแล้วเราก็เหยียบร่องเข้า ซึ่งมันนำเราไปสู่ประตูบังเกอร์ มีทางเข้าเล็กๆ เหลืออยู่เท่านั้น…” ร็อดเจอร์ เล่าการค้นพบของเขาในแถลงการณ์

แถลงการณ์ระบุว่า เนื่องด้วยสถานะของบังเกอร์ที่หายากและมีความสำคัญในการศึกษาจึงไม่ได้เปิดให้ชม แต่ยังเสริมว่า ลักษณะพื้นที่ซึ่งอยู่ใต้ดินเหมาะกับเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับค้างคาว หน่วยงานจึงตั้งกล่องสำหรับค้างคาวเกาะนอนไว้ด้วย


อ้างอิง:

https://forestryandland.gov.scot/blog/ww2-bunker-rediscovered


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2563