เตรียมบูรณะ “หอไตรสมัยสุโขทัย” วัดราชบูรณะจังหวัดพิษณุโลก

วัดราชบูรณะ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นับเป็นศาสนสถานแห่งหนึ่งที่บ่งบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติสาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลกที่สำคัญแห่งหนึ่ง เข้าใจว่าคงวัดเก่าแก่โบราณอาจจะมีอายุถึงสมัยสุโขทัยก็เป็นได้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยก่อนรัชสมัยพระยาลิไทแต่ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน

หอพระไตรปิฏก วัดราชบูรณะ เป็นหอไตรคอนกรีตกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 11 เมตร มีเสาปูนกลมเรียง 4 แถว แถวละ 4 ต้น สูงต้นละ 4 เมตร มีบัวหัวเสากลับ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นหอระฆัง ชั้นบนเป็นหอไตรเก็บรักษาพระคัมภีร์ต่างๆ หอไตรทำด้วยไม้สับแบบฝาประกบมีประตูทางเข้า 1 ประตู ทางทิศใต้มีระเบียงกว้าง 1 เมตร เดินได้โดยรอบ มีหน้าบัน 4 ทิศ เป็นปูนปั้น มีช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์ทุกมุมทั้ง 8 มุม ทิศเหนือและทิศใต้มีลายปูนปั้นรูปพระยาครุฑจับพระยานาค ยอดหอไตร มียอดเรียวแหลมคล้ายยอดของพระเจดีย์ที่มียอดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง รอบหอระฆังมีกำแพงแก้วล้อมรอบยาว 10 เมตร มีซุ้มประตูกำแพงด้านทิศใต้ หอไตรนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน พิจารณาตามรูปแบบสถาปัตยกรรมแล้วน่าจะสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย

พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ อำเภอเมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่าทางวัดราชบูรณะมีศาสนสถานที่บ่งบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลก จึงได้ประสานกับกรมศิลปากร เตรียมขอให้บูรณะหอไตรเก่าแก่ซึ่งเป็นหอเก็บพระไตรปิฏก สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย มีเสากลม 16 ต้น ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรม โดยเฉพาะหลังคาไม้ที่พุพัง เกรงว่าอาจจะหล่นใส่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมได้ จึงอยากให้ทางกรมศิลปากรได้เข้ามาตรวจสอบและบูรณะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาเรียนรู้เก่ี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลกต่อไป

 


ที่มาข้อมูลและภาพ : “วัดราชบูรณะ”เตรียมบูรณะหอไตรสมัยสุโขทัยหลังชำรุดทรุดโทรม. มติชนออนไลน์