เปิดวิถีลูกหลานจีนโพ้นทะเล คืนส่งท้ายปีเก่า เริ่มปีใหม่ห้วงตรุษจีน จากอั่งเปาถึงงานวัด

ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มี 4 ฤดูกาลแตกต่างชัดเจน ส่งผลต่อวิถีชีวิตและธรรมเนียมปฏิบัติที่หลากหลายในแต่ละช่วงของปี แต่ไม่มีช่วงเวลาใดที่จะสำคัญเท่ากับ “จุดเริ่มต้น” ของปีอย่างเช่นตอนนี้อีกแล้ว…วันแรกของฤดูใบไม้ผลิ

ภาวะลี่ชุน สัญญาณแห่งชีวิต

ดวงอาทิตย์ สภาพอากาศ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็น สิ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อกิจกรรมการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีการดำรงชีวิตแบบแรกเริ่มดั้งเดิมตั้งแต่มนุษย์เริ่มหยุดเร่ร่อนเพื่อตั้งหลักแหล่งถาวร คนจีนโบราณสังเกตุการเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ของสามสิ่งนี้ที่มีผลต่อตัวเองและสิ่งรอบกายอย่างจริงจัง จดบันทึก ศึกษา พิสูจน์วัฏจักรโดยใช้เวลาหลายรอบปี จนตกผลึกเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “24 ภาวะ ในที่สุด (二十四节气 /24 Solar Termsโดยการกำหนดให้ ปี มี 24 ภาวะ ตั้งชื่อเรียกตามลักษณะเด่นของแต่ละภาวะ

Advertisement

ภาวะแรกเริ่มตั้งแต่วันแรกของการเข้าสู่วัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงในรอบหนึ่งปี นั่นคือ การก้าวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ อันหมายถึงความหนาวเหน็บได้ผ่านไป สิ้นสุดการต่อสู้หรือหลบซ่อนความโหดร้ายของอากาศอันเย็นยะเยือกหรือหิมะที่ปกคลุมจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพื่อก้าวเข้าสู่ฤดูแห่งการเกิดและเติบโต เป็นช่วงเวลาแห่งความหวังและความสุข เป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณแห่งชีวิต จุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่ง

ภาวะ ลี่ชุน (立春/The Beginning of Spring) คนจีนโบราณยึดเอาภาวะลี่ชุนเป็นฤดูเริ่มต้นทำเกษตรกรรมและเพาะปลูก ช่วงแห่งการเข้าสู่ภาวะลี่ชุนจะมีการบูชาเทพเจ้า ฟ้าดิน บรรพบุรุษ วิญญาณเร่รอน มีการเซ่นไหว้ขอผลผลิตทางการเกษตรสมบูรณ์ ขอโชคลาภขอพรขอให้สมหวังสมปรารถนา ขจัดสิ่งชั่วร้ายหวังปัดเป่าเภทภัย

ภายหลังการสังคายนาและปฏิรูประบบการนับวันเดือนและระบบปฏิทินในสมัยฮั่น ได้กำหนดการนับวันแรกของปีให้สอดคล้องกันทั้งภูมิภาค โดยวันแรกของเดือนแรกของปีใหม่ตามปฏิทินจีน (ที่เรียกกันอย่างติดปากว่าวันขึ้นปีใหม่จีนหรือวันตรุษจีน) จะตกอยู่ในช่วงก่อนหรือหลังภาวะลี่ชุนนี้ เมื่อสองสิ่งไม่ได้ถูกยึดโยงเข้าด้วยกัน ประกอบกับสภาพแวดล้อม ความรู้และภูมิปัญญาที่ส่งเสริมให้วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง เกิดการไหลและหลอมรวมของขนบธรรมเนียมวิธีปฏิบัติของต่างภูมิภาคภายในประเทศหรือวัฒนธรรมที่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิงจากภายนอกประเทศ

ชื่อของ “ภาวะลี่ชุน” ถอยกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงชื่อของหนึ่งใน 24 ภาวะของปี ความสำคัญของการฉลอง “การมาถึงของภาวะลี่ชุน” นับวันก็ถูกแทนที่ด้วยการเฉลิมฉลอง “วันแรกของเดือนแรกของปีใหม่” กันอย่างแพร่หลายไปทั่วผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของประเทศจีน

ในวันขึ้นปีใหม่จีนนี้นอกจากจะมีการบูชาเทพเจ้า ไหว้บรรพบุรุษญาติที่ล่วงลับรวมถึงวิญญาณไร้ญาติ (คนจีนมีคำเรียกอย่างให้เกียรติว่าวิญญาณพี่น้อง) ดังที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณแล้ว ยังมีการสังสรรรื่นเริงบอกลาปีเก่า เตรียมตัวต้อนรับปีใหม่ในทุกภาคส่วนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงประชาชนทั่วไป จนทำให้การเตรียมตัวเข้าสู่ปีใหม่ และการเฉลิมฉลองวินาทีแรกแห่งการก้าวเข้าสู่ปีใหม่นี้ เป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวจีนในประเทศจีนและชาวจีนโพ้นทะเลรวมถึงลูกหลานของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วทุกมุมโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

คืนส่งท้ายปีเก่า จุดเริ่มต้นปีใหม่

ในประเทศจีน การเตรียมตัวต้อนรับปีใหม่ เริ่มตั้งแต่ราวกลางเดือนสุดท้ายของปฏิทินจีน บางครอบครัวจะเริ่มเร็วกว่านั้นก็เป็นได้สำหรับครอบครัวขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ด้วยกันหรือใกล้เคียงกัน ทุกคนคาดหวังจะใช้ช่วงเวลานี้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน งานได้เริ่มต้นโดยสมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมตามแต่จะสามารถ มีการสะสางงานเก่างานค้าง ทำความสะอาดบ้านเรือนอย่างจริงจังเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปัดเอาโชคร้ายของไม่ดีออกไป ซ่อมแซมจุดที่เก่าเสียซีด ตกแต่งประตูหน้าต่างด้วยอักษรมงคลและสีแดงจัดจ้านสื่อถึงความมงคล เตรียมของสำหรับพิธีบูชาและเซ่นไหว้ เตรียมข้าวของเครื่องใช้สอยและอาหารการกิน สิ่งบันเทิงมหรสพต่าง ๆ เพื่อใช้ในคืนเฉลิมฉลอง รวมถึงของขวัญเล็กน้อยเพื่อแสดงน้ำใจไมตรีแก่ญาติมิตรและเพื่อนบ้านใกล้เคียง ผู้คนท้าความหนาวเหน็บที่เริ่มจะบรรเทาความเหี้ยมโหดลง ออกจับจ่ายใช้สอย ตลาดห้างร้านถนนหนทางและบรรยากาศโดยทั่วไปกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ทุกคนให้ความสำคัญกับการมาถึงของปีใหม่นี้อย่างมาก โดยประเทศจีนกำหนดให้เป็นวันหยุดยาวราว 5-7 วัน ในปีนี้กำหนดหยุดตั้งแต่สถาบันการศึกษาก็กำหนดให้การปิดภาคเรียนฤดูหนาวครอบคลุมช่วงเวลานี้ไปด้วย บริษัทห้างร้านองค์กรต่าง ๆ ก็ตอบรับนโยบายกำหนดให้หยุดกิจการในช่วงนี้ แต่ยังคงมีบางหน่วยงานและสายงานที่จำเป็นต้องดำเนินกิจการและปฏิบัติหน้าที่ เช่นหน่วยงานเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัยและเหตุฉุกเฉิน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เป็นต้น

คืนก่อนวันขึ้นปีใหม่จีน คือค่ำคืนแห่งการเปลี่ยนผ่าน วินาทีแห่งการอำลาปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่อย่างแท้จริง ภายหลังจากการเตรียมความพร้อม สมาชิกของครอบครัวที่ออกจากบ้านเกิดไปเรียนหรือทำงานในส่วนอื่น ๆ ของประเทศ ต่างพยายามที่จะกลับบ้านเกิดให้ทันค่ำคืนนี้เพื่อมาอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว

ในปี ค.ศ. 1980 หนังสือพิมพ์ประชาชนจีน (People’s Daily) นำเสนอปรากฏการณ์ความหนาแน่นของการคมนาคมที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงก่อนและหลังวันขึ้นปีใหม่จีน (春运/Transportation around Chinese New Year) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศจีน ชาวจีนจำนวนมหาศาลที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศพยายามซื้อตั๋วรถไฟเพื่อกลับบ้านเกิดตนเอง

ความพยายามกลายเป็นแรงกดดันให้รัฐต้องออกมาตรการพิเศษเพื่อดูแลการเดินรถไฟในช่วงนี้โดยเฉพาะ มีการวางแผนเส้นทางการเดินรถไฟและการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคม การกำหนดวันจำหน่ายบัตรโดยสาร การคำนวณจำนวนรอบ ขีดการรองรับและความสามารถในการให้บริการให้เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของประชากร

ในปี ค.ศ. 2020 การจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟเพื่อช่วงขึ้นปีใหม่จีนนี้ เริ่มวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2019 การให้บริการรถไฟช่วงขึ้นปีใหม่จีนนี้เริ่มเที่ยวแรกในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 2020 และสิ้นสุดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 รวมระยะเวลา 40 วัน

การกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันกับสมาชิกในครอบครัว หลักจากที่บางคนจำต้องห่างไกลไป เป็นสิ่งที่ชาวจีนส่วนใหญ่รอคอยและปรารถนา ช่วงเวลาที่จะได้หยุดพักจากการทำงานเหน็ดเหนื่อยมาตลอดปี ช่วงเวลาต่อจากนี้อีกเกือบสัปดาห์ถือเป็นรางวัลเป็นสวรรค์แห่งชีวิตในหนึ่งปีอย่างแท้จริง มื้ออาหารค่ำในคืนส่งท้ายปีจะเพรียบพร้อมไปด้วยอาหารที่ไม่เพียงมีรสอันโอชาปรุงให้ถูกปากชาวจีนในแต่ละท้องถิ่นแล้ว ยังมีความหมายมงคลแฝงอยู่ด้วย

สมาชิกในครอบครัวพร้อมหน้ากันบรรยากาศเต็มไปด้วยความสบายไร้กังวล เป็นกันเองไม่เคร่งเครียดดั่งเช่นตอนทำงาน ช่วงเวลานี้เกือบจะทุกครัวเรือนต่างรับชมรายการกาล่าส่งท้ายปีเก่า (春晚/CCTV Spring Festival Gala Evening) ซึ่งเป็นรายการบันเทิงหลากรูปแบบที่จัดโดยสถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ที่เริ่มต้นเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1983 ต่อเนื่องทุกปี มีการปรับรูปแบบรายการแสดงไม่เป็นเพียงรายการบันเทิง แต่เพิ่มเนื้อหาที่เตือนสติและสอนใจ ตามด้วยการนับถอยหลังและจุดประทัดเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ไปทั่วบริเวณ

ผู้เขียนได้ใช้ชีวิตในกรุงปักกิ่งและได้เห็นการเตรียมงานเพื่อเฉลิมฉลองวินาทีส่งท้ายปีเก่าหลายครั้ง และได้รับชมกิจกรรมการเฉลิมฉลองผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในค่ำคืนที่มีความหมายนี้ ได้เห็นความพยายามที่จะรักษาวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไปพร้อมกับการใส่ความหมายปรับเนื้อหาให้เหมาะกับยุคสมัยอยู่เสมอ เช่นการจุดประทัดเป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ แต่เนื่องจากส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีการประกาศจำกัดการขาย จำกัดพื้นที่ที่ให้จุดประทัดได้เพื่อควบคุมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการประนีประนอมและปรับตัวให้วัฒนธรรมยังคงชีวิตและสานต่อได้

อีกสี่ถึงห้าวันตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ปีใหม่จีน เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนของชาวจีนอย่างแท้จริง นอกจากการเดินสายสวัสดีญาติสนิทมิตรสหาย แจกเงินของขวัญในซองแดง “อั่งเปา” แล้วบางคนจะใช้เวลาอยู่แต่กับบ้านกินอาหารอร่อย ดูโทรทัศน์พักผ่อนพูดคุยเล่นกับสมาชิกในครอบครัววนไปอย่างนั้นจนหมดวันหยุดยาว น้ำหนักขึ้นในช่วงเวลานี้จึงเป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมาย บางครอบครัวก็เดินทางท่องเที่ยวใกล้ไกลถึงแม้จะต้องเบียดเสียดกับผู้คนมากมาย แต่ก็เป็นการได้ใช้เวลากับครอบครัวซึ่งโอกาสไม่ได้มีง่าย ๆ ในหนึ่งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ทำมาหากินห่างไกลจากบ้านเกิด

อีกหนึ่งกิจกรรมยอดนิยมในช่วงวันหยุดยาวนี้คือการเที่ยว “งานวัด”  (庙会/Temple Fair) ซึ่งมักจัดตั้งแต่วันสิ้นท้ายปี หรือวันขึ้นปีใหม่จีนยาวไปถึงวันที่ 5 หรือ วันที่ 7 ของปีใหม่จีน ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปเที่ยวงานลักษณะดังกล่าวในกรุงปักกิ่งเมื่อปี ค.ศ. 2017 เป็นงานวัดที่ไม่ได้จัดในเขตวัดอย่างไทย เพราะที่ทางไม่อำนวย แต่จัดที่สวนสาธารณะตี้ถาน (地坛公园/Ditan Park) เพราะรองรับคนได้มากกว่า ซึ่งจัดครั้งแรกปี ค.ศ. 1985 จากที่เคยไม่เก็บค่าเข้าก็เปลี่ยนมาเก็บค่าเข้างาน 10 หยวนต่อคน ต่อให้ในปีนั้นปักกิ่งประสบปัญหามลพิษสูง ฟ้ามัวไม่สดใส แต่คนก็ยังออกไปเที่ยวกัน เบียดแน่นจนแทบไม่ต้องเดิน เมื่อค้นสถิติจำนวนผู้มาร่วมงานในปีก่อนหน้านั้นคือปี ค.ศ. 2016 มีประมาณ 950,000 ครั้ง (person-time)

ปีใหม่จีน วิถีลูกหลานจีนโพ้นทะเลในไทย

ผู้เขียนในฐานะที่เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่มาลงหลักปักฐานบนผืนแผ่นดินไทย และเป็นครอบครัวที่ยังคงยึดมั่นและสานต่อวัฒนธรรมของบรรพบุรุษอย่างแน่วแน่และมั่นคงไม่ต่างกับหลาย ๆ ครอบครัวลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลในไทยและทั่วโลก ถึงแม้วิถีการดำรงชีวิตจะห่างไกลจากการทำการเกษตรไปแล้ว ถึงแม้สภาพภูมิอากาศจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับประเทศจีน แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่วัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ได้ถดถอยหรือเก่าตายตามกาลเวลา หากแต่ได้ถูกปรับบริบท เพิ่มความหมาย และมีแต่จะขยายตัวกว้างออกไป จึงเป็นที่มาว่าในรอบหนึ่งปี มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและวัฒนธรรมจีนให้ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลต้องเตรียมตัวเกือบจะทุกเดือนตลอดปี

สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ หล่อหลอมเป็นความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตตั้งแต่เริ่มปีไปจนจบปี กระนั้นก็ตาม ไม่มีช่วงใดที่เหล่าลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลจะตั้งหน้าตั้งตารอคอยเช่นเวลานี้ ไม่มีเวลาใดที่จะโดดเด่นและสำคัญไปกว่าการเตรียมการมาถึงของวันแรกของเดือนแรกของปีใหม่ตามปฏิทินจีน

ในครอบครัวผู้เขียน การเตรียมงานเริ่มราวปลายเดือนสุดท้ายของปฏิทินจีน แม้จะไม่ต้องฝ่าฝันกับความหนาวแต่ก็ต้องอดทนกับอากาศร้อนชื้นเวลาออกไปจับจ่ายซื้อข้าวของต่าง ๆ ตั้งแต่ของสดของแห้งในตลาด ของกินของใช้รายการยาวเหยียด แต่ปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ด้วยการสั่งจองล่วงหน้ากับร้านค้าคุณภาพดีที่ซื้อขายกันจนคุ้นเคย นัดรับหรือส่งข้าวของก็สะดวกแค่ปลายนิ้วและเสียงผ่านโทรศัพท์ รายละเอียดสิ่งของและการเตรียมการก็ปรับให้เหมาะสมกับขนาดครอบครัว ด้วยเหตุนี้วิถีปฏิบัติจึงค่อย ๆ ออกห่างจากธรรมเนียม “วันจ่ายวันไหว้วันเที่ยว” ดังที่เคยเป็นมา

วันจ่าย (วันก่อนวันส่งท้ายปี) เป็นวันตรวจสอบรายการสิ่งของที่ต้องใช้ รับส่งข้าวของอาหารสด ขาดเหลืออะไรหรือพลาดอะไรวันนี้จะเป็นวันจัดการทุกสิ่งให้เรียบร้อยก่อนวันไหว้ส่งท้ายปี วันไหว้ (วันส่งท้ายปีหรือวันสุดท้ายของปีเก่า) คือวันที่ทำพิธีไหว้ บางบ้านนัดส่งของสดกันเช้ามืดของวันไหว้เพื่อรับประกันความสดใหม่ วันเที่ยว (วันขึ้นปีใหม่) เดินสายสวัสดีปีใหม่ญาติมิตรเพื่อนสนิท บางคนก็เริ่มพักผ่อนจริงจังหรือออกเดินทางท่องเที่ยว

ครอบครัวของผู้เขียนเป็นครอบครัวใหญ่อากงและอาม่า (ปู่และย่า) มีลูกชายหญิงรวม 12 คน เมื่อลูก ๆ สร้างครอบครัวตนเอง สมาชิกในตระกูลก็ขยายขึ้นมากจนบ้านหลักของครอบครัวที่ตั้งอยู่ที่เยาวราชตลาดเก่ารองรับไม่ไหวด้วยมีพื้นที่จำกัด ดังนั้นญาติพี่น้องจำต้องแยกย้ายกันออกไปอยู่อาศัยและจะแวะเวียนมาพบหากัน แต่เมื่อถึงช่วงเทศกาลสำคัญเป็นอันเข้าใจโดยไม่ต้องตกลงกันว่า สมาชิกทุกคนจะกลับมาที่บ้านหลักอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งวันส่งท้ายปีและวันขึ้นปีใหม่จีนเป็นวันสำคัญในรอบปีที่ผู้เขียนในวัยเยาว์ใจจดใจรอให้มาถึง

เมื่อผู้เขียนยังเด็กเกินที่จะช่วยผู้ใหญ่เตรียมข้าวของสำหรับวันไหว้ได้ วันส่งท้ายปีในช่วงเช้าจึงไม่ใช่ช่วงที่มี “ภารกิจ” สำหรับเด็ก ๆ แต่ผู้ใหญ่ในบ้านจะง่วนกับการจัดเตรียมจัดเรียงของสดของแห้ง ข้าวสวย ไข่ไก่ ไข่เป็ด ผลไม้สดหลากชนิด ขนมเทียน ขนมเข่งขนมต่าง ๆ ไข่ไก่ ไข่เป็ด น้ำดื่ม น้ำชา สุรา หมากพลู บุหรี่  กระดาษเงินกระดาษทองรังสรรเป็นรูปทรงสวยงาม เพื่อไหว้เทพเจ้า ไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง เพื่อไหว้ให้เสร็จก่อนเที่ยงวัน

แต่หากครอบครัวใดมีบ้านหลายที่ มีกิจการค้าขายก็จะจัดเตรียมข้าวของเพื่อไหว้ในทุกที่ และอาจจะต้องเสร็จหลังเที่ยงก็เป็นได้ วันนี้จึงเป็นวันแห่งการเดินสายไหว้เทพเจ้าเพื่อขอบคุณที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครองดูแลทุกคนและกิจการของครอบครัวตลอดปีที่ผ่านมา ข้าวของที่ไหว้แล้วจะแจกจ่ายแก่ญาติมิตรหรือพี่ป้าน้าอาบุคลากรในที่ทำงานเพื่อเป็นการขอบคุณที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กิจการดำเนินไปได้อย่างราบรื่นตลอดปีเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลขอบคุณและแบ่งปันความสุขอย่างแท้จริง

เนื่องด้วยวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไป สมาชิกในครอบครัวแยกย้ายกันออกไปอยู่อาศัยและมีกิจการมีธุระของตนเอง ครอบครัวของผู้เขียนจะถือเอาวันไหว้ หรือวันส่งท้ายปีเป็นวันไหว้และสวัสดีปีใหม่ไปในคราวเดียว วันนี้ญาติพี่น้องทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านตลาดเก่าเพื่อไหว้บรรพบุรุษหลังจากไหว้ที่บ้านที่ทำงานตนเองเสร็จ ดังที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า ช่วงเช้าไม่ใช่ช่วงที่มี “ภารกิจ” สำหรับเด็ก ๆ ช่วงหลังไหว้ต่างหากที่ผู้เขียนจะได้กินของอร่อยไม่อั้น ได้รับซองแดง ได้เล่นเจี๊ยวจ๊าวทั้งวัน

อ.อุษณีษ์ เมื่อครั้งเที่ยวงานวัดในเทศกาลตรุษจีน

ทว่า ก็ไม่ใช่ทุกปีที่ผู้เขียนจะได้เข้าร่วมแต่หัววัน เพราะหากปีไหนไม่ตรงกับวันหยุดของโรงเรียนก็ไม่สามารถไปร่วมได้ตั้งแต่เช้า ดังนั้น ผู้เขียนจะตื่นเต้นเป็นพิเศษหากปีไหนได้เข้าร่วมตั้งแต่เริ่มวัน ผู้เขียนและพี่น้องจะเตรียมฝึกออกเสียงคำอวยพรสำเนียงแต้จิ๋วหลายประโยคตั้งแต่คืนก่อน เมื่อได้เจอญาติผู้ใหญ่ก็จะกล่าวเสียงดังฟังชัดกึ่งจะแข่งขันเพื่ออวยพรผู้ใหญ่และรอรับซองแดงที่จะได้กลับมา พวกเราตื่นเต้นแง้มดูว่ามีเงินในซองเท่าไหร่ พี่น้องได้เท่ากันหรือเปล่า คิดไปสารพัดว่าจะเอาเงินไปซื้อขนมของเล่น ลุ้นและคิดไปกันใหญ่ถึงแม้จะรู้ว่าไม่เคยได้เอาไปทำอะไรเลย เพราะผู้ปกครองจะเป็นคนดูแลเงินนั้นให้อยู่ดี เมื่อจบวันทุกคนก็แยกย้ายกลับบ้านตนเองเพื่อพักผ่อนหรือเตรียมตัวเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุดที่เหลือ นั่นคือความทรงจำอันสนุกสนานในวัยเยาว์

เมื่อผู้เขียนโตขึ้นและได้มีโอกาสได้ช่วยผู้ใหญ่ตระเตรียมข้าวของ ได้เห็นและจัดแจงรายละเอียดทั้งหลายเพื่อเตรียมของเตรียมตัวต้อนรับวันขึ้นปีใหม่จีน จึงได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของเทศกาลการเริ่มต้นปีใหม่จีนที่มีต่อชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นปู่ย่าตายายรุ่นพ่อแม่

สำหรับผู้เขียน การได้ลงมือตระเตรียม แม้จะไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างทุกขั้นตอน แต่การได้เห็นได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาตั้งแต่จำความได้ จนถึงเมื่อโตได้มีส่วนร่วมในการเตรียมการจริง ๆ วัฏจักรเหล่านี้ก่อและหล่อหลอมความเป็นตัวตน เป็นสัญลักษณ์แห่งการเติบโตภายในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่แท้จริง เสมือนตราประทับที่แสดงรากเหง้าของบรรพบุรุษจากแดนไกล เทียบได้กับสายใยแห่งจิตวิญญาณของต้นตระกูลได้ถูกลูกหลานร้อยสานต่อแล้วและจะมั่นคงเหนี่ยวแน่นอย่างนี้ตลอดไป

สำหรับวันขึ้นปีใหม่จีนในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นอีกหนึ่งปีที่จะได้สานต่อวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ได้เห็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่จีนกระทำอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งนี้แสดงให้เห็นคนจากว่าต่างวัฒนธรรมต่างรากเหง้าก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นได้ เพียงต้องปรับให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน

ดังนั้นหลายปีที่ผ่านมารวมถึงปีนี้และต่อไปต้องคำนึงเรื่องมลพิษที่เกิดจากการเผากระดาษเงินกระดาษทองและการจุดประทัดด้วย พยายามลดหรือเปลี่ยนรูปแบบเพื่อสร้างผลกระทบให้น้อยลงทุกปี รักษาวัฒนธรรมอันดีงามโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นแนวทางที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านร่างกายแข็งแรงมีสุขสวัสดีสมหวังสมปรารถนาทั้งครอบครัว


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 24 มกราคม พ.ศ. 2563