เผยแพร่ |
---|
สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา หัวข้อ สู่หัวเมืองตะวันออก บนเส้นทาง “นอกพระราชพงศาวดาร” โดย ศรีศักร วัลลิโภดม และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ดำเนินการเสวนา วันพฤหัสบดี ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้องโถง มติชนอคาเดมี
พงศาวดารคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่บันทึกเรื่องราวในอดีตให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ดังนั้นจึงมักเกิดการตั้งคำถามต่อผู้ศึกษาว่า ทำไมถึงเลือกที่จะเชื่อบางอย่าง หรือเลือกที่จะไม่เชื่อบางอย่างที่อยู่ในพงศาวดาร ข้อสังเกตบางอย่างในพงศาวดารที่ขัดแย้งกับสภาพบางประการของประวัติศาสตร์สังคม และประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่ในท้องถิ่นจึงนำไปสู่การศึกษาและตั้งคำถามเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตากสินสู่หัวเมืองตะวันออกในพงศาวดาร
วลัยลักษณ์ แสดงทัศนะว่า พระเจ้าตากเป็น “Culture Hero” สังเกตได้จากเส้นทางเดินทัพของพระองค์ก็ปรากฏศาลเคารพกราบไหว้อยู่จำนวนมาก แม้บางพื้นที่ที่ไม่ได้ระบุในพงศาวดาร ก็จะมีตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระองค์ จึงเป็นที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งว่าการปะทะกันของ “ประวัติศาสตร์” ระหว่างพงศาวดาร กับ ตำนาน นั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันอยู่
อ. ศรีศักร มีแนวทางปฏิบัติงานบนพื้นฐานที่ว่าไม่ควรเชื่อพงศาวดารทั้งหมด แต่ต้องเริ่มต้นจากการลงพื้นที่จริงตามพงศาวดารแล้วตั้งคำถามว่าเส้นทางตามพงศาวดารน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เมื่อนั้นจึงเกิดข้อขัดแย้งระหว่างความในพงศาวดารกับสภาพพื้นที่จริง ความขัดแย้งนั้นจึงนำไปสู่การศึกษาเส้นทาง “นอก” พงศาวดาร
พระเจ้าตากสินออกจากกรุงศรีอยุธยาบริเวณวัดพิชัย จากนั้นเดินทางตามคลองข้าวเม่า มุ่งหน้าไปทางตะวันออกสู่ทุ่งอุทัย เข้าสู่บริเวณนครนายก เข้าศรีมหาโพธิ บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นเดินทางตามชายป่าเรื่อยไปถึงพนมสารคาม บริเวณลำน้ำท่าราช เข้าสู่ลำน้ำพานทอง แล้วตัดสู่พนัสนิคม ซึ่งบริเวณนี้จากการศึกษาของ อ. ศรีศักร และวลัยลักษณ์ ลงความเห็นว่าพระเจ้าตากสินน่าจะเดินทางไปอีกเส้นทางหนึ่ง
ตามพงศาวดารระบุว่า พระเจ้าตากสินเดินทัพไปทางบางปลาสร้อย ศรีราชา บางละมุง สัตหีบ แล้วเข้าสู่ระยอง แต่ อ. ศรีศักร ระบุว่า พระเจ้าตากสินไม่ได้ใช้เส้นทางเดินตามพงศาวดาร เพราะเป็นเส้นทางที่อ้อมและเสียเวลามาก เส้นทางหนึ่งที่น่าจะเป็นเส้นทางที่เหมาะสมคือการมุ่งเลาะชายป่าอย่างที่ทำมาแต่แรก แล้วเข้าสู่เมืองพญาแร่ แล้วเข้าสู่เมืองระยองเก่า ที่ลุ่มน้ำคลองใหญ่ บริเวณ อ. บ้านค่าย ในปัจจุบัน
อ. ศรีศักรชี้ว่า เหตุที่มาตั้งฐานที่มั่นที่ระยองนี้มีความสำคัญในแง่พื้นที่ชุมชนบริเวณนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก มีความอุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่พักทัพและรวบรวมไพร่พล พร้อมกันยังยังได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น “เจ้า” ที่เมืองระยองแห่งนี้ สอดคล้องกับข้อมูลจากวลัยลักษณ์ว่า พระเจ้าตากสินทรงใช้เมืองระยองเป็นฐานที่มั่นนานกว่าเมืองจันทบุรี แต่ความสำคัญของเมืองระยองถูกบดบังไปหมดเพราะแนวความคิดมุ่งให้ความสำคัญที่เมืองจันทบุรีไปหมด
นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ของทั้งสองท่าน ยังได้พบศาลและตำนานของพระเจ้าตากสินตามพื้นที่หรือเส้นทางเดินทัพอยู่เป็นช่วง ๆ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์สังคมเชิงพื้นที่และตำนานท้องถิ่นก็ควรนำมาศึกษาประกอบกับพงศาวดารและควรจะมีการวิพากษ์ข้อมูลจากหลายมุมมอง และตั้งคำถามถึงสภาพความเป็นจริง
ในช่วงตอบคำถาม มีคำถามว่า จริงหรือไม่ที่ตามหลักฐานฮอลันดาได้ระบุว่า พระเจ้าตากสินได้รับคำสั่งจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยาให้ไปหัวเมืองตะวันออก อ. ศรีศักร กล่าวว่าหลักฐานนี้แม้จะเป็นหลักฐานชั้นต้น แต่ก็เป็นตำนานของชาวต่างประเทศ เพราะมีการบันทึกในภายหลังเนื่องจากเหตุการณ์ของพระเจ้าตากสินหลังกรุงแตกไม่ได้เป็นที่รับรู้ของชาวต่างประเทศในช่วงเวลานั้น วลัยลักษณ์ ชี้ว่าเรื่องนี้มีการถกดถียงกันอยู่มาก ซึ่งอาจเป็นการสร้างความชอบธรรมของพระเจ้าตากมากกว่า
ในช่วงท้ายของการเสวา อ. ศรีศักร กล่าวถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยว่า “คนเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ อย่าเชื่อ ต้องตำคำถาม” และใช้ตำนานมาศึกษาแล้วตั้งคำถาม อ. ศรีศักร เน้นย้ำว่าประวัติศาสตร์ไม่สามารถจำลองอดีตได้ทั้งหมด และต้องให้ความสำคัญกับ “ประวัติศาสตร์สังคม” ด้วย
ในการศึกษาเส้นทางเดินทัพนอกพงศาวดารของพระเจ้าตากสินก็ใช้แนวคิดการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม มาใช้ นั่นคือการศึกษาจากคน ชุมชน และพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งเป็นแนวการศึกษาทางประวัติศาสตร์มีความสำคัญไม่แพ้ประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เน้นศึกษาแต่การเมืองการปกครอง
ช่วงที่ 1
ช่วงที่ 2