เผยแพร่ |
---|
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้มีการเก็บตัวอย่างดินและอิฐ จากกำแพงเมือง-คูเมือง เมืองโบราณฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ล้านนาเพื่อนำไปหาค่าอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับพัฒนาการของเมืองโบราณฝาง
ผลจากการตรวจสอบค่าอายุพบว่าคูเมือง-กำแพงเมืองฝาง มีพัฒนาการ 3 ช่วง ระยะเวลา ดังนี้
ช่วงระยะเวลาที่ 1 แรกเริ่มการสร้างกำแพงเมือง-คูเมืองฝาง เกิดขึ้นช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ตัวอย่างดินจากคูน้ำและคันดินในชั้นทับถมดังกล่าวปรากฏค่าอายุระหว่าง 882 – 790 ปีมาแล้ว โดยช่วงแรกเริ่มการเกิดขึ้นของคูเมือง-กำแพงฝางนี้ เป็นช่วงระยะก่อนที่พญามังรายจะมาสร้างหรือสถาปนาเมืองฝาง ตามเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ประวัติศาสตร์ล้านนา
ช่วงระยะเวลาที่ 2 การพัฒนาและเสริมสภาพกำแพงเมือง-คูเมืองฝาง ให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยก่อคันดินกำแพงเมืองให้สูงมากยิ่งขึ้น เกิดขึ้นราวพทธศตวรรษที่ 19 ตัวอย่างกำแพงดินจากคูน้ำและคันดินในชั้นทับถมดังกล่าวปรากฏค่าอายุระหว่าง 745 – 727 ปีมาแล้ว โดยช่วงระยะเวลาการเสริมสภาพคูเมือง-กำแพงเมืองระยะที่ 2 นี้ ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ การสร้างเมืองฝางของพญามังราย ในปี พ.ศ. 1816 เพื่อเตรียมแผนการยึดหริภุญไชย
ช่วงระยะเวลาที่ 3 การสร้างกำแพงอิฐหุ้มคันดินกำแพงเมืองเดิม เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตัวอย่างจากอิฐในชั้นวัฒนธรรมดังกล่าวปรากฏค่าอายุระหว่าง 656 – 637 ปีมาแล้ว โดยช่วงระยะเวลาดังกล่าว ตรงกับรัชสมัยของพญากือนา กษัตริย์ลำดับที่ 6 ของราชวงษ์มังราย
ช่วงระยะเวลาหลังพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ยังไม่พบหลักฐานการก่อเสริมกำแพงเมือง – คูเมืองฝางใดๆอีกเลย
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ สรุปประเด็นหลักๆเกี่ยวกับพัฒนาการของกำแพงเมือง-คูเมืองฝางได้ว่า กำแพงเมือง – คูเมืองฝาง มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17-18 แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนดั้งเดิมมาก่อนหน้าที่พญามังรายจะสร้างหรือพัฒนาเมืองฝาง ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 กำแพงเมือง-คูเมืองฝาง ถูกพัฒนาเสริมให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกับช่วงระยะเวลาที่พญามังรายสร้างเมืองฝาง ตามประวัติศาสตร์ล้านนาเพื่อเตรียมการยึดหริภุญชัย หลังจากนั้นกำแพงเมืองฝางก็ถูกเสริมความแข็งแกร่งอีกครั้งโดยการก่อกำแพงอิฐหุ้มคันดินในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมใดๆจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ กลุ่มโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่