กรมศิลปากรชี้แจงโครงการบูรณะหอระฆัง หรือ “เจดีย์ยักษ์” วัดพระยาทำวรวิหาร

กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร ได้เพยแพร่ข้อมูลผ่านเพจฯ ว่า วันพุธที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๑.๐๐ น. นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย นายอารักษ์ สังหิตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เจ้าหน้าที่สำนักสถาปัตยกรรม และเจ้าหน้าที่กองโบราณคดี ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการบูรณะหอระฆัง วัดพระยาทำวรวิหาร แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

๑. ประวัติความเป็นมาของโครงการ
วัดพระยาทำวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่เลขที่ ๔๗ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงบ้านช่างหล่อเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด แต่ น. ณ ปากน้ำ ได้กำหนดอายุจากหลักฐานคือธรรมาสน์บนศาลาการเปรียญว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย

เดิมมีชื่อว่า วัดนาค เป็นวัดคู่กับ วัดกลาง ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองมอญ เขตบางกอกน้อย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์ โดยแบบสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วสถาปนาเป็นวัดหลวง และเปลี่ยนชื่อจากวัดนาค เป็น วัดพระยาทำ

สิ่งสำคัญภายในวัดคือ หอระฆัง หรือเรียกกันติดปากว่า เจดีย์ยักษ์ มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ คือเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ประดับกระเบื้องเคลือบ ส่วนฐานเป็นช่องโค้งแหลมทั้ง ๔ ด้าน กรอบของช่องโค้งนี้ มีรูปครุฑเหยียบนาคทั้ง ๔ ช่อง ตรงมุมล่างติดพื้นดินมีรูปปั้นยักษ์ยืนประจำทั้ง ๔ มุม มุมละ ๔ ตน ชั้นบนมีรูปปั้นยักษ์ทั้ง ๔ ทิศ ยอดหอระฆังทำเป็นทรงปราสาท

จากการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หอระฆังแห่งนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ ๓ และ ๕ ตามลำดับ ข้อมูลจากเจ้าอาวาสวัดพระยาทำวรวิหาร ได้ความว่าหอระฆังแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๕ ทางวัดพระยาทำได้แจ้งมายังกองโบราณคดี ถึงสภาพความชำรุดเสียหายของ หอระฆัง เมื่อดำเนินการสำรวจสภาพแล้วพบว่า หอระฆังมีความชำรุดเสื่อมสภาพตั้งแต่ชั้นปูนฉาบถึงชั้นโครงสร้างอิฐ และได้รับการถมพื้นที่โดยรอบโดยปิดทับองค์ประกอบชั้นฐานหอระฆังบางส่วน ทำให้โบราณสถานสูญเสียคุณค่าในด้านสถาปัตยกรรม

๒. การดำเนินงานทางโบราณคดี
ประกอบด้วยการตรวจสอบภาพถ่ายเก่าจากสำนักหอจดหมายเหตุชาติ และการขุดตรวจทางโบราณคดี สรุปผลดังนี้
– การตรวจสอบภาพถ่ายเก่า สันนิษฐานว่าน่าจะถ่ายในช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ พบฐานเขียงสี่เหลี่ยม ปรากฏรูปปั้นส่วนลำตัวและเศียรนาคที่ประดับช่องโค้งแหลมทั้ง ๔ ด้าน ส่วนเท้ายักษ์ตั้งอยู่บนฐานเขียง
– การขุดตรวจทางโบราณคดี พบฐานที่เป็นอิฐเก่า ๓ ระดับ สันนิษฐานได้ว่าเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมลบมุมซ้อนกัน ๓ ชั้น น่าจะสร้างขึ้นก่อนอุโบสถ และมีการตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบ

๓. เป้าหมายการดำเนินงานตามโครงการ
– ขุดค้นทางโบราณคดี
– ปรับยกหอระฆัง
– บูรณะหอระฆัง

๔. การปรับยกหอระฆัง
เนื่องจากหอระฆังถูกใช้งานสืบมาหลายยุคสมัย มีการปรับถมพื้นที่โดยรอบจนไม่เห็นฐานส่วนล่างซึ่งถูกดินทับถมลึกกว่า ๑.๓๐ เมตร จึงมีความจำเป็นต้องปรับดีดยกหอระฆังขึ้น เพื่อให้เห็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมครบถ้วน

๕. กระบวนการปรับยกหอระฆัง
– ขุดตรวจทางด้านโบราณคดีเพื่อหารูปแบบด้านสถาปัตยกรรมส่วนฐานเพื่อการตัดยก
– ดำเนินการตัดยกโดยการใส่ H Beam
– ทำเสาเข็ม ตำแหน่งของขอบฐานหอระฆัง และส่วนกลางฐานหอระฆัง
– ทำคานส่งถ่ายแรงด้วยคานแบบ H beam บนหัวเสาเข็มทุกต้น
– ทำการ Reload เพื่อให้น้ำหนักคานถ่ายลงสู่เสาเข็ม
– ทำการขุดดินตัดด้านล่างคาน โดยให้หอระฆังตั้งลงบนแผ่นเหล็กที่สามารถตั้งตรงบน H beam อย่างปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมยกขึ้น
– ทำการยกด้วยแม่แรงไฮโดรริคทั้งหมด ๓๒ จุด

๖. การดำเนินงานปรับยก เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑
– ขั้นต้นจากการปรับยก โดยปรับระดับให้ตั้งตรง
– ยกหอระฆังขึ้นพร้อม ๆ กัน จนถึงการเกิดเหตุเมื่อยกถึงระดับ ๕๐ เซนติเมตร
– ขณะที่ทำการยกหอระฆังได้ที่ระดับ ๕๐ เซนติเมตร โครงสร้างรับฐานเป็นโครงเหล็ก H beam ทั้งหมด และมีเสาเหล็กรอบฐานเพื่อประคองไม่ให้มีการขยับด้านข้างเกิดการเสียดสีจนเกิดแรงกระชากชั่วขณะ ทำให้หอระฆังขยับตัวในแนวดิ่งกลับสู่ระดับเดิม ทำให้ชิ้นส่วนปูนปั้นด้านบนหล่นลงมาด้านล่าง

๗. การแก้ปัญหาเบื้องต้น
– หยุดการปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อทำการตรวจสอบหาสาเหตุโดยละเอียด
– ปกป้องโบราณสถานให้คงอยู่ ไม่ให้พังทลายหรือเสียหายเพิ่มขึ้นอีก
– สำรวจตรวจสภาพพื้นที่ทั้งหมดโดยละเอียด เพื่อปรับปรุงแผนดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์

กรมศิลปากร
๒๖ กันยายน ๒๕๖๑

[ข้อมูลและภาพจากเพจ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร]