ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุการณ์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 มีการนำเสนอหลายรูปแบบ หลายประเด็น หลายวัตถุประสงค์ ตามแต่ผู้ผลิตแต่ละรายว่า ต้องการอะไร
ในจำนวนนั้นมี 2-3 เรื่องที่เราส่วนใหญ่นึกขึ้นได้แบบอัตโนมัติ เรื่องที่ว่าพระเจ้าเอกทัศน์พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาลุ่มหลงอิสตรีจนไม่ยอมให้ยิงปืนใหญ่สู้กับพม่าเพราะเสียงดังจะทำให้เหล่าสนมนางในตกใจ หรือเรื่องที่ว่าพระยาตากสินตีฝ่าวงล้อมพม่าก่อนกรุงแตก เพราะเห็นว่าบ้านเมืองคงไม่รอดแน่ จึงคิดไป “ตายเอาดาบหน้า” รวบรวมกำลังคนจากแถวเมืองจันท์กลับมากู้บ้านเมือง
สำหรับแวดวงวิชาการเหตุการณ์คราวเสียกรุงศรีอยุธยามีการค้นคว้าสืบหาหลักฐาน, ข้อมูลต่างๆ เป็นระยะ เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและเผยแพร่ข้อสันนิษฐานใหม่
ล่าสุด นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 กำพล จำปาพันธ์ เขียนถึงเหตุการณ์ช่วงเสียกรุง โดยนำเอกสารฮอลันดามาเทียบเคียงกับเอกสารชั้นต้นฝ่ายไทยอย่างพระราชพงศาวดารสิบกว่าฉบับ ในบทความชื่อว่า “พระยาตากสิน จากหลักฐานฮอลันดา (ไปจันทบุรีตามคำสั่งของราชสำนักอยุธยา?)”
เอกสารฮอลันดาที่กำพล จำปาพันธ์ใช้คือ “จดหมายออกพระพิพัทธโกษาถึงบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ค.ศ. 1769” ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต้นฉบับภาษาไทยของจดหมายฉบับนี้ได้สูญหายไปแล้ว คงเหลือแต่ฉบับแปลภาษาฮอลันดาที่แปลกลับเป็นภาษาไทยโดย รศ. ดร. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร
ผู้เขียนจดหมายฉบับดังกล่าวคือ ออกพระพิพัทธโกษา ปลัดของเสนาบดีพระคลัง เขียนถึง เปตรุส อัลแบร์ตุส ฟาน เดอร์ พาร์รา (Petrus Albertus van der Parra) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (Verenigde Oost-Indische Compagnie หรือที่เรียกย่อว่า VOC) และคณะที่ปรึกษาของบริษัท ลงวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1769 (พ.ศ. 2312)
กำพลได้นำจดหมายทั้งฉบับมาลงในบทความของเขา แต่ในที่นี้ขอนำความตอนหนึ่งในจดหมายที่ว่า
“เมื่อศัตรูพม่า เข้ามาทำสงครามกับสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม [หมายถึงพระเจ้าเอกทัศน์ – ผู้อ้าง] ทรงส่งขุนนางผู้หนึ่ง นามว่า ‘พญาตาก’ ไปยังเมืองจันทบูร เพื่อไปรวบรวมกำลังพล และนำคนเหล่านี้มาช่วยกรุงสยาม แต่ยังมิทันดำเนินการไปเท่าไร อาณาจักรสยามก็ปราชัยต่อศัตรูดังกล่าวเสีย
พระเจ้าแผ่นดินกับพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งบรรดาขุนนางทั้งหมด พร้อมข้าราชบริพารทั้งปวงถูกฆ่าตายหรือต้องหลบหนีไป ทำให้แผ่นดินนี้พินาศไปทันที ถึงขั้นที่ไม่สามารถหาผู้ใดที่มีสิทธิมาปกครอง ได้นอกเหนือจากพญาตากที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ (พญาตาก) ได้นำผู้ติดตามจำนวนหนึ่งเข้ามาในพระนคร (ซึ่งถูกศัตรูเผาและปล้น) ผู้คนต่างๆ ที่หนีเข้าป่าไปก็เข้ามาเป็นพรรคพวก (ของพญาตาก) แล้วได้เลือกและยอมรับท่านเป็นเจ้านายและผู้นำ แผ่นดินนี้จึงกลับมาเจริญรุ่งเรืองเหมือนเดิม หรือเจริญขึ้น กว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ โดยมีเรือสำเภาและพาณิชย์นาวีอื่นๆ แล่นเข้ามาติดต่อค้าขายมากกว่าเมื่อก่อน”
เมื่อเทียบกับเอกสารฝ่ายไทย พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกว่าพระยาตากสิน (หรือพระยากำแพงเพชรตามตำแหน่งในขณะนั้น) หนี โดยกล่าวว่า
“ในเมื่อเวลากลางวันๆ นั้น ฝ่ายพระยากำแพงเพชรซึ่งตั้งอยู่ ณ ค่ายวัดพิชัย จึงชุมนุมพรรคพวก ทหารไทยจีนประมาณพันหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ กับทั้งนายทหารผู้ใหญ่ คือพระเชียงเงินหนึ่ง หลวงพรหมเสนาหนึ่ง หลวงพิชัยอาสาหนึ่ง หลวงราชเสน่หาหนึ่ง ขุนอภัยภักดีหนึ่ง เป็นห้านาย กับขุนหมื่นผู้น้อยอีกหลายคน จัดแจงกันคิดจะยกทัพหนีไปทางตะวันออก”
ซึ่งตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ที่บันทึกว่า พระยาตากสินและพรรคพวก “หนี” ราชการออกไปตั้งตัวเป็นใหญ่ หรือนัยหนึ่งก็คือเป็น “กบฏ” นั่นเอง
หากเป็นเช่นนั้นจริง การเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาจนถึงเมืองจันท์ เมืองตราด ของพระยาตากสินคง ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เขียน (กำพล จำปาพันธ์) ให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่า หากพระยาตากสินกับพวกเป็นกบฏที่ ทิ้งราชการเมืองมาคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าเมืองนครนายก เพราะเมื่อเทียบปัจจัยด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกำลังพล, ตำแหน่งหน้าที่ ฯลฯ เจ้าเมืองนครนายกขณะนั้นมีภาษีเหนือกว่าพระยาตากสิน หากพระยาตากสินเป็นกบฏจริง คงไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้สภาพของพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น “มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า” หลักฐานฝ่ายพม่าบันทึกว่า
“ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุธทยาพระองค์ได้จัดให้ออกมารบครั้งใดก็มิได้ชนะ มีแต่พ่ายแพ้แตกหนีล้มตาย ไปทุกที ถึงกระนั้นก็ดีพระองค์มิได้ทรงย่อท้อหย่อนพระหัดถ์เลย พระองค์ทรงรับสั่งให้ช่างก่อสร้างทำเรือรบแลเรือกำปั่นเปนอันมาก
ครั้นช่างทำเรือเหล่านั้นเสร็จแล้ว พระองค์ทรงรับสั่งให้พลทหารทั้งปวงเอาปืนใหญ่น้อยบรรทุกเรือ นั้นทุกๆ ลำแล้วทรงรับสั่งให้พลทหารถอยเอาเรือเหล่านั้นไปรักษาทางน้ำไว้โดยแน่นหนา เมื่อพระองค์จัดทางน้ำเสร็จแล้วพระองค์ทรงรับสั่งให้พลทหารก่อสร้างทำป้อมอิฐสำหรับสู้รบให้ล้อมพระนคร 50 ป้อม แต่ ป้อมที่ทำนั้นห่างจากคูเมืองไป 500 เส้น รับสั่งให้ทำทั้งกลางวันกลางคืน
ครั้นทำเสร็จแล้วรับสั่งให้เอาเสบียงอาหารทั้งปวงเข้าไว้ในป้อมนั้น แล้วรับสั่งให้พลทหารเอาปืน ใหญ่น้อยสาสตราอาวุธทั้งปวงขึ้นรักษาอยู่ที่ป้อมนั้นโดยกวดขัน แล้วทรงรับสั่งให้ลงขวากช้างขวากม้า ขวากคนแลหนามเสี้ยน แลขุดลวงดักไว้ให้ข้าศึกตกทุกหนทุกแห่ง ฝ่ายทางน้ำเล่าพระองค์ก็ทรงรับสั่งให้ลง ขวากหนามแลตอไม้ทั้งปวงไว้ มิให้ข้าศึกเข้ามาได้ ครั้นทรงจัดเสร็จแล้วก็ให้รักษาเมืองตั้งมั่นอยู่…”
ข้อมูลจากเอกสารพม่าข้างต้น พระเจ้าเอกทัศน์และราชสำนักอยุธยาไม่ได้หวั่นไหว หรือย่อท้อในการศึก แต่ทรงยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูอย่างหนักแน่น และมีการเตรียมพร้อมป้องกันเรื่องป้อมค่ายต่างๆ บรรยากาศเช่นนี้ จึงไม่ใช่เหตุที่จะทำให้พระยาตากสิน “ตัดใจ” ฝ่าวงล้อมออกมาเพราะหมดศรัทธาต่อผู้นำ หมดหวังในบ้านเมือง
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเด็ดอื่นๆ อีก ที่ทำให้กำพล จำปาพันธ์ยืนยันได้หนักแน่นว่าพระยาตากสินไม่ได้ “หนี” ไม่ได้เป็น “กบฏ” ซึ่งเป็นอะไรนั้นคงต้องให้ท่านผู้อ่านติดตามใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้
ประวัติศาสตร์ก็เป็นเช่นนี้ ทุกครั้งที่มีการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าเชื่อถือขึ้น ก็จะมีการพลิกโฉมหน้าที่ต่างจากเดิมในอดีต