นักวิจัยชี้ “ฮอบบิท” มนุษย์แคระที่ถูกพบในอินโดนีเซีย “ไม่ใช่มนุษย์”

กระโหลกศรีษะของ Homo floresiensis หรือฮอบบิท (ซ้าย) เมื่อเทียบกับกระโหลกศรีษะของมนุษย์ยุคใหม่ AFP PHOTO/ AGUS SUPARTO

งานวิจัยล่าสุดอ้าง “ฮอบบิท” สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ลึกลับขนาดเล็กในกลุ่มมนุษย์ยุคแรกที่ถูกค้นพบบนเกาะฟลอเรส ของอินโดนีเซียเมื่อปี 2003 และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Homo floresiensis แต่เป็นที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อเล่นว่า “ฮอบบิท” (มนุษย์แคระ) แท้จริงไม่ใช่มนุษย์ยุคใหม่อย่างที่หลายคนเชื่อกัน

ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการค้นพบสายพันธุ์อื่นใดที่คล้ายคลึงกับฮอบบิทมาก่อนตลอดช่วงเวลา 2 ล้านปีของวิวัฒนาการสายพันธุ์มนุษย์ โดยฮอบบิทเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดราว 1.1 เมตร มีน้ำหนักราว 25 กิโลกรัม และขนาดของสมองที่ไม่โตไปกว่าสมองลิงชิมแปนซีในปัจจุบัน

Advertisement

ฮอบบิทอาศัยอยู่บนเกาะฟลอเรสราวแสนปี ก่อนสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 15,000-18,000 ปีก่อน ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า มันเป็นสายพันธุ์ของมนุษย์ยุคใหม่ซึ่งอาจมีอาการผิดปกติทางพันธุกรรม หรือบ้างก็เสนอว่า พวกมันอาจเป็นมนุษย์ยุคใหม่ที่มีรูปร่างแคระแกร็น จากการพัฒนาสายพันธุ์บนเกาะที่ตัดขาดจากโลกภายนอก ซึ่งบนเกาะฟลอเรสแห่งนี้ก็เป็นถิ่นอาศัยของช้างสายพันธุ์แคระ (Stegodon) เช่นกัน

แต่งานวิจัยล่าสุดซึ่งเตรียมเผยแพร่ในนิตยสารแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ (Journal of Human Evolution) โดยสองนักวิจัยจากฝรั่งเศสซึ่งทำการศึกษากระโหลกศรีษะของ Liang Bua 1 (LB1) อีกครั้งด้วยเทคโนโลยีระดับสูงซึ่งสามารถให้รายละเอียดมากกว่าเทคโนโลยีเดิมซึ่งใช้ในการวิจัยก่อนหน้า 25 เท่า พบว่า ซากกระโหลกดังกล่าวมิได้มีลักษณะใดที่ตรงกับสายพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่

“โครงสร้างของกระโหลกมิได้มีลักษณะตรงกับกระโหลกของมนุษย์ยุคใหม่อย่างแน่นอน…หรือแม้กระทั่งมนุษย์ภายใต้สภาวะทางพยาธิวิทยา (มีโรคหรืออาการป่วย)” อองตวน บัลซู (Antoine Balzeau) หนึ่งในคณะวิจัยกล่าว หรือกล่าวง่ายๆว่า ฮอบบิทมิใช่มนุษย์ Homo sapiens ขนาดเล็ก หรือมนุษย์ Homo sapiens มีอาการป่วยแต่อย่างใด

จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ฮอบบิทมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับ Homo erectus (มนุษย์สายพันธุ์โบราณสายพันธุ์หนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคใหม่) มากกว่ามนุษย์โบราณสายพันธุ์อื่น แต่มีดวงตาที่เล็กมากๆ และมีความแตกต่างอยู่บ้างเล็กน้อย

บัลซูกล่าวว่า “หลายคนที่คิดว่ามันคือมนุษย์ยุคใหม่มักเป็นหมอ ซึ่งพวกเขามักวินิจฉัยโดยอาศัยลักษณะร่วมที่สอดคล้องกับอาการป่วยหรือพยาธิวิทยา”

อย่างไรก็ดี ความเห็นของนักวิจัยเกี่ยวกับฮอบบิทยังคงแตกเป็นหลายฝ่าย บ้างก็เชื่อว่า ฮอบบิทไม่ควรจัดอยู่ในสกุล Homo ด้วยซ้ำเนื่องจากมันมีลักษณะดั้งเดิมแบบกลุ่มลิงใหญ่คล้ายมนุษย์ที่เรียกว่า ออสตราโลพิเธคัส มากกว่า และด้วยเหตุที่กระโหลกศรีษะของฮอบบิทที่สมบูรณ์มีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นจึงยังเป็นเรื่องยากที่จะสรุปได้ในขณะนี้ว่าลักษณะเฉพาะที่ต้องตรงกันของสายพันธุ์นี้เป็นเช่นไร

ข้อมูลจากบทความ Mystery ancient hobbit ‘was not’ human โดย Melissa Hogenboom (BBC)