“ดร.ไซเลอร์” กับผลงานเพื่อคนไทย สังคมไทย ประเทศไทย ขุมทรัพย์ที่ถูกลืม?

สำเนารอยพระพุทธบาท คัดลอกลงบนกระดาษสา งานศึกษาอย่างลึกซึ้งของ ดร.ไซเลอร์ (ภาพจากมติชน)

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในศาสนสถาน บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้น เราเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของผู้รังสรรค์ศิลปกรรมนั้น และสถาพสังคมสิ่งแวดล้อมซึ่งหล่อหลอมความเป็นตัวตนของเขา ภาพปราสาท พระราชวัง พระราชาในเครื่องทรงที่บ่งบอกถึงศักดิ์ของพระองค์ แวดล้อมไปด้วยข้าราชการผู้น้อย ผู้ใหญ่ ที่แต่งกายตามฐานะของตน หมอบเฝ้าอยู่รายรอบ มองลึกเข้าไปอีกก็คือ ฝ่ายใน นางในที่งดงามไปด้วยอาภรณ์และเครื่องนุ่งห่มอย่างวิจิตรงดงาม แต่ละนางก็มีอิริยาบทแตกต่างกันไป บ้างทำภารกิจของตนเอง

มิเพียงแต่ท้าวพระยามหากษัตริย์เท่านั้น ชีวิตคนสามัญภายนอกพระราชวังก็ถูกบันทึกไว้ด้วยฝีมือชั้นเลิศของผู้สร้างสรรค์ จำลองออกมาให้ปรากฏให้เห็นสังคมของชนชั้นกลางถูกบรรจงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรือนชาน สถานที่ประกอบอาชีพ วิถีชีวิตในแต่ละวันของแต่ละคนซึ่งต่างวัยกัน การแต่งกายของสามัญชนซึ่งต่างไปกับนางใน วัสดุอุปกรณ์นานัปชนิดปรากฏขึ้น รวมทั้งพาหนะและสัตว์เลี้ยง “ภาพยนตร์” แห่งชีวิตนี้ ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา เพื่อรังสรรค์ศิลปะอันล้ำเลิศของไทย บ่งบอกถึงความมีตัวตนที่ยืนอยู่ในสังคมนั้น

บางส่วนของภาพถ่ายฝีมือ ดร.ไซเลอร์นับพันใบ ที่อุทิศแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ส่วนตัวเก็บภาพศิลปกรรมที่อยู่ในวัดต่างๆ ของไทย (ภาพจากมติชน)

“ภาพยนตร์แห่งชีวิต” นี้ ก็คงหลีกเลี่ยงความไม่เที่ยงในสังสารวัฏได้ เริ่มแต่เกิด ก็คือการสร้างสรรค์ผลงาน กลางคน สถานภาพของผลงานที่จะเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายก็คือการดับ เมื่ออายุของภาพสิ้นสุดลง “ภาพยนตร์” นั้นก็จบลงเช่นกัน นั่นก็คือการรูดม่านชีวิตบทหนึ่งของสยามประเทศลงแล้ว

แต่การทั้งหมดก็คงจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อบุรุษต่างชาติผู้หนึ่งก้าวเข้ามา ศิลปะที่เลอค่าตามผนังของศาสนสถานทุกแห่งในเมืองไทยทำให้เขาถึงกับชงักงันต่อภาพที่เขาเห็น และถึงกับอุทานออกมาว่า “ในประเทศนี้เป็นอย่างไร มีของดีๆ อยู่ทั่วทุกแห่ง แต่คนไทยไม่เคยเห็นหรือรู้คุณค่าของเลย” และนี่เองเป็นแรงบันดาลใจให้ ดร. ชาวอเมริกัน วอร์เดมาร์ ซี ไซเลอร์ อุทิศแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ส่วนตัวเก็บภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่ในวัดทุกแห่งในประเทศไทย ถ่ายเป็นภาพสไลด์มีจำนวนกว่า ๔,๐๐๐ ใบ เก็บในกล่องไม้สักซึ่งแบ่งเป็นช่องๆ ๘ ใบ

ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ถ่ายภาพร่วมกับ ดร.ไซเลอร์หลังการบรรยายที่สยามสมาคม

คงไม่มีความจำเป็นที่จะกล่าวถึงความสำคัญของภาพเหล่านี้ ซึ่งถูกถ่ายด้วยกล้องที่ดีที่สุด ผู้ถ่ายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะคนสำคัญของโลก ภาพสไลด์เกือบหมื่นภาพถูกขึ้นทะเบียนและจัดเก็บอย่างมีระเบียบ  ดร.ไซเลอร์ จะเริ่มต้นเก็บภาพเหล่านี้ไว้เมื่อปี พ.ศ. ใด คงยากที่จะตอบได้ แต่น่าจะประมาณได้ว่าย้อนหลังไปกว่า ๕๐ ปี ในขณะที่ภาพเหล่านั้นยังสดใส งดงาม ไร้ฝ้าหรือมลทินใดๆ มาแผ้วพาน และที่สำคัญปราศจากการแต่งแต้ม การระบายสีสันเพิ่มเติมในสมัยหลังโดยปราศจากความรู้อย่างสิ้นเชิง

เวลาผ่านไป เมื่อกระบวนการรับรู้คุณค่าของศิลปะ วัฒนธรรม เกิดขึ้นและแพร่หลายไปในสังคม สังคมเริ่มให้ความสำคัญต่อรากเง่าของไทย ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นต้นแบบที่ยืนยงอยู่ได้ ในขณะที่ของจริงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยน้ำมือมนุษย์ และธรรมชาติ ความปรารถนาที่จะแสวงหาต้นเค้าเดิมเริ่มเกิดขึ้น นักวิชาการหลายคนสนใจที่จะเก็บภาพที่เหลือเอาไว้ แต่เวลาผ่านพ้นไปกว่า ๕๐ ปี โดยที่เขาเหล่านั้นไม่เคยรู้ต้นแบบนั้น มีอยู่ และขณะนี้เป็นสมบัติส่วนตัวของนักวิชาการคนหนึ่ง ซึ่ง ดร.ไซเลอร์ ได้มอบสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ให้แก่สตรีที่เขาชื่นชมตลอดมา

สมบัติชิ้นนี้กำลังจะเปลี่ยนเจ้าของไปสู่มหาวิทยาลัยต่างชาติที่รับรู้ความสำคัญของสมบัติชิ้นนี้ ในขณะที่ผู้เป็นเจ้าของเดิมไม่เคยจะรับรู้ความสำคัญเลย ไม่นานนักการค้นคว้าศิลปะของไทย คงต้องอาศัยห้องสมุดในต่างประเทศ

สไลด์ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดทั่วทุกแห่งในประเทศไทย มิใช่ผลงานที่มีคุณูปการใหญ่หลวงที่มีต่อนักวิชาการไทย เพียงประการเดียว ที่ ดร.ไซเลอร์ ได้มอบไว้ หากแต่มีผลงานอื่นอีกที่เป็นชิ้นเดียวของโลก ของ ดร.ไซเลอร์ นั่นคือ รอยพระพุทธบาท ซึ่งถือว่าเป็น อุเทกสิกเจดีย์ หนึ่งในสี่ประเภทที่พระพุทธองค์ได้มีพระพุทธาธิบายไว้ จุดเริ่มต้นของความสนใจในเรื่องนี้ของ ดร.ไซเลอร์ น่าจะเริ่มขึ้นเมื่อเขาเข้าสำรวจภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่างๆ และมีโอกาสได้เห็นรอยพระพุทธบาทที่มีมงคล ๑๐๘ ประการ จารึกไว้  ต่อมาเขาได้รับการบอกเล่าอย่างไม่ถูกต้องจากไกด์ที่วัดพระเชตุพนฯ นับแต่แรกที่เขามาอยู่เมืองไทย เมื่อ ๒๓ ปีที่แล้วว่า สัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการนั้น ซึ่งคนไทยนิยมกันมาตั้งแต่อยุธยา เกี่ยวข้องกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้า (ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕) “ภายหลังเมื่อผมได้ศึกษา จึงได้รู้ว่า คำกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง สัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการ ไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด”

สำเนารอยพระพุทธบาท คัดลอกลงบนกระดาษสา งานศึกษาอย่างลึกซึ้งของ ดร.ไซเลอร์ (ภาพจากมติชน)
ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร เปิดเผยสำเนาคัดลอกรอยพระพุทธบาททั่วเอเชียผลงาน ดร.ไซเลอร์ (ภาพจากมติชน)

การศึกษาเรื่องรอยพระพุทธบาท ของ ดร.ไซเลอร์ ได้เริ่มอย่างจริงจัง เมื่อเขาได้มีโอกาสไปฟังการอภิปรายซึ่งมีการอ้างอิงคัมภีร์ที่จะมาตีความสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการ อย่างผิดๆ ถูกๆ อีก เขาตัดสินใจศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง รอยพระพุทธบาทตามคำอธิบายของ ดร.ไซเลอร์ แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ประเภทแรก รอยพระพุทธบาทที่เชื่อว่าเป็นของจริง และรอยพระพุทธบาทที่พุทธศาสนิกชนได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ในประเทศต่างๆ ความสนใจของ ดร.ไซเลอร์ มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะรอยพระพุทธบาทในเมืองไทยเท่านั้น หากครอบคลุมไปถึงรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ในเอเชีย ดังเช่น เนปาล จีน เกาหลี ญี่ปุ่น พม่า อินเดีย ยูนนาน ทิเบต ศรีลังกา โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นความเชื่อในทางพระพุทธศาสนานิกายใด

ตัวอย่างการศึกษาอย่างลึกซึ้งของ ดร.ไซเลอร์ ที่ผู้เขียนจะยกมากล่าว ณ ที่นี้ ดร.ไซเลอร์ รู้ว่าในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ โปรดให้สร้างรอยพระพุทธบาท ซึ่งบรรจุสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการ อยู่ในนั้น ไปถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้ากิตติสีหะของศรีลังกา ดร.ไซเลอร์ อาศัยหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี เป็นเครื่องมือในการค้นคว้า เขาเดินทางไปศรีลังกาบ่อยครั้ง และได้พบว่าที่หอสมุดแห่งชาติของศรีลังกานั้น ได้เก็บรักษาเอกสารที่พ่อค้าชาวฮอลันดาบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทย ในสมัยปลายอยุธยาอย่างมหาศาล ดร.ไซเลอร์ พยายามทำทุกวิถีทางที่จะได้รับรู้และเรียนรู้เอกสารเหล่านั้น ไม่ว่าจะใช้วิธีใดๆก็ตาม ทั้งคัดลอก ถ่ายเอกสาร ทำสำเนา โดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ทุ่มลงไปในเรื่องนี้ ดร.ไซเลอร์ ได้รับอนุญาตจากทางการศรีลังกาให้คัดลอกรอบพระพุทธบาทของพระเจ้าบรมโกศไว้ศึกษาอีกด้วย ณ ที่นั้น ดร.ไซเลอร์ มีโอกาสได้พบกับ ดร.มัญชูศิริ ผู้รับรางวัลแมกไซไซ ด้านศิลปะ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมอีกด้วย ดร.มัญชูศิริ เป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าของ ดร.ไซเลอร์ ที่ให้ความรู้ด้านศิลปะให้แก่ ดร.ไซเลอร์ อย่างไม่หยุดยั้ง ผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสพบกับ ดร.มัญชูสิริ อยู่บ้าง ณ ที่พักของ ดร.ไซเลอร์

อ่านข่าว ราชบัณฑิตเผยขุมทรัพย์ ปวศ. ผลงาน ‘ดร.ไซเลอร์’ ที่ถูกลืม สไลด์จิตรกรรมเฉียดหมื่นใบ อลังการสำเนา 400 พระพุทธบาททั่วเอเชีย. มติชนออนไลน์

วิธีการศึกษารอยพระพุทธบาทของ ดร.ไซเลอร์ นั้น เริ่มจากการดั้นด้นไปศึกษาจากของจริง พินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน และที่ขาดเสียไม่ได้คือ การทำสำเนาของรอบพระพุทธบาทนั้นกลับมาศึกษาอีกด้วย เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จของ ดร.ไซเลอร์ มาจากบุคคลหนึ่ง อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพาะช่าง เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย ผู้อยู่เคียงข้าง ดร.ไซเลอร์ ตลอดเวลา การคัดลอกรอยพระพุทธบาทมีทั้งการใช้แผ่นพลาสติกใสลอกลาย แล้วนำมาถ่ายเอกสารลงกระดาษอีกทีหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งก็คือใช้กระดาษสาชุบน้ำทาบลงไป ทุบด้วยมือ แล้วใช้สีกัด

ภาพเขียนรอยพระพุทธบาทที่ ดร.ไซเลอร์ เก็บรักษาไว้มีประมาณ ๔๐๐ กว่าภาพ (พ.ศ. ๒๕๓๕) จากจำนวนรอยพระพุทธบาท ๔,๐๐๐ องค์ ที่อยู่ทั่วเอเซีย  ดร.ไซเลอร์ ยืนยันว่า บรรดารอยพระพุทธบาททั้งหมดที่เขาได้ศึกษามานั้น ไม่มีองค์ใดที่จะมีภาพมงคล ๑๐๘ ประการตรงกัน

การศึกษาข้อมูลทางวิชาการ ดร.ไซเลอร์ ในฐานะนักวิชาการระดับโลก จะใช้เอกสารขั้นปฐมภูมิเป็นหลักเสมอ ดังนั้นไม่น่าแปลกใจที่ ดร.ไซเลอร์ จะเป็นเจ้าของพระไตรปิฎกของไทย ลังกา พม่า จีน ทิเบต รวมทั้งหนังสือศิลปกรรมล้ำค่าของโลกอยู่ด้วย ในที่นี้ผู้เขียนก็จำเป็นต้องอธิบายว่า การค้นพระไตรปิฎกนานาชาตินั้น ดร.ไซเลอร์ มุ่งไปที่ข้อมูลที่เขาพึงประสงค์โดยเฉพาะ นักวิชาการเจ้าของภาษาในพระไตรปิฎกแต่ละฉบับนั้น จะช่วยอธิบาย ค้นหาหลักฐานที่เขาต้องการ จากนั้นมีการจด ถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ และทำเครื่องหมายคั่นไว้อย่างชัดเจน

ต่อคำถามที่ว่าเขาได้รับทุนสนับสนุนจากที่ใด ดร.ไซเลอร์ มักมีอารมณ์ฉุนเฉียวก่อนที่จะตอบว่า เขารู้แต่ว่าในสัปดาห์นี้เขาจะไปดูรอยพระพุทธบาทที่ไหนเท่านั้น เรื่องที่พักและอาหารดูเป็นเรื่องไม่สำคัญสำหรับเขาเลย เพราะเจ้าอาวาส พระแทบทุกวัดคุ้นเคยกับเขาดี และเอื้อเฟื้อทุกอย่างที่เขาปรารถนา

เรื่องของ ดร.ไซเลอร์ เป็นตำนานที่เล่าขานกันอย่างไม่รู้จบ เท่าที่ผู้เขียนถ่ายทอดมานี้เป็นเสี้ยวเล็กๆของบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งคุณถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแนวเซอร์เรียลิสต์ ผู้โด่งดังกล่าวไว้ว่า “ในบรรดาชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยในด้านศิลปะนอกเหนือจาก อาจารย์ศิลป์ พีระศรี แล้ว ผมคิดว่าคนที่รองลงมาก็คือ ดร.ไซเลอร์ นั่นเอง”

ม่านชีวิต ของ ดร.ไซเลอร์ ค่อยๆ เคลื่อนมาบรรจบแล้ว หรืออาจจะจบลงแล้วก็ไม่มีใครรู้ได้ เหลือแต่สมบัติอันล้ำค่าที่ทิ้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวและเดียวดาย ใครจะรู้คุณค่าของเขา

 

โปรโมชั่นพิเศษ ส่งท้ายปี ซื้อนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 1 ปี (12 ฉบับ) ลด 15% พร้อมจัดส่งลงทะเบียนทุกฉบับ แถมฟรีอีก 1 เดือน (1 ฉบับ) เฉพาะวันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2563 คลิกดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่นี่


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2562