เมืองโบราณเพนียด จังหวัดจันทบุรี

ทับหลังศิลปะเขมรในประเทศไทย แบบถาลาบริวัต ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เมืองเพนียดหรือเมืองกาไวเป็นเมืองโบราณในจังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เชิงเขาสระบาปติดลำน้ำสาขาซึ่งไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย ลักษณะผังเมืองคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีคันดินล้อมรอบ พื้นที่ราว ๑,๖๐๐ ไร่ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๘ พบหลักฐานจารึก จำนวน ๓ หลัก คือ ๑. จารึกวัดทองทั่ว – ไชยชุมพล (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒)

จารึกวัดทองทั่ว – ไชยชุมพล อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ตัวอักษรปัลลวะ ภาษาเขมรและสันสกฤต จารึกบนกรอบประตู กล่าวถึง พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ กษัตริย์กัมพูชา สมัยก่อนเมืองพระนคร ครองราชย์ (พ.ศ. ๑๑๕๙ – ๑๑๘๐) ปัจจุบันเก็บรักษาโดยกรมศิลปากร

๒. จารึกเพนียด ๑ (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕) ๓. จารึกเพนียด ๕๒ (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕) และหลักฐานมากมาย เช่น พระหริหระแบบพนมดา (อายุราว พ.ศ.๑๐๘๐ – ๑๑๕๐) ทับหลังในสมัยต่างๆ โดยเฉพาะแบบถาลาบริวัต (พ.ศ.๑๑๕๐) ซึ่งเป็นลักษณะทางด้านศิลปกรรมของวัฒนธรรมเขมรโบราณที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียอันเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒

Advertisement
ทับหลังศิลปะเขมรในประเทศไทย แบบถาลาบริวัต ปัจจุบันจัดแสดงที่วัดทองทั่ว จ.จันทบุรี
แผนผังบริเวณโบราณสถานเพนียด โดย ลูเน่ เดอ ลา จองกิเยร์ ชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔
ภาพมุมสูงบารายโบราณสถานเพนียด

แสดงให้เห็นว่า เมืองเพนียดเป็นเมืองท่าในวัฒนธรรมเขมรที่ใกล้ชิดกับอินเดีย และเป็นชัยภูมิสำคัญที่เชื่อมอารยธรรมจากต่างถิ่นเข้าสู่พื้นที่ตอนในแผ่นดิน การสำรวจพบเมืองเพนียดโดยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๔๖ ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. ๒๔๗๘ ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ – ๒๕๔๕ สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๔ ปราจีนบุรี หรือสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรีในปัจจุบัน ได้ดำเนินงานโบราณคดีและบูรณะโบราณสถานด้านทิศเหนือ หรือคูเพนียด ลักษณะเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ สระ แต่ละสระมีขนาด กว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร กรุด้วยศิลาแลง มีบันไดทางขึ้น น่าจะสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

คูเพนียด ลักษณะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ สระ กรุด้วยศิลาแลง
บันไดทางขึ้นลงสระน้ำ

ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ กรมศิลปากรได้อนุมัติงบประมาณเงินกองทุนโบราณคดี จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ให้สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ดำเนินโครงการสำรวจทำแผนผังและขุดแต่งโบราณสถานเมืองเพนียด จากการดำเนินงานโบราณคดีที่ผ่านมา พบว่ายังมีพื้นที่ของเมืองเพนียดและโบราณวัตถุอีกจำนวนมากที่ควรค่าแก่การศึกษาค้นคว้า เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ทางวิชาการและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมต่อสาธารณชน

คูเพนียด ลักษณะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ สระ กรุด้วยศิลาแลง
คูเพนียด ลักษณะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ สระ กรุด้วยศิลาแลง

[ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร]