ภาพวาดโดยระบบคอมพิวเตอร์ (AI) จะถูกประมูลครั้งแรก เพิ่มคุณค่าหรือโลกศิลป์ถูกคุกคาม?

หัวข้อถกเถียงเรื่องการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แผ่ขยายไปทั่ว ไม่เว้นแม้แต่แวดวงศิลปะ เมื่อผู้จัดประมูลของมีค่าชื่อดังอย่าง Christie’s เตรียมนำภาพที่ผลิตโดยอาศัยระบบการทำงานของชุดโปรแกรมคำสั่งแบบปัญญาประดิษฐ์มาประมูลเป็นครั้งแรกในปลายเดือนตุลาคมนี้

การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ตลอดทศวรรษที่ผ่านมานำมาสู่บทบาทของเครื่องจักรที่เข้ามาช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกในการทำงานด้านต่างๆ เครื่องจักรสามารถขับรถแทนมนุษย์ หรือผลิตงานเขียนระดับเบื้องต้นได้ เครื่องจักรที่ถูกพัฒนามา “ช่วย” งานไม่ได้นำมาซึ่งหัวข้อสนทนาเชิงบวกเพียงอย่างเดียว คนจำนวนไม่น้อยต่างกังวลว่าเครื่องจักรอาจ “ทดแทน” กำลังแรงงานหรือความสามารถของคนในการทำงานหลายด้านไม่เว้นแม้แต่งานเชิงศิลปะที่ไม่เพียงต้องมีทักษะยังต้องถ่ายทอดอารมณ์และความนึกคิดอีกด้วย

Advertisement

การพัฒนาของ AI มาถึงขั้นที่เครื่องจักรสามารถสร้างงานศิลปะได้ในกรณีที่มนุษย์ป้อนข้อมูลงานศิลปะให้ระบบ “เรียนรู้” สุนทรียศาสตร์ จากภาพวาดบุคคลในอดีตจำนวนมาก จากนั้นระบบที่ถูกโปรแกรมเอาไว้ก็ผลิตภาพวาดบุคคลซึ่งถูกตั้งชื่อว่า “Portrait of Edmond Belamy” หรือ “ภาพวาดเอ็ดมันด์ เบลามี” (คลิกชมภาพที่นี่)

กระบวนการสร้างภาพวาดโดย AI เริ่มต้นจากกลุ่มศิลปินในฝรั่งเศส Hugo Caselles-Dupré, Pierre Fautrel และ Gauthier Vernier ป้อนชุดข้อมูลเป็นภาพวาดบุคคลในอดีตระหว่างยุคศตวรรษที่ 14-20 รวมแล้วประมาณ 15,000 รูปเข้าไปในระบบเพื่อให้ระบบโปรแกรมเรียนรู้เชิงศิลป์ จากนั้นโปรแกรมจึงสร้างงานตามโปรแกรมจากพื้นฐานสูตรจากคณิตศาสตร์ซึ่งทีมงานป้อนเข้าไป

ผลงานล่าสุดของทีมศิลปินจากปารีสเป็นหนึ่งในชุดผลงานภาพวาดตระกูล Belamy ซึ่งถูกสมมติขึ้นมา ภาพวาดโดย AI ที่เรียกชื่อเต็มว่า “Portrait of Edmond Belamy” อาจไม่ได้ออกมาสมบูรณ์แบบ การจัดวางองค์ประกอบในภาพวาดเยื้องไปทางมุมซ้ายบน แต่ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นหลักไมล์ใหม่ในแวดวงศิลปะก็ว่าได้ในฐานะภาพวาดโดย AI ชิ้นแรกที่จะถูกประมูลในระดับนานาชาติโดยผู้จัดประมูลแถวหน้าของโลก

หากพิจารณาภาพวาดบุคคลที่ AI สร้างขึ้น และเตรียมนำออกประมูลระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ ด้านมุมขวาล่างของภาพซึ่งปกติมักเป็นจุดที่พบลายมือศิลปินลงนามแสดงตัวว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน กรณีภาพของ AI มุมขวาล่างของภาพกลับปรากฏสูตรทางคณิตศาสตร์

Ahmed Elgammal ผู้อำนวยการแล็บด้านศิลปะและปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัย Rutgers แสดงความคิดเห็นผ่านบทความในหัวข้อเรื่องศิลปะของ AI ว่า คำถามเรื่องเส้นแบ่งระหว่างงานที่สร้างโดยศิลปินกับงานที่สร้างโดยสิ่งที่เรียกว่าชุดโปรแกรมคำสั่งสำหรับงานทางศิลปะถูกพูดถึงมาตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ศิลปินหลายรายเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างงาน “ศิลปะ” แต่กระบวนการกำหนดให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างงานยังต้องมาจากการเขียนชุดคำสั่งโดยมนุษย์เพื่อกำหนดผลลัพธ์โดยที่มีโครงร่างของผลลัพธ์เอาไว้แล้ว

ผลงานศิลปะที่สร้างโดย AI ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ถูกสร้างผ่านชุดโปรแกรมคำสั่ง (Algorithms) ที่เรียกว่า GAN (Generative adversarial networks) ซึ่งถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยวิศวกรคอมพิวเตอร์รายหนึ่งเมื่อปี 2014 กระบวนการทำงานพื้นฐานคือระบบที่แบ่งแยกการทำงานออกเป็นคู่ตรงข้าม ด้านหนึ่งคือปัญญาประดิษฐ์จะร่างเซ็ตภาพแบบสุ่มออกมา ขณะที่อีกด้านก็เรียนรู้จากชุดภาพต้นแบบที่ถูกป้อนเข้าไปในระบบให้โปรแกรมเรียนรู้ว่าจะสร้างงานออกมาให้สอดคล้องกับชุดภาพต้นแบบ (ซึ่งถูกป้อนเข้าไปในฐานะโครงร่างอ้างอิง) ให้มากที่สุดได้อย่างไร

เมื่อภาพวาดในช่วงเวลา 500 ปีหลังถูกป้อนเข้าไปในโปรแกรม คอมพิวเตอร์จะพยายามประมวลผลออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับต้นแบบ จนออกมาเป็นผลลัพธ์ที่เป็นเซ็ตภาพชุดหนึ่ง จากนั้นศิลปินจะเป็นผู้เลือกว่าจะนำภาพไหนบ้างมาใช้งาน

กระบวนการโดยรวมแล้วอาจยังพอเรียกได้ว่ามีองค์ประกอบของ “แนวคิดการสร้างสรรค์” ผลงานอยู่จากที่เห็นได้ว่าศิลปินมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งก่อนและหลังโปรแกรมผลิตชิ้นงานออกมาเป็นผลลัพธ์จากการป้อนข้อมูล ศิลปินยังต้องปรับแต่งชุดโปรแกรมคำสั่งทางคอมพิวเตอร์เพื่อกำหนดทิศทางผลลัพธ์ให้ออกมาตามกรอบที่อยากได้

เมื่อผลงานเหล่านี้มาถึงขั้นถูกนำไปประมูล อนาคตของวงการศิลปะจะเป็นอย่างไร

ริชาร์ด ลอยด์ ผู้เชี่ยวชาญของ Christie’s ที่จัดการประมูลครั้งนี้ขึ้นมองว่า ไม่ว่าใครจะสร้าง แต่อย่างน้อยผลลัพธ์ที่ออกมาก็พอจะถือได้ว่าเป็นภาพวาดบุคคลอยู่ดี และเป็นภาพวาดแบบเดียวกับที่พวกเขานำมาประมูลอย่างยาวนาน

เมื่อดูรายละเอียดของภาพวาดบุคคลโดย AI อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขาดหายไปคือรายละเอียดบนใบหน้า ผลงานภาพวาด “บุคคล” โดย AI เหมือนออกมาในลักษณะ งานศิลปะที่เป็นภาพวาดแบบ Conceptual Art ในยุค 60s ซึ่งถูกมองว่า ให้ความสำคัญกับแนวคิดเบื้องหลังและกระบวนการสร้างงานมากกว่าผลลัพธ์ที่ออกมา ศิลปินบางรายวิจารณ์ผลงานของ AI ว่า ซ้ำซากจำเจ และน่าเบื่อ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากแล็บด้านศิลปะและปัญญาประดิษฐ์มองว่า งานจากศิลปินที่ป้อนข้อมูลภาพแนวเร้ากามารมณ์ให้ AI ใช้สร้างงานจนได้ผลลัพธ์ออกมาในลักษณะ Conceptual Art ก็เคยคว้ารางวัล Lumen (รางวัลสำหรับศิลปะที่ถูกสร้างโดยเทคโนโลยี) มาแล้ว