
เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2019 สำนักข่าวบีบีซี (คลิกอ่านข่าวต้นฉบับ) รายงายข่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้ลงนามเอกสารรับรองว่า ดินแดนที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) เป็นดินแดนของประเทศอิสราเอล โดยดินแดนแห่งนี้เดิมเป็นของประเทศซีเรีย แต่ถูกอิสราเอลยึดครองอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีรัฐบาลประเทศใด หรือแม้แต่สหประชาชาติ (United Nations-UN) ให้การรับรองดินแดนแห่งนี้ให้เป็นของอิสราเอล
คาดการณ์ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาสนับสนุนอิสราเอลอย่างเปิดเผยเช่นนี้เพื่อสนับสนุน นายริวเวน ริฟลิน (Reuven Rivlin) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอิสราเอล ที่กำลังจะเข้าสู่ศึกเลือกตั้งในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2019 การรับรองดินแดนในครั้งนี้จะส่งผลทางการเมืองให้ นายริวเวน ริฟลิน มีคะแนนนิยมสูงขึ้น และอาจได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม อิสราเอลมีความพยายามที่จะยึดครองและผนวกดินแดนที่ราบสูงโกลานให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาโดยตลอด เพราะดินแดนแห่งนี้เป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญทางตอนเหนือของประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอย่างมากอีกด้วย

ที่ราบสูงโกลานอยู่ตรงไหน สำคัญอย่างไร?
ดินแดนที่ราบสูงโกลาน ทิศเหนืออยู่ถัดจากภูเขาเฮอร์มอน (Mount Hermon) ทิศตะวันตกใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน และทิศใต้ติดกับทะเลสาบกาลิลี (Sea of Galilee) โดยมีระยะจากทิศเหนือจรดทิศใต้ประมาณ 71 กิโลเมตร จากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกประมาณ 43 กิโลเมตร และมีพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงดามัสกัส (Damascus) เมืองหลวงของประเทศซีเรียไปทางทิศใต้ ประมาณ 60 กิโลเมตร
เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็น “ที่ราบสูง” จึงมีส่วนสำคัญทางด้านการทหาร โดยทหารอิสราเอลสามารถใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถสอดส่องกิจกรรมหรือความเคลื่อนไหวทางทหารในดินแดนซีเรียได้หลายกิโลเมตร และการยึดครองพื้นที่สูงกว่าย่อมได้เปรียบเชิงยุทธวิธีในการป้องกันประเทศ หากฝ่ายซีเรียจะบุกโจมตีอิสราเอลก็ต้องบุกผ่านที่ราบสูงโกลาน
อย่างไรก็ตาม บริเวณด้านทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโกลาน สหประชาชาติได้เข้ามาครอบครองพื้นที่ในฐานะ “คนกลาง” จัดตั้งเขตกันชนระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย โดยมีกองกำลังพิเศษของสหประชาชาติควบคุมดูแลความสงบ และยังได้สร้างรั้วหนามขึ้นอีกด้วย แม้ว่าจะมีตัวกลางเข้ามาเป็นกันชน แต่อิสราเอลกับซีเรียก็มักมีการปะทะทางทหารกันเสมอ ๆ
นอกจากนี้แล้ว ที่ราบสูงโกลานยังเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของอิสราเอล ทางตอนใต้และโดยเฉพาะด้านตะวันตกของที่ราบสูงที่เรียกว่าเขต Hula Valley เป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญทำการเพาะปลูก การประมง และการปศุสัตว์เช่นเลี้ยงแกะ แต่ดินแดนทางตอนเหนือที่ติดกับภูเขาเฮอร์มอนเป็นพื้นที่ป่ารกชัฏ สลับกับทุ่งหญ้าเตี้ย ๆ แต่ต็มไปด้วยหิน นอกจากนี้ที่ราบสูงโกลานยังเป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคที่สำคัญของอิสราเอลอีกแห่งหนึ่งด้วย
ประวัติศาสตร์การแย่งชิงที่ราบสูงโกลาน
ใน ค.ศ. 1894 นายธนาคารชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิวชื่อ Baron Edmond de Rothschild ได้เดินทางมาดินแดนซีเรียเพื่อซื้อที่ดินผืนใหญ่ในที่ราบสูงโกลานไว้สำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวยิว หลังจากนั้นคนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีเชื้อสายยิว ทั้งจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป ต่างก็ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่ราบสูงโกลานมากยิ่งขึ้น
ชาวยิวพยายามจัดตั้ง “อาณานิคม” ของพวกเขาด้วยความพยายามอย่างสุดความสามารถแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับศัตรูจากชาวอาหรับและกฎหมายที่ดินของชาวเติร์ก ซึ่งขณะนั้นดินแดนที่ราบสูงโกลานยังอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ที่ราบสูงโกลานกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศส
ที่ราบสูงโกลานถูกเปลี่ยนผ่านให้อยู่ใต้ปกครองของซีเรีย เมื่อซีเรียได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ขบวนการไซออนิสต์ (Zionism) ของชาวยิวได้พลักดันและส่งเสริมให้ชาวยิวทั่วโลกกลับสู่ดินแดนที่พวกเขาอ้างว่าเป็นดินแดน “มาตุภูมิ” จนทำให้ประชากรชาวยิวในตะวันออกกลางเพิ่มสูงอย่างมาก จนทำให้ชาวอาหรับที่แวดล้อมอิสราเอลทุกด้านไม่พอใจ จนเกิดเป็นสงครามขึ้น

สงครามยิวอาหรับ สงครามแย่งชิงที่ราบสูงโกลาน
สงครามอาหรับ–อิสราเอล ครั้งที่ 1 ค.ศ. 1948-1949 สันนิบาตอาหรับไม่พอใจอิสราเอลที่ก่อตั้งประเทศขึ้นมา เหล่าประเทศอาหรับนำโดย อียิปต์ ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน อิรักและซาอุดิอาระเบีย จึงนำกำลังทหารเข้าโจมตีอิสราเอล แต่สงครามครั้งนี้อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะ หลังสงครามสิ้นสุดซีเรียจึงพยายามเสริมการป้องกันที่ราบสูงโกลานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กระทั่งเกิดสงครามอีกครั้งในปี ค.ศ. 1976 ที่เรียกว่า สงครามหกวัน (Six-Day War) นับเป็นสงครามอาหรับ–อิสราเอล ครั้งที่ 3 ในการรบช่วงแรกอิสราเอลได้ชัยชนะเหนืออียิปต์และจอร์แดนอย่างรวดเร็ว ช่วงสองวันสุดท้ายของสงครามคือในวันที่ 9-10 มิถุนายน อิสราเอลได้มุ่งโจมตีซีเรียผ่านที่ราบสูงโกลาน กองทัพอิสราเอลโดยฝ่ายทหารช่างได้สร้างถนนขึ้นสู่ที่ราบสูง โดยได้รับกำลังสนับสนุนจากกองทัพอากาศจนทำให้การบุกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การรุกรบของฝ่ายอิสราเอลทำให้ทหารซีเรียต้องล่าถอย และได้ประกาศยุติการต่อสู้ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1976 และนับแต่นั้น อิสราเอลก็ยึดครองที่ราบสูงโกลานเรื่อยมา ขณะที่ประชากรชาวซีเรียยังคงยืนยันที่จะอาศัยอยู่ในดินแดนเดิมของพวกเขา รัฐบาลอิสราเอลก็ไม่ได้ดำเนินการผลักดันชาวซีเรียออกไป แต่ใช้วิธีให้ชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานมากขึ้นตั้งแต่ท้ายทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา
ภายหลังจากสงครามวันยมคิปเปอร์ (Yom Kippur War) หรือสงครามอาหรับ–อิสราเอล ครั้งที่ 4 เมื่อ ค.ศ. 1973 อิสราเอลกับซีเรียได้ลงนามให้สหประชาชาตินำกองกำลังพิเศษที่เรียกว่า กองกำลังผู้สังเกตการณ์การปลดปล่อยแห่งสหประชาชาติ (UN Disengagement Observer Force-UNDOF) เข้ามาจัดตั้งเขตกันชนหรือ buffer zone กระทั่งในปี ค.ศ. 1981 รัฐสภาอิสราเอลผ่านกฎหมายชื่อว่า “กฎหมาย อำนาจศาล และการบริหาร” (law, jurisdiction, and administration) กับดินแดนที่ราบสูงโกลาน ซึ่งมีผลเชิงปฏิบัติว่าอิสราเอลได้ผนวกที่ราบสูงโกลานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ขณะที่นานาชาติไม่ให้การยอมรับการผนวกดินแดนนี้
การเจรจาทวิภาคีระหว่างอิสราเอลกับซีเรียที่จัดขึ้นในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ในปี ค.ศ. 1991 เพื่อแก้ไขปัญหาในที่ราบสูงโกลาน และมีความพยายามเจรจาต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ และอิสราเอลมีความต้องการที่จะคืนดินแดนแค่บางส่วนให้ซีเรียเท่านั้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2000 ซีเรียยืนกรานข้อเรียกร้องว่าอิสราเอลต้องถอนตัวออกจากดินแดนที่ราบสูงโกลานทั้งหมด การเจรจายังคงดำเนินไปถึงปี ค.ศ. 2008 โดยมีตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของทั้งสองประเทศเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่การเจรจาก็ไม่สำเร็จ
ในปัจจุบันยังชาวซีเรียยังคงเรียกร้องดินแดนคืนจากอิสราเอลทั้งหมด แต่อิสราเอลก็ยังคงดำเนินการจัดตั้งถิ่นที่อยู่ชาวยิวในที่ราบสูงโกลาน และจัดการพื้นที่เสมือนเป็นดินแดนของตนเองแต่ในทางทฤษฎีแล้วดินแดนแห่งนี้ถูกครอบครองโดยอิสราเอลอย่างผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
อ้างอิง:
BBC. (2019). Golan Heights: Trump signs order recognising occupied area as Israeli, from www.bbc.com/news/world-middle-east-47697717
Encyclopedia Britannica. (2019). Golan Heights, from www.britannica.com/place/Golan-Heights