“วงอิฐปริศนา” เขาศรีวิชัย ข้อมูลใหม่จากงานโบราณคดีภาคสนาม

"วงอิฐปริศนา" เขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เพจ โบราณคดีเขาศรีวิชัย – สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้เผยแพร่ข้อมูลงานโบราณคดีภาคสนาม เขาศรีวิชัย หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เขาพระนารายณ์ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่าเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการขุดปรับพื้นที่ลานด้านทิศใต้ของโบราณสถานหมายเลข 1 ได้ขุดพบแนวอิฐก่อเป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง วงใน 1.05 เมตร วงนอก 1.45 เมตร สภาพที่เหลือเป็นอิฐก่อ 2-3 ชั้น มีดินฉาบที่พื้นและขอบวงภายใน ปรากฏร่องรอยเป็นดินเผาไฟ สีเทาอ่อน-เข้ม

พิจารณาตำแหน่งที่ตั้ง อยู่ทางทิศใต้หรือทางด้านหลังของโบราณสถานหมายเลข 1 (โบราณสถานหมายเลข 1 ตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือ) บริเวณเกือบจะกึ่งกลางแนว โดยอยู่ห่างจากตัวอาคารเพียง 4.10 เมตร

จากนั้นได้ขุดตรวจสอบ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 1ใน 4 ส่วน แล้วขุดลงไปเพื่อพิสูจน์ว่าจะยังมีแนวอิฐลึกลงไปอีกหรือไม่ ผลปรากฏว่า ไม่มีแนวอิฐลึกลงไป แสดงว่า วงอิฐนี้ไม่ใช่บ่อน้ำ

ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าวงอิฐนี้ น่าจะใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟ ณ บริเวณลานด้านหลังของโบราณสถาน ซึ่งเป็นลานปูอิฐ

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า วงอิฐนี้น่าจะเป็น “เตาเลี้ยงไฟศักดิ์สิทธิ์” อีกทั้งยังมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่สอดคล้องกับคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ (อ้างอิงจาก เฟสบุ๊คแฟนเพจ ไวทิกทรฺศน)

เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างดินเผาไฟ เพื่อนำไปตรวจทางวิทยาศาสตร์ต่อไป เพื่อหาองค์ประกอบของสิ่งที่คาดว่าน่าจะเคยถูกนำมาเผาไฟ อาทิ คราบน้ำมัน ซากพืช หรือซากสัตว์ เป็นต้น และมีแผนการดำเนินงานบูรณะ โดยรักษาแนวอิฐวงกลมนี้ไว้ เป็นหลักฐานสำหรับการศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ โบราณคดีเขาศรีวิชัย – สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2562