เผยแพร่ |
---|
A Life in Shadows นิทรรศการภาพถ่ายสารคดี โดย Constantine Korsovitis ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน พิธีเปิดนิทรรศการ: วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2561 เวลา 16.00-19.00 น. คณะหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง จะจัดการแสดงสั้นๆ ช่วงพิธีเปิด
นิทรรศการ A Life in Shadows ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล PhotoBangkok 2018 จัดแสดงระหว่างวันที่ 3-26 สิงหาคม 2561 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เปิดทำการวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. ปิดทำการทุกวันจันทร์
นิทรรศการ A Life in Shadows นำเสนอภาพถ่ายสารคดีที่บันทึกวัฒนธรรมการเล่าเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่งจำนวนกว่า 30 รูป ความละเอียดอ่อน ความลุ่มลึก และคุณค่าของการเชิดหนังและศิลปินแขนงนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา คือสิ่งที่นิทรรศการนี้มุ่งสำรวจ แม้ว่าประเทศที่กล่าวถึงเหล่านี้จะมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง แต่คุณลักษณะทางวัฒนธรรม ศาสนา ภาษา และชนชาติหลายประการมีความคล้ายคลึงกัน การเชิดหนังเป็นศิลปะที่คนในภูมิภาคนี้มีร่วมกัน และสายใยที่เชื่อมการเชิดหนังของแต่ละประเทศเข้าด้วยกันก็คือการใช้มหากาพย์ฮินดูเรื่องรามายณะและมหาภารตะในการแสดง
ในปี 2557 Constantine Korsovitis เริ่มศึกษาศิลปะการเชิดหนังโดยถ่ายภาพและสัมภาษณ์นายหนัง นักดนตรี และช่างฝีมือที่ทำหนัง แนวคิดเบื้องหลังการทำงานคือการหาว่าบุคคลที่อยู่ภายใต้ความเป็นศิลปินและการแสดงนั้นคือใคร Constantine สนใจแรงกดดันที่ศิลปะแนวประเพณีต้องเผชิญในโลกปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็เฉลิมฉลองจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์และเชิดชูศิลปินที่สร้างสรรค์ศิลปะที่งดงามนี้ขึ้นมา ซึ่งหลายรายได้อำลาโลกนี้ไปแล้วนับแต่โครงการนี้เริ่มต้นขึ้น
“ศิลปินแขนงนี้เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ความลุ่มลึก และความเป็นประวัติศาสตร์ที่เด่นชัด” Constantine กล่าวถึงการเชิดหนังในอุษาคเนย์ “ผมต้องการให้งานสะท้อนให้เห็นความสำคัญของนักเล่าเรื่องเหล่านี้ และทักษะและความทุ่มเทที่นายหนังต้องมี ศิลปินเหล่านี้ต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ทุกวันเพื่อให้เสียงของตนเป็นที่รับรู้ และให้สาธารณชนได้ฟังและเห็นเรื่องราวอันทรงคุณค่า ผมตระหนักถึงความรับผิดชอบในฐานะช่างภาพและมนุษย์คนหนึ่งที่จะบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา แม้ว่าการเชิดหนังจะไม่ใช่วัฒนธรรมของผมเองก็ตาม”
A Life in Shadows เผยให้เห็นภาพบางเสี้ยวของชีวิตศิลปินนอกบริบทการแสดงและการทำงาน เป้าหมายของโครงการเป็นมากกว่าการบันทึกภาพเชิงสารคดี โดยพยายามที่จะยกระดับการตระหนักรู้และความชื่นชมที่มีต่อศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมแขนงต่างๆ ทั้งในภูมิภาคนี้และทั่วโลก โครงการนี้มีแผนที่จะตีพิมพ์หนังสือและจัดทำแหล่งข้อมูลเปิดเกี่ยวกับการบันทึกและงานวิจัยการเชิดหนัง หลังจากจบนิทรรศการที่กรุงเทพ นิทรรศการนี้จะไปจัดแสดงต่อที่สิงคโปร์ ซิดนีย์ กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตา
นิทรรศการได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม และ Karma Images