ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่าน มีรายงานข่าวชาวบ้านฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปรับปรุงโบราณสถานสะพานขอมหรือสะพานหิน ตั้งอยู่ถนนนิตโยเส้นทางขาเข้าและขาออกเมืองสกลนครโบราณแห่งนี้ที่ไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน ตั้งแต่หลังจากคราวน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ภายในโบราณสถานพบป้ายชื่อชำรุดวางตั้งไว้ทางขึ้นสะพาน ชาวบ้านเห็นว่าควรได้รับการปรับปรุงและควรส่งเสริมมีการศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้เด็กรุ่นใหม่ได้ศึกษาต่อไป
มีหลักฐานปรากฏเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2449 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงเสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดรอีสาน ได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่องเที่ยวต่าง ๆ ภาคที่ 4 เกี่ยวกับเมืองสกลนครไว้ว่า “วันที 15 มกราคม ขี่ม้าไปบ้านนาเวง ระยะทาง 15 เส้น ไปตามทางถนนขอมสร้างไว้แต่ดึกดำบรรพ์ มีสะพานหินเป็นสะพานศิลาแลง ฝีมือขอมทำดีน่าอยู่แห่ง 1 เป็นเส้นของสมัยเดียวกับเทวสถาน ที่ตำบลนาเวงมีเทวสถานเรียกว่า “อรดีมายานารายณ์เจงเวง” ตั้งอยู่บนเนินซึ่งมีซุ้มไม้ร่มรื่นดี..”
จากข้อมูลจากกรมศิลปากร พบว่าเป็นสะพานขอมสะพานหินที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย นับว่าเป็นสะพานหินในยุคขอมที่เชื่อมโยงเรื่องราวของจังหวัดสกลนครตั้งแต่เมืองหนองหารหลวง สกลทวาปี และสกลนครในปัจจุบัน
เดิมเชื่อว่าเป็นสะพานข้ามลำน้ำห้วยโมงที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกไปสู่หนองหาร โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของคันดินถนนโบราณ ที่เป็นเส้นสัญจรระหว่างชุมชนในเมืองกับนอกเมืองคือไปสู่ชุมชนบ้านนาเวงอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร สะพานแห่งนี้มีอิทธิพลมาจากยุคขอมโบราณเมื่อกว่า 1,600 ปีก่อน เนื่องจากเป็นอารยธรรมเดียวกันปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง บ้านธาตุนาเวง เทศบาลสกลนคร และประสาทพระธาตุถูเพ็ก บ้านนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
สะพานดังกล่าวตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเมืองสกลนคร ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 4 เมตร ยาว 16 เมตร เดิมมีความสูงจากพื้นล่างประมาณ 2-3 เมตร ด้านบนตัวสะพานเป็นพื้นเรียบ ยกขอบศิลาแลงเป็นคันขึ้นมาทั้งสองข้าง ฐานสะพานก่อศิลาแลงเป็น 11 ช่อง เพื่อรับน้ำหนักด้านบนและเป็นช่องให้น้ำไหลผ่านได้
ที่มาภาพและข้อมูล : “สกลนครเสียดายสะพานหินยุคขอมไม่เด่นชัดรุ่นหลังแทบไม่รู้จัก” .มติชนออนไลน์