บันทึกทางพุทธเก่าสุดเพิ่งค้นพบต้นยุค 90s เชื่อ ให้ข้อมูลย้อนยุคใกล้ถึงสมัยพระพุทธเจ้า

(ซ้าย) ชิ้นส่วนหนึ่งของบันทึกเปลือกไม้โบราณ เชื่อว่า เป็นข้อความทางพุทธศาสนาที่เก่าที่สุดเท่าที่ค้นพบ (ภาพจาก หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ, Public Domain)

ม้วนบันทึกที่จารึกด้วยลายมือและมีเนื้อหาในทางพุทธศาสนาซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาถูกค้นพบเมื่อต้นยุค 90s เป็นม้วนที่มีอักษรบันทึกทำจากเปลือกไม้เบิร์ช ที่ผ่านมา นักวิชาการพยายามศึกษาข้อความบนจารึกเก่าแก่ซึ่งอยู่ในสภาพบอบบางถึงที่สุด ความคืบหน้าล่าสุดจากการศึกษาค้นคว้าวัตถุโบราณนี้ รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศเผยว่า นักวิชาการเชื่อว่าบันทึกเหล่านี้ช่วยให้ย้อนเข้าใกล้ข้อมูลยุคที่ใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า

ก่อนหน้าการค้นพบม้วนจารึกโบราณในต้นยุค 90s นักวิจัยศึกษาบันทึกอักษรที่มีเนื้อหาในทางพุทธศาสนาจากศรีลังกา, เมียนมา และไทย ซึ่งส่วนใหญ่เก่าแก่หลักร้อยปีเท่านั้นและมักอยู่ในสภาพเสียหายจากสภาพอากาศในภูมิภาคที่ร้อนชื้น กระทั่งการค้นพบม้วนบันทึกประมาณ 200 ชิ้นบรรจุในโหลดินอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งจากเขตบามิยัน ในประเทศอัฟกานิสถาน เขตชายแดนทางตอนเหนือระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถานในช่วงที่กลุ่มตาลิบันทำลายพระพุทธรูปแกะสลักหินโบราณ

นักวิชาการเชื่อว่า ม้วนบันทึกมาจากยุคอาณาจักรคันธาระโบราณ (Gandhara) ซึ่งเจริญรุ่งเรืองระหว่าง 100 ปีก่อนคริสตกาล และคริสต์ศักราช 200 ซึ่งในช่วงเวลานั้นถือเป็นหน้าด่านทางเชื่อมระหว่างอินเดียไปสู่จีน ลักษณะของม้วนบันทึกมีลักษณะยาว ขณะที่ลักษณะการม้วนนั้นยังแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ซึ่งแตกต่างจากวัตถุโบราณที่ค้นพบในพื้นที่เดียวกัน หอสมุดแห่งชาติอังกฤษได้ม้วนบันทึกนี้ไปเมื่อปี 1994 อีก 2 ปีต่อมาจึงเริ่มมีโครงการศึกษาเอกสารที่จดบันทึกด้วยลายมือเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในยุคแรกๆ ก่อตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

ดร. มาร์ก อัลลอน หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซีว่า ม้วนบันทึกจากเปลือกไม้มีรูปทรงเหมือนซิการ์ และอยู่ในสภาพเปราะบางอย่างมาก ทีมงานต้องทำให้มันอยู่ในสภาพชื้นเป็นช่วงๆ และค่อยๆ คลี่มันออกมา

รายงานข่าวระบุว่า ดร. อัลลอน เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญไม่กี่รายในโลกที่สามารถอ่านและตีความภาษาในม้วนบันทึกโบราณได้ (ในรายงานระบุว่า ประมาณ 20 คน) และยังเป็นผู้นำทีมในการบันทึกข้อความบนม้วนที่ค้นพบลงในระบบดิจิทัลซึ่งในอนาคตอันใกล้จะมีโอกาสเผยแพร่ข้อความให้สาธารณะรับรู้และเข้าใจข้อความโบราณอันเกี่ยวกับบทสวด, เรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ระเบียบการปฏิบัติตนของพระ และการอภิปรายทางปรัชญา

ดร. อัลลอน เชื่อว่า ผู้จดบันทึกเหล่านี้อาจเป็นนักบวชที่บันทึกคำสอนทางศาสนาพุทธเอาไว้ ซึ่งหอสมุดแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยในเว็บไซต์ของโครงการศึกษาดังที่เอ่ยข้างต้นว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ข้อความเหล่านี้อาจมาจากสายธรรมคุปตกะ (Dharmaguptaka school) นิกายทางพุทธยุคแรกๆ ที่แตกแขนงมาจากนิกายมหีศาสกะ (Mahīśāsakas)

จากการตีความเบื้องต้น เชื่อว่าม้วนบันทึกที่ค้นพบเป็นงานเขียนยุคแรกๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา แต่ข้อความเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระดำรัสของพระพุทธเจ้าโดยตรง ดร. อัลลอน อธิบายว่า “การเขียน” ยังไม่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลานั้นกระทั่งหลายร้อยปีต่อมา

ขณะที่วิธีการจัดเก็บม้วนบันทึกนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในการปฏิบัติต่อวัตถุโบราณหรือพระสรีระของพระพุทธเจ้าอันเชื่อมโยงกับหนึ่งในพระดำรัสของพระพุทธเจ้าคือ “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม” และเชื่อกันว่าคำสอนนี้นำมาสู่การเก็บสรีระของพระองค์ในภายหลัง

สำหรับการเปิดเผยข้อความในบันทึกนี้อาจช่วยให้สาธารณชนเข้าใจการถ่ายทอดองค์ความรู้ในสมัยโบราณได้มากขึ้น


อ้างอิง

Moldovan, Alice. “Crumbling cigars of bark bring scholars one step closer to ancient words of Buddha”. ABC. Online. Published 16 JUN 2019. Access 18 JUN 2019. <https://www.abc.net.au/news/2019-06-16/bark-scrolls-bring-scholars-one-step-closer-ancient-words-buddha/11203272>