พบ! แผ่นทวีปโบราณใต้น้ำแข็งแอนตาร์กติกา หรือจะเป็น “แอตแลนติส” อาณาจักรในตำนาน?

ภาพแผ่นน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกา เผยแพร่โดย NASA เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2018 (ภาพจาก AFP)

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วารสารออนไลน์ Scientific Reports เผยแพร่ข่าวที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการค้นพบแผ่นพื้นดินโบราณภายใต้แผ่นน้ำแข็งหนาราว 2 กิโลเมตรที่ทวีปแอนตาร์กติกา

การค้นพบนี้เป็นผลงานการสำรวจของดาวเทียมที่มีชื่อว่า GOCE (Gravity Field and Steady-State Ocean Circulation Explorer) ดาวเทียมขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency)  ที่โคจรรอบโลกด้วยระยะความสูงจากพื้นเพียง 255 กิโลเมตร หรืออยู่ต่ำกว่าดาวเทียมทั่ว ๆ ไปถึง 500 กิโลเมตรเพื่อตรวจวัดแรงโน้มถ่วงของโลกสำหรับการทำแผนที่โน้มถ่วง

การค้นพบในครั้งนี้ไม่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับนักธรณีวิทยาเท่านั้น แต่เชื่อว่ายังสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่เคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานของอาณาจักรในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้สาบสูญไปแล้ว เป็นอาณาจักรที่พบว่ามีอยู่ในบันทึกของนักปราชญ์ชาวกรีกเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน อาณาจักรนี้มีชื่อว่า “แอตแลนติส (Atlantis)”

อาณาจักรแอตแลนติสนี้ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกเมื่อราว 360 ปีก่อนคริสตกาลโดยเพลโต (Plato) นักปรัชญาชาวกรีก เขากล่าวถึงแอตแลนติสไว้ราวกับว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นดังดินแดนแห่งความฝัน ทุกสิ่งทุกอย่างสมบูรณ์แบบไปหมด ผู้สร้างอาณาจักรเป็นครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ ส่วนชาวแอตแลนติสเองก็เป็นนักรบทางน้ำที่เก่งกาจ

ลักษณะของเมืองคือเป็นเกาะรูปร่างเหมือนวงแหวนหลายวงซ้อนกัน แต่ละวงกั้นด้วยคูน้ำ มีคลองเชื่อมต่อให้เดินทางหากันได้จากเกาะที่อยู่วงนอกสุดเข้าไปถึงเกาะที่อยู่ใจกลางซึ่งเป็นเมืองหลวง นอกจากนี้แอตแลนติสยังมีแร่ธาตุมีค่าหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ทอง เงิน หรือ โลหะมีค่าต่าง ๆ อีกทั้งยังมีสัตว์แปลกและหายากอยู่มากมาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงราว 9,500 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรนี้ก็ต้องล่มสลายลงจากภัยธรรมชาติ คือแผ่นดินไหวและน้ำท่วม หรือที่บางคนอธิบายไว้ภายหลังว่าคือ สึนามิ ที่จมอาณาจักรทั้งอาณาจักรลงไปอยู่ใต้ท้องทะเลจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าอาณาจักรโบราณนี้มีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการอุปมาอุปไมยของเพลโต

เรื่องของแอตแลนติสนี้ไม่ได้พบแต่ในงานเขียนของเพลโตคนเดียวเท่านั้น แต่พบว่ายังได้เป็นที่กล่าวถึงโดยนักเขียนคนอื่น ๆ ในยุคถัดมา ไม่ว่าจะเป็นอริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีก ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ อิกเนเทียส ดอนเนลลี (Ignatius L. Donnelly) หนึ่งในสมาชิกรัฐสภาและนักเขียนชาวอเมริกันผูู้มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าอาณาจักรแอตแลนติสไม่ใช่เพียงเรื่องแต่งอย่างแน่นอน

ดอนเนลลีเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า Atlantis: The Antediluvian World ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1821 กล่าวอ้างถึงทฤษฎีต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าแอตแลนติสครั้งหนึ่งเคยมีอยู่จริง อีกทั้งยังเป็นนครที่เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่ถูกส่งต่อให้กับคนในวัฒนธรรมอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้นดอนเนลลียังเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราจะค้นพบอาณาจักรนี้ และเมื่อถึงเวลานั้นพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกจะเต็มไปด้วยวัตถุโบราณจากดินแดนดังกล่าว

หนังสือของดอนเนลลีทำให้เรื่องของอาณาจักรแอตแลนติสกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย มีการสันนิษฐานถึงตำแหน่งที่ตั้งของแอตแลนติสไว้อยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่บริเวณประเทศสเปน เกาะบาฮามาส มหาสมุทรแอตแลนติก และแน่นอนว่าที่ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นดินแดนสุดท้ายบนโลกที่ถูกค้นพบ คือเมื่อ ค.ศ. 1820 หรือเมื่อเกือบ 2 ศตวรรษที่แล้วเท่านั้น จึงนับเป็นดินแดนที่ยังมีความลึกลับ และยังต้องการการศึกษาค้นคว้าอีกมาก

การค้นพบแผ่นเปลือกโลกโบราณใต้น้ำแข็งหนาที่แอนตาร์กติกานั้นถือเป็นข่าวใหญ่ที่นำไปสู่การศึกษาทางธรณีวิทยาในขั้นต่อไป ในขณะเดียวกันก็เป็นข่าวที่สร้างความตื่นเต้นให้กับนักประวัติศาสตร์และผู้สนใจดินแดนในตำนานทั้งหลายว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าแผ่นดินใต้น้ำแข็งนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรในอุดมคติที่มีชื่อว่า “แอตแลนติส” ?


อ้างอิง

Drye, Willie. “Atlantis”. National Geographic. 20 Dec 2018, <https://www.nationalgeographic.com/archaeology-and-history/archaeology/atlantis/>

Griffiths, Rhys. “National Gallery: Antarctica”. History Today. 20 Dec 2018, <https://www.historytoday.com/rhys-griffiths/national-gallery-antarctica>

Radford, Benjamin. “‘Lost’ City of Atlantis: Fact & Fable”. Live Science. 20 Dec 2018, <https://www.livescience.com/23217-lost-city-of-atlantis.html>

“ESA’s Gravity-Mapping Reveals Relics of Ancient Continents Under Antarctic Ice”. ESA. 20 Dec 2018 <https://www.esa.int/Our_Activities/Observing_the_Earth/GOCE/ESA_s_gravity-mapper_reveals_relics_of_ancient_continents_under_Antarctic_ice>