นักวิทย์ชี้ “กริชตุตันคามุน” ทำจาก “เหล็กหินอุกกาบาต” ก่อนชาวอียิปต์จะรู้จักวิธีการถลุงเหล็ก

โลงทองคำของฟาโรห์ตุตันคามุน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2016 AFP PHOTO / MOHAMED EL-SHAHED

กริชที่ถูกพบอยู่ในห่อพระศพของฟาโรห์ตุตันคามุนในปี 1925 โดย ฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า วัสดุที่ใช้ทำกริชเล่มนี้คือเหล็กที่มาจาก “หินอุกกาบาต” พบมีนิกเกิล 10 เปอร์เซนต์ และโคบอลต์อีก 0.6 เปอร์เซนต์

ดาเนียลา โคเมลลี (Daniela Comelli) ศาตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์วัสดุ มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งมิลาน ประเทศอิตาลี หัวหน้าทีมวิจัยในการค้นพบครั้งนี้กล่าวกับ CBC สื่อแคนาดาผ่านทางอีเมลว่า กริชเล่มนี้มีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสตกาล เป็นโบราณวัตถุที่ทำจากเหล็กเพียงไม่กี่ชิ้นที่เคยถูกพบในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ ซึ่งเชื่อกันว่ายังไม่มีวิทยาการในการถลุงเหล็กได้จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล ช้ากว่าดินแดนอื่นๆรอบข้าง

การวิเคราะห์วัสดุครั้งนี้ใช้กระบวนการที่เรียกว่า เอ็กซ์เรย์ฟลูออเรสเซนส์ (X-ray fluorescence) ซึ่งจะช่วยระบุธาตุที่ต่างกันด้วยสีเฉพาะตัวจากแสงเอ็กซ์เรย์ที่สะท้อนออกมา เมื่อวัตถุนั้นๆถูกกระทบด้วยคลื่นเอ็กซ์เรย์ที่มีพลังงานสูงกว่า ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า เนื้อกริชดังกล่าวมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับโลหะธาตุที่พบในหินอุกกาบาต

“ปัญหาของการผลิตเหล็กมาจากจุดหลอมเหลวที่สูงของมัน (1,538 องศาเซลเซียส) ด้วยเหตุนี้ ช่างยุคแรกจึงไม่อาจให้ความร้อนแก่สินแร่มากพอที่จะถลุงเนื้อเหล็กออกมาได้ และไม่อาจขึ้นรูปเป็นอาวุธได้” ข้อเขียนของโคเมลลีระบุ
โคเมลลีกล่าวว่า กริชเล่มนี้ถูกตีขึ้นอย่างปราณีตจากแร่เหล็กหินอุกกาบาต (เหล็กชนิดนี้จะถูกพบในลักษณะเนื้อโลหะอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องผ่านการถลุงจากสินแร่) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายรายก็เคยตั้งข้อสังเกตว่า กริชเล่มนี้ทำจากหินอุกกาบาตมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่มีการพิสูจน์เพื่อยืนยันอย่างแน่ชัดมาก่อน

รายงานของทีมวิจัยระบุว่า ก่อนหน้านั้นแร่เหล็กซึ่งทำมาจากหินอุกกาบาตถือว่ามีมูลค่าสูงยิ่งกว่าทอง มักถูกใช้เป็นเครื่องประดับหรือเพื่อประกอบพิธีกรรม การค้นพบครั้งนี้ยังทำให้เข้าใจว่าเหตุใดชาวอียิปต์ในกว่า 100 ปีให้หลังจึงบรรยายถึงแร่เหล็กว่าเป็น “เหล็กจากท้องฟ้า”

จอยซ์ ทิลเดสเลย์ (Joyce Tyldesley) ผู้บรรยายอาวุโสสาขาอียิปต์วิทยาประจำมหาวิทยาแมนเชสเตอร์ได้ให้ความเห็นต่อการค้นพบครั้งนี้ว่า

“สิ่งที่ไม่ปกติเกี่ยวกับกริชเล่มนี้ก็คือ ร่างของตุตันคามุนถูกฝังเมื่อครั้งที่ชาวอียิปต์แทบจะไม่รู้จักการใช้เหล็กมาก่อน” ทิลเดสเลย์กล่าวกับอัลจาซีรา

และแม้ว่า กริชเล่มนี้จะถูกพบในอียิปต์แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามันถูกทำขึ้นในอียิปต์ ทิลเดสเลย์จึงตั้งสมมติฐานว่า เป็นไปได้ที่กริชเล่มนี้จะถูกนำเข้ามาจากต่างแดน