สาวก “โปเกม่อนโก” แห่จับมอนส์เตอร์ใน “อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” สมัยเขมรแดง

สองหนุ่มกัมพูชาเดินเล่นโปเกม่อนโกด้านนอกพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลงในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2016 (AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY)

หลังจากที่ Niantic ผู้พัฒนาเกม “โปเกม่อนโก” (Pokemon Go) เปิดให้บริการในประเทศกัมพูชาเป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เหล่าชาวกัมพูชาที่รอคอยเกมฮิตระดับโลก จึงพากันออกตามหาสัตว์ประหลาดในสถานที่ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ในพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลงในกรุงพนมเปญ

โปเกมอนโก เป็นเกมที่พัฒนาขึ้นบนระบบค้นหาตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) เพื่อให้ผู้เล่นออกเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ในการตามจับสัตว์ประหลาดมาประลองกับผู้เล่นคนอื่นๆ หลายประเทศใช้เกมนี้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนมองว่า ผู้เล่นบางส่วนไม่ให้เกียรติต่อสถานที่และประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับสถานที่นั้นๆ

“พวกเขาไม่ควรมาที่นี่ มันยอมรับไม่ได้เลย” Chum Mey หนึ่งในผู้ต้องขังที่คุกตวลสเลงซึ่งรอดชีวิตมาได้กล่าวกับ Cambodia Daily “ที่นี่เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความรันทด และความเจ็บปวด”

รายงานของสื่อภาษาอังกฤษในกัมพูชากล่าวว่า ต้นไม้ต้นหนึ่งในสนามของพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง ได้กลายเป็น “ยิม” ของเกมโปเกมอนโก นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งจึงพากันเดินทางมายังที่แห่งนี้เพื่อตามจับสัตว์ประหลาดเพื่อทำการประลองกัน

“คนพวกนี้ไม่ได้รู้เรื่องราวเบื้องหลังอะไรเลย ที่นี่ก็แค่คุกแห่งหนึ่งสำหรับพวกเขา” แคโรไลน์ โง (Caroline Ngo) นักท่องเที่ยวชาวดัทช์ซึ่งแม่เป็นผู้อพยพชาวกัมพูชากล่าวถึงนักท่องเที่ยวที่พากันมาจับสัตว์ประหลาดทีตวลสเลง “พวกเขาแค่เดินมามองๆ แล้วหาอย่างอื่นทำต่อไป”

Chann Saochchang เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์วัย 24 ปี กล่าวว่า เขาเคยเห็นชาวกัมพูชาอายุไล่เลี่ยกับเขาเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์แต่อยู่แค่ 5 นาทีก็เดินออกไป หลังจับโปเกม่อนได้แล้ว

ด้าน Chhay Visoth ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ตวลสเลงกล่าวว่า เขาไม่ทราบมาก่อนว่า พื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ของเขากลายเป็นสนามเด็กเล่นของสาวกโปเกม่อนโกไปแล้ว ก่อนกล่าวว่า “ถ้าเรารู้ เราไม่อนุญาตให้พวกเขาเข้ามาหรอก”

ขณะเดียวกัน Youk Chhang ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลแห่งชาติของกัมพูชา (Documentation of Cambodia) กล่าวว่า ตำแหน่งเสมือนจริงในเกมจะต้องไม่มีอยู่ในอนุสรณ์สถานเพื่อมิให้กิจกรรมดังกล่าวมารบกวนการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ “ผมคิดว่ามันควรจะถูกแบนนะ แล้วก็ต้องลบ [ตำแหน่งเสมือนจริงในอนุสรณ์สถาน] ออกจากระบบเกมด้วย”

ก่อนหน้านี้ Niantic เคยถูกวิจารณ์อย่างหนักมาแล้ว เมื่อไปวางตำแหน่งดึงดูดนักเล่นเกมโปเกม่อนโกในค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ที่ใช้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในประเทศโปแลนด์ รวมถึงอนุสรณ์สถานลักษณะเดียวกัน ซึ่งหลายคนมองว่า เกมดังกล่าวกำลังทำลายคุณค่าและความหมายของสถานที่นั้นๆ