เผยแพร่ |
---|
เสวนา “ราษฎรธิปไตย” โดย ผศ. ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และ ดร. ธนาวิ โชติประดิษฐ และร่วมพูดคุย โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ณ ห้อง ร.102 (ห้องเสน่ห์ จามริก) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
อ. ศรัญญู ผู้เขียนหนังสือ “ราษฎรธิปไตย” อธิบายว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความและผลงานที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิไตยไทยตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีหลากหลายประเด็น เช่น สำนึกใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกี่ยวข้องกับความคิดของสังคมหรือผู้คน, อำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศ และประเด็นอนุสาวรีย์ โดยกว่าจะเป็นหนังสือเล่มนี้ อ. ศรัญญูอธิบายว่า แต่เดิมศึกษาประวัติศาสตร์ไทยทั่วไป ไม่ได้มุ่งเน้นประวัติศาสตร์การเมือง 2475 แต่เริ่มหันมาให้ความสนใจประเด็นนี้เป็นผลมาจากการอ่านและศึกษาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี อ่านงาน อ. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รวมถึงอิทธิพลการเมืองร่วมสมัย ในช่วงการเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณจนถึงรัฐประหารปี 2549
และเมื่อได้มาศึกษาในระดับปริญญาโทจึงได้เข้าไปค้นหลักฐานที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในช่วงเวลานั้นอ. ศรัญญู สนใจเรื่องที่ดินกับนโยบายของคณะราษฎร อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการเมืองเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้จึงได้พบข้อมูลใหม่ ๆ หลักฐานบางชิ้นที่ยังไม่มีการเผยแพร่ อ. ศรัญญู ต้องการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในแง่มุมของประชาชนหรือของสังคมผ่านการรับรู้เรื่องประชาธิปไตย ที่แต่เดิมมักมีการพูดกันว่า ประชาชนทั่วไปไม่มีความพร้อมและไม่มีความรู้หรือสำนึกเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบใหม่ อ. ศรัญญู มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นความพยายามดิสเครดิตราษฎรและคนที่ไม่มีเสียงในสังคม โดยชี้ให้เห็นจากการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมในระบอบการเมืองแบบใหม่ ซึ่งมีความ “Active” ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเมืองระดับชาติ
นอกจากนี้ อ. ศรัญญู ยังแนะนำข้อมูลในหนังสือว่ายังมีประเด็นเกี่ยวกับ โทษประหาร โรงเรียนดัดสันดาน และราชทัณฑ์ ซึ่งสะท้อนการใช้อำนาจรัฐในระบบการเมืองแบบใหม่ซึ่งเป็นแนวความคิดหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อประชาชน ส่วนท้ายของหนังสือจะอธิบายเกี่ยวกับการเมืองไทยในอนุสาวรีย์ คืออนุสาวรีย์ปราบกบฏจะพูดถึงเกี่ยวกับ ประวัติ พิธีกรรม และปฏิสัมพันธ์ของรัฐในอนุสาวรีย์ และพูดถึงอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่แต่เดิมมีโครงการจะสร้างแทนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นการสะท้อนการฟื้นฟูอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมขึ้นมาอีกครั้ง
อ. ประจักษ์ กล่าวว่า “ประเด็นที่สำคัญคือบริบทของการเกิดขึ้นของงานชิ้นนี้และความสนใจของ อ. (อ. ศรัญญู) เองที่มีต่อประวัติศาสตร์การเมืองว่า มันถูกจุดประเด็นขึ้นมาจาก 2475 แล้ว 2475 มันเหมือนฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาในบริบทการเมืองหรือความขัดแย้งในปัจจุบัน…” และตั้งคำถามไว้เล่น ๆ ว่า ทำไมคนถึงกลับไปสนใจการเมือง 2475
ถัดมา อ. ธำรงศักดิ์ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน โดยเล่าถึงสำนึกและภาพทางประวัติศาสตร์ในมุมมองเก่า ๆ ในช่วงที่ตนเรียนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ราว พ.ศ. 2525-26 ว่า ภาพประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในการศึกษาสมัยนั้นมองเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อประเทศไทย “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่หน่อมแน้ม เป็นการที่คนกลุ่มหนึ่งเข้าไปยึดอำนาจ เป็นการ Top Down ทำให้ทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ไม่ส่งผลอะไรต่อประชาชนเลย” นี่คือภาพประวัติศาสตร์ในแวดวงการศึกษา ณ ตอนนั้น และเมื่อกล่าวถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏ อ. ธำรงศักดิ์ ยอมรับว่าตนเรียนรัฐศาสตร์ และอาศัยอยู่ละแวกเดียวกับที่ตั้งอนุสาวรีย์ดังกล่าวแต่ไม่ได้รับรู้ถึงที่มาของอนุสาวรีย์นั้นเลย ก่อนจะให้การศึกษาและสนใจภายหลังเมื่อต้องมาศึกษาประวัติศาสตร์ 2475
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ อ. ธำรงศักดิ์ ชี้ให้เห็นตั้งแต่ชื่อของหนังสือ คือ “ราษฎรธิปไตย” อ. อธิบายว่า เรามักคุ้นชินกับคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่มาจากคำว่า ประชาหรือประชาชนกับคำว่าอธิปไตย อันเป็นความหมายของ Democracy แต่หนังสือนี้กลับใช้คำรากฐานของสังคมในระบอบชนชั้น คือคำว่า “ราษฎร” อ. ธำรงศักดิ์ อธิบายว่า ในการปกครองระบอบเก่า สถานะทางสังคมแบ่งออกแบบหยาบ ๆ เป็นสองชนชั้นคือ ชนชั้นผู้ปกครอง เรียกว่า เจ้านาย กับชนชั้นผู้ถูกปกครอง เรียกว่า ราษฎร และการที่คนกลุ่มหนึ่ง 7 คนร่วมกันตั้ง “คณะราษฎร” ขึ้นมาเพราะพวกเขาต้องการนำเสนอว่าเป็นตัวแทนของ “ราษฎร” และการเป็นตัวแทนนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งของอำนาจอธิปไตยคนละปีกคนละขั้วระหว่าง สมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตย ดังนั้น การใช้คำว่า “ราษฎร” คือการสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจที่แท้จริงของการต่อสู้คืออะไร และสิ่งที่ตกค้างของ “คณะราษฎร” มาจนถึงปัจจุบันคือ “สภาผู้แทนราษฎร”
ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงที่ การชุมนุมของประชาชน อ. ธำรงศักดิ์ ชี้ว่า เมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน มีการชุมนุมของรถเจ๊กหรือรถลากกว่า 3,000 คัน หยุดการเดินรถและชุมนุมประท้วงที่ลานพระบรมรูปทรงมา มีการชุมนุมของพวกรถรางเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง และในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็มีการชุมนุมประท้วงกันมากมาย ทั้งนักศึกษา ครู แรงงาน ซึ่งการชุมนุมของประชาชนทั้งสองช่วงเวลานี้ อ. ธำรงศักดิ์ อธิบายว่า เป็นปรากฏการณ์การตื่นตัวของประชาธิปไตย
“เมื่อไหร่ที่เกิดสังคมที่เป็นประชาธิปไตย สิ่งซึ่งถูกซุกใต้พรมมาตลอด ทุกปัญหา เราจะเห็นว่าระบอบเผด็จการจะไม่ให้มีการประท้วงเลย จะไม่ให้มีการเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น จะซุกใต้พรม แต่พอมันเกิดประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ กลุ่มต่าง ๆ จะออกมาเรียกร้องและต่อสู้ในประเด็นที่สำคัญของตนเอง”
ในประเด็นการชุมนุมนี้ อ. ธำรงศักดิ์ สะท้อนให้เห็นจากนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อชนชั้นแรงงานของคณะราษฎรที่สนใจต่อคนกลุ่มนี้อย่างมาก ผิดจากรัฐบาลในระบอบเก่าที่พยายามกดชนชั้นนี้ อ. ธำรงศักดิ์ อธิบายว่า รัฐบาลในช่วง พ.ศ. 2477 ได้พยายามสร้างงานให้กับคนในประเทศ โดยได้ให้แต่ละหน่วยงานของรัฐบาลไปรวบรวมข้อมูลและตัวเลขการจ้างงานในหน่วยงานรัฐบาล และมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่จะขยายการจ้างงานให้เพิ่มขึ้นอย่างไร อ. ธำรงศักดิ์ ยังได้เปรียบเทียบงบประมาณของรัฐบาลก่อนและหลัง 2475 ว่า ในรัฐบาลระบอบเก่างบประมาณราว 60% อยู่ที่ กระทรวงกลาโหม มหาดไทย และวัง แต่เมื่อในสมัยรัฐบาลระบอบใหม่ งบประมาณจะเพิ่มที่กระทรวงศึกษาฯ สาธารณสุข คมนาคม และเกษตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคณะราษฎรได้พยายามกระจายความสุขสมบูรณ์ลงไปยังประชาชนทั้งประเทศผ่านกระทรวงต่าง ๆ เหล่านั้น
อะไรคือความสำคัญทางการเมืองของอำนาจอธิปไตยของราษฎรธิปไตย? อ. ธำรงศักดิ์ มองประเด็นสำคัญที่เรื่องของอายุ โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำหนดอายุเพียง 20 ก็เป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรีได้ ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิด ที่แต่เดิมผู้ปกครองมีแต่คนสูงวัย มาสู่คนรุ่นใหม่ให้มามีบทบาททางการเมือง และยังสะท้อนให้เห็นจากอายุของสมาชิกคณะราษฎรที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีอายุไม่มากตั้งแต่เมื่อครั้งวางแผนก่อการที่ปารีสจนถึง 2475 ก็ยังมีอายุกันไม่มาก และสะท้อนถึงสิทธิ์การเลือกตั้งเมื่ออายุ 20 ปี ให้สิทธิ์ทั้งชายและหญิง นี่คือความเสมอภาคและความเท่าเทียมที่คณะราษฎรนำสู่สังคมไทย “คณะราษฎรมาพร้อมความเสอภาค และมาพร้อมกับการมองเห็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างประเทศ เปลี่ยนแปลงประเทศ”
อีกประเด็นหนึ่งคือ อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ที่มาตรา 9 ของ รัฐธรรมนูญฉบับแรกระบุว่า “สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้” ซึ่งประโยคส่วนท้ายนี้ อ. ธำรงศักดิ์ มองว่าเป็นกลไกอำนาจของสภาฯ หรือฝ่ายนิติบัญญัติที่มีอำนาจตรวจสอบฝ่ายตุลาการ และมองว่าสภาฯ มีอำนาจถอดถอนผู้พิพากษาได้ และเหล่านี้คืออำนาจสำคัญทางการเมืองของอำนาจอธิปไตยของ “ราษฎรธิปไตย”
อ. ธนาวิ ได้อ่านหนังสือ “ราษฎรธิปไตย” และมองว่าตนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ก็มีแนวทางหรือแนวความคิดที่คล้ายคลึงกับรักประวัติศาสตร์ทั่วไป ในประเด็นอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์เหล่านี้เป็นหนึ่งในศิลปะของคณะราษฎร อ. ธนาวิ น่า สนใจข้อมูลในหนังสือว่า มีการส่งแบบของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเหล่านี้จากกรมสิลปากรไปยังจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คณะราษฎรมีความพยายามที่จะกระจายอำนาจออกไปและสร้างความตื่นตัวไปยังท้องถิ่น และมีแบบแผนบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าศิลปกรรมเหล่านี้มีส่วนในการช่วยประชาสัมพันธ์ระบอบใหม่หรือการโฆษณาชวนเชื่อ
อ. ธนาวิ กล่าวว่า “ศิลปกรรมที่สร้างขึ้นโดยรัฐ เผยแพร่โดยรัฐ มีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าจะต้องปลูกฝังความคิดความเชื่อของอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบใหม่ที่มันพึ่งจะเข้ามา มันก็คือโฆษณาชวนเชื่อประเภทหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการหาว่าจะใช้อะไรมาเป็นร่างทรงของอุดมการณ์ที่เป็นนามธรรมอันนี้ ซึ่งก็อย่างที่เราได้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน คณะราษฎรได้เลือกที่จะใช้พานรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวัตถุจริงที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ คือผูกอยู่กับพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในปี 2475 วันที่ 10 ธันวาคม” ดังนั้น พานรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่คณะราษฎรใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารประชาธิปไตยถึงประชาชน
อ. ธนาวิ ระบุว่า ศิลปกรรมเหล่านี้มีคุณค่าบางอย่างที่ตกเป็นเป้าถูกทำลายหรือทำให้หมดความชอบธรรมลงไปเมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจลงไป โดยเฉพาะศิลปกรรมในอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่มีความคิดจะนำไปตั้งไว้แทนพานรัฐธรรมนูญกลางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง มีการถกเถียงกันว่าควรจะปรับเปลี่ยนเอาพานรัฐธรรมนูญออก เพราะไม่ได้สื่อความหมายที่ชัดเจน หากนำอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 มาแทนจะสื่อความหมายถึงว่าพระองค์เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ อ. ธนาวิ ชี้ว่าหากมองในด้านศิลปกรรมแล้ว อนุสาวรีย์สาธารณะที่ปรากฏในประเทศไทยตั้งแต่แรกสุดคือพระบรมรูปทรงม้า มาจนถึงอนุสาวรีย์ล่าสุดในอุทยานราชภักดิ์ ล้วนแต่เป็น “สัจนิยม” คือเป็นศิลปกรรมแบบเหมือนจริงเป็นสิ่งที่สื่อสาร สื่อความหมาย และเข้าถึงคนได้ชัดเจนกว่า แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แนวศิลปกรรมแบบนี้กลับเลือนหายไป กลายเป็นการเข้ามาแทนที่ของศิลปกรรมของคณะราษฎร ก่อนที่ภายหลังเมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจไปแล้ว ศิลปกรรมสัจนิยมจึงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นที่น่าสนใจในการก่อสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 อ. ธนาวิ อธิบายว่า ต้นแบบอนุสาวรีย์นี้มาจากพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 แต่กลับมีข้อความในพระราชหัตถเลขาเมื่อครั้งสละราชสมบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกัน แต่ถูกจับมาอยู่คู่กัน ความว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ…” อ. ธนาวิ ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการจัดสร้างอนุสาวรีย์ชุดสุดท้ายขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมตื่นตัวภัยจากคอมมิวนิสต์ และหากย้อนกลับไปที่ฉนวนเหตุของการสละราชสมบัติ ที่ อ. ธนาวิ ระบุว่ามีเหตุจากแผนโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์เช่นกัน
อ. ธนาวิ กล่าวว่า “ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 แบบสุดท้ายที่มากับคณะกรรมการชุดหลัง 6 ตุลา มีไอเดียนี้แฝงอยู่” ซึ่งเป็นการมองในมุมของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มองในความหมายที่อาจอยู่หรือไม่อยู่ในแต่แรกก็ได้ ไม่ใช่การค้นหาความจงใจ แต่คือความพยายามที่มองหาความเป็นไปได้ของการสร้างความหมายต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมของงานศิลปกรรม
ช่วงท้ายการเสวนา มีคำถามถึง อ. ศรัญญู ว่า จิตสำนึกของระบอบใหม่ที่ อ. ศรัญญู ใช้ในหนังสือนั้น เกิดจากบนลงล่างหรือล่างขึ้นบน? และการใช้หลักฐานจากส่วนกลางเป็นหลัก จิตสำนึกเหล่านี้จะเกิดเฉพาะจากบนลงล่างหรือไม่? และเป็นไปได้หรือไม่ จิตสำนึกที่ว่ามาจากส่วนบนตลอด?
อ. ศรัญญู อธิบายว่า เอกสารที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แม้จะเป็นรายงานจากทางราชการแต่ก็ทำให้เห็นบรรยากาศในยุคสมัยนั้น และหลักฐานจากมุมมองคนท้องถิ่นต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเหล่านี้ก็มีทั้งในท้องถิ่นและหจช. หรือในหนังสือที่พิมพ์ตามวาระต่าง ๆ ในท้องถิ่น ตัวอย่างคือ มีการพูดถึง 24 มิถุนายน จากมุมมองของคนในเชียงใหม่ ตีพิมพ์ในนาวิกศาสตร์ บรรยายบรรยากาศยุคสมัยนั้น อีกหลักฐานชิ้นหนึ่งคือ รายงานการจัดฉลองรัฐธรรมนูญในสตูลที่มีการปาฐกถารัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อคนมุสลิมอย่างไร
อ. ศรัญญู มองว่า หลักฐานที่เป็นเชิง Top Down ในด้านหนึ่งก็มีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความคิดของคนทั่วไปได้เช่นกัน และยอมรับว่าหลักฐานจากคนทั่วไปนี้หาได้ยากมาก