๑๐๐ ปี “ศตวรรษา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานน้ำสังข์แก่ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ในงาน ๑๐๐ ปี “ศตวรรษา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร” ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2562

เมื่อวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2562 เวลา 14.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในงานเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ในโอกาสที่จะมีอายุครบ 100 ปี ในวันที่ 21 มีนาคมนี้ ในงาน ๑๐๐ ปี “ศตวรรษา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร” ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานกรรมการจัดงานเชิดชูเกียรติฯ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะกรรมการจัดงานเชิดชูเกียรติฯ เฝ้าฯ รับเสด็จ

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ ประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2531 เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2461 ที่จังหวัดแพร่ เป็นบุตรของนายบุญเรือง และนางกิมไล้ ได้สมรสกับนางเยาวลักษณ์ (ลีละชาติ) มีบุตรคือ ดร.ปิยพร ณ นคร หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว ในปี พ.ศ. 2507 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสมทรง (โหตระกิตย์) มีบุตรสาว 1 คน คือ นางเสมอใจ (ณ นคร) บุญวิรัตน์

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ในระดับประถมศึกษา ระดับระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ และเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 – 8 ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยจังหวัดเชียงใหม่ และศึกษาในระดับมัธยมมัธยมศึกษาปีที่ 8 อีกครั้งที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ

พ.ศ.2481 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางวิศวกรรมเกษตร จากมหาวิทยาลัยพิลิปปินส์

พ.ศ.2486 สำเร็จการศึกปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต

พ.ศ.2500 สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก ทางด้านสถิติจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์

พ.ศ.2516 ได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2518 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

พ.ศ. 2527 ได้รับปริญญาศึกษาศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. 2528 ได้รับปริญญาครุศาสตรอุตสาหกรรมดุษฎีบัณฑิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า

พ.ศ. 2531 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2535 ได้รับ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ศ. 2536 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางภาษาไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. 2540 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางด้านดนตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในด้านการศึกษาของชาติหลายตำแหน่ง อาทิเช่น รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รักษาการเลชาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ รักษาการรองเลขาธิการฝ่ายสังคมศาสตร์สภาวิจัยแห่งชาติ รักษาการหัวหน้าส่วนรายได้ประชาชาติ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ รวมถึงปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นต้น

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงขับร้องเพลง “ฝากรัก” พระราชทานศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร สนใจงานด้านคณิตศาสตร์ สถิติ การคำนวณปฏิทิน การแต่งเพลง พันธุศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาไทยโบราณ มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับและอ้างถึงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ การชำระประวัติศาสตร์สุโขทัย ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไทย หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย การแบ่งกลุ่มไทยตามตัวหนังสือ พจนานุกรมไทยอาหม ตัวอักษรไทยในล้านนา ที่มาของอักษรไทยล้านนาและไทยลื้อ นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งภายในและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 100 บทความ

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในวงวิชาการว่า เป็นปรมาจารย์ในด้านไทยศึกษา ที่มีความรอบรู้ในลักษณะสหวิทยาการ ทั้งคณิตศาสตร์ สถิติ ประวัติศาสตร์ไทย ปฏิทินไทย ภาษาไทย จารึก ศิลปวรรณคดี และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับการขยายขอบเขตของไทยศึกษา ไปสู่ไทศึกษาหรือการศึกษาเรื่องของชนเผ่าไทอื่น ๆ นอกประเทศไทย ผลงานทางวิชาการของท่านมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไท การสืบค้นภาษาไทในเมืองจีน แนวการปริวรรตอักษรพื้นเมืองล้านนา ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก เล่าเรื่องในไตรภูมิพระร่วง ความสำคัญของวรรณคดีท้องถิ่น หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย ประวัติศาสตร์ล้านนาจารึก ความเห็นเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรื่องเกี่ยวกับศิลาจารึกสุโขทัย และศักราชในจารึกสมัยสุโขทัย เป็นต้น ผลงานเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และใช้อ้างอิงในวงวิชาการเสมอมา นักวิชาการหลายสาขาอ้างอิงแนวคิดหรือข้อเสนอของท่าน เพียงใช้อักษรย่อว่า ป.ณ

ขอบคุณภาพจากเพจ : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

ที่มาข้อมูลประวัติศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

เว็บไซต์ หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถสืบค้นเพิ่มได้ที่ http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p086.html

เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ประเสริฐ ณ นคร สามารถสืบค้นเพิ่มได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/ประเสริฐ_ณ_นคร

เว็บไซต์สมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สามารถสืบค้นเพิ่มได้ที่ http://www.archaeoalumni.org/hall-of-fame-detail /ประเสริฐ-ณ-นคร

ดูข่าวงาน ๑๐๐ ปี “ศตวรรษา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร”