การค้นพบกะโหลกมนุษย์ในยุโรปอายุกว่า 2 แสนปี ช่วยคลายปมการย้ายถิ่นจากแอฟริกายุคแรก

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพเปรียบเทียบกะโหลกมนุษย์ในปัจจุบัน (ซ้าย) กับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (ภาพ-Wikimedia Commons)

นักวิจัยสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยปะติดปะต่อชิ้นส่วนกระดูกซึ่งพบในถ้ำแห่งหนึ่งในกรีซตั้งแต่ยุค 70s กลายเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในกลุ่มเดียวกับ “โฮโม” (Homo) สกุลเดียวกับสายพันธุ์มนุษย์สมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน และยุคก่อนหน้านั้น หลักฐานทั้งสองนี้ตอกย้ำแนวคิดเรื่องการย้ายถิ่นฐานยุคแรกๆ ของมนุษย์จากแอฟริกา

เมื่อปลายยุค 70s ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลที่สามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มสำคัญในถ้ำ Apidima ทางตอนใต้ในกรีซ นักวิจัยเรียกชิ้นส่วนกลุ่มนี้ว่า Apidima 1 และ Apidima 2

กลุ่มหนึ่งยากจะประกอบ และอีกกลุ่มหนึ่งก็ไม่สมบูรณ์ แต่จากการใช้เทคโนโลยี Tomography เข้าช่วยโดยการสแกนและการหาอายุโดยใช้ยูเรเนียมเพื่อค้นหาต้นตอของชิ้นส่วนช่วยให้ทีมนักวิจัยเห็นภาพและเข้าใจที่มาของชิ้นส่วนตัวอย่างมากขึ้น

เมื่อพิจารณาชิ้นส่วน Apidima 2 ภาพจำลองที่ประกอบออกมาแสดงให้เห็นลักษณะโครงสร้างที่คล้ายกับกะโหลกของมนุษย์นีแอนเดอทัล และคาดการณ์ว่าชิ้นส่วนนี้มีอายุมากกว่า 170,000 ปี

ขณะที่ Apidima 1 แตกต่างออกไป โดยคาดว่ามีอายุกว่า 210,000 ปี และมีรายละเอียดบางส่วนที่บ่งชี้ถึงการผสมผสานระหว่างลักษณะมนุษย์ยุคใหม่ (Modern Human) กับคนดึกดำบรรพ์ (Primitive)

(คลิกชมภาพเพิ่มเติม)

ชิ้นส่วนเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่โซนนั้นมีมนุษย์ในช่วงกลางยุคสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) ปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นมนุษย์ยุคแรกของกลุ่ม “โฮโม เซเปียนส์” (Homo sapiens) ก่อนที่จะตามมาด้วยมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลในเวลาต่อมา การค้นพบครั้งนี้สนับสนุนทฤษฎีว่าด้วยการศึกษามนุษย์ยุคแรกนอกโซนแอฟริกาหลายข้อ ผลการวิจัยครั้งนี้ถูกตรวจสอบและจะเผยแพร่ในนิตยสาร Nature

ศาสตราจารย์ คริส สตริงเกอร์ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ขยายความเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้ว่า จากผลของการค้นพบครั้งนี้ มองได้ว่า มีมนุษย์ยุคใหม่กลุ่มแรกอยู่ในกรีซราว 210,000 ปีก่อน และภายหลังจึงมีมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (จากหลักฐาน Apidima 2) ในช่วง 170,000 ปีก่อน

รายงานข่าวจากบีบีซีอธิบายเพิ่มเติมว่า ประชากรในยุคปัจจุบัน กลุ่มที่อาศัยนอกพื้นที่แอฟริกาสามารถสืบค้นบรรพบุรุษย้อนกลับไปถึงกลุ่มประชากรที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานออกจากแอฟริกาแค่เมื่อช่วง 60,000 ปีก่อน ขณะที่ประชากรกลุ่มนี้กระจายตัวไปรอบยูเรเซีย (Eurasia) พวกเขาก็เข้าแทนที่ประชากรกลุ่มเดิมที่ได้พบด้วย อาทิ นีแอนเดอร์ทัล และเดนิโซแวน (Denisovans) อีกหนึ่งสายพันธุ์ของมนุษย์ในสกุลโฮโม

แต่กลุ่มนี้ไม่ได้เป็นมนุษย์ยุคใหม่กลุ่มแรกๆ ที่ย้ายถิ่นออกจากแอฟริกา การค้นพบฟอสซิลจากอิสราเอลในยุค 90s พบว่ามีอายุระหว่าง 90,000-125,000 ปีก่อน และเคยถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดวิสัยจากที่เป็นการเดินทางไปยังพื้นที่ใหม่นอกเหนือจากถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (รวมถึงหลักฐานล่าสุด) ทำให้เห็นว่า มนุษย์สายพันธุ์เดียวกับมนุษย์ยุคปัจจุบันเคลื่อนย้ายไปนอกแอฟริกาก่อนหน้าช่วงเวลาที่เคยคาดการณ์เอาไว้ และน่าจะนานกว่าตัวเลขที่เคยคิดระดับหนึ่งด้วย

ขณะที่การศึกษาทางดีเอ็นเอยังแสดงให้เห็นแนวโน้มของการผสมพันธุ์ระหว่างมนุษย์จากแอฟริกาและนีแอนเดอร์ทัล หลักฐานชิ้นหนึ่งมาจากนีแอนเดอร์ทัลในเยอรมนีแสดงให้เห็นว่าการผสมผสานช่วงแรกๆ เกิดขึ้นระหว่าง 219,000 ถึง 460,000 ปีก่อน แต่ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนพอจะบ่งชี้ว่าโฮโม เซเปียนส์ หรือมนุษย์จากแอฟริกายุคก่อนหน้านี้เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่


อ้างอิง:

Apidima Cave fossils provide earliest evidence of Homo sapiens in Eurasia. Nature. Online. Published 10 JUL 2019. Access 11 JUL 2019. <https://www.nature.com/articles/s41586-019-1376-z>

Earliest modern human found outside Africa. BBC. Online. Published 11 JUL 2019. Access 11 JUL 2019. <https://www.bbc.com/news/science-environment-48913307>