บางกอก คุนสตาเล่อ ชวนดื่มด่ำประสบการณ์ศิลปะในนิทรรศการ “Nine Plus Five Works” วิดีโออาร์ตสุดลุ่มลึกของ มิเชล โอแดร์

มิเชล โอแดร์ คุณมาริษา เจียรวนนท์ และ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ใน นิทรรศการ Nine Plus Five Works ที่ บางกอก คุนสตาเล่อ

“ในหนังของผม โลกใบนี้คือฉาก และผู้คนในโลกคือนักแสดง” นี่คือความคิดที่ตกผลึกและนำพา “มิเชล โอแดร์” (Michel Auder) ให้โดดเด่นล้ำหน้านักสร้างงานศิลปะคนอื่น ๆ ซึ่งร่วมสมัยกับเขา ทำให้เขาเป็นศิลปินระดับตำนานผู้สร้างสรรค์วิดีโออาร์ตชื่อดังแห่งยุค 60 และในปี 2024 นี้ ผลงานจากการบันทึก การเล่นซ้ำ และการสะสม ของโอแดร์ ได้ถูกนำมาจัดแสดงใน “Nine Plus Five Works” นิทรรศการศิลปะแรกของปีนี้ ที่ บางกอก คุนสตาเล่อ อาร์ตสเปซใหม่ล่าสุดใจกลางกรุงเทพมหานคร

“Nine Plus Five Works” คือโอกาสอันดีสำหรับผู้ชื่นชอบงานศิลปะ ในการซึมซับประสบการณ์แสนวิเศษของโลกศิลปะร่วมสมัย ผ่านภาพยนตร์และวิดีโออาร์ตที่งดงามราวบทกวีและแสดงถึง “ความขบถ” ได้ในเวลาเดียวกัน จัดแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่บางกอก คุนสตาเล่อ ด้วยการคัดสรรผลงานอันโดดเด่นและทรงอิทธิพลของ มิเชล โอแดร์ มาจัดแสดง และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจศิลปะในประเทศไทยได้มาสัมผัสประสบการณ์ความลึกซึ้งในผลงานของเขา โดยมี สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา (Stefano Rabolli Pansera) เป็นภัณฑารักษ์

“บางกอก คุนสตาเล่อ” อาร์ตสเปซแห่งใหม่ใจกลางกรุงฯ

บางกอก คุนสตาเล่อ (Bangkok Kunsthalle) พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแห่งล่าสุด บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ย่านเยาวราช ใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังเปิดกว้างสำหรับงานด้านภาพยนตร์ ดนตรี วิทยาศาสตร์ การเต้นรำ งานเขียนหรือวรรณกรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงงานสร้างสรรค์ด้านอื่น ๆ

ในอดีต บางกอก คุนสตาเล่อ คืออาคารโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ที่ คุณมาริษา เจียรวนนท์ เห็นถึงคุณค่าของอาคารและศักยภาพของพื้นที่ในย่านเก่าแก่ จึงปรับปรุงและก่อตั้งเป็นศูนย์กลางการจัดนิทรรศการ งานเสวนา และการแลกเปลี่ยนของผู้คนในแวดวงศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความพิเศษคือการจัดนิทรรศการครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่อาคารหลังนี้เปิดต้อนรับสาธารณชน

ทางเข้า อาคาร บางกอก คุนสตาเล่อ
ทางเข้าอาคารบางกอก คุนสตาเล่อ

คุณมาริษา กล่าวว่า “เราเปิดบางกอก คุนสตาเล่อ เพราะอยากสร้างโอกาสเชื่อมคนไทยกับคนต่างชาติ สร้างให้เป็นศูนย์กลางพื้นที่อาร์ต พาศิลปินสมัยใหม่ ศิลปินดัง ๆ มา ให้คนไทยมีโอกาสมาดูผลงานศิลปะ ให้คนไทยได้ร่วมพูดคุย สังสรรค์เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย… อีกอย่างคือตึกนี้สวยมาก แต่ไม่ได้เปิดใช้มา 30 ปี เลยอยากสร้างชีวิตให้อาคารนี้อีกครั้ง และตอนนี้เมืองไทยเราก็พูดถึงเรื่องวัฒนธรรมกันเยอะมาก พูดถึง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ด้วย ศิลปะร่วมสมัยก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์เช่นกัน…”

คุณมาริษา ถือเป็นนักสะสมผลงานศิลปะ ผู้มีใจรักในการอุปถัมภ์และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสู่สากล มีบทบาทในการก่อตั้งโปรเจกต์ “ไทย อาร์ต อินิชิเอทีฟ” (Thai Art Initiative) ในปี 2565 ก่อนมาเปิดบางกอก คุนสตาเล่อ ในปี 2567 ด้วยพันธกิจที่มุ่งมั่นผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณมาริษายังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสโดยกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาและดูแลการพัฒนาศิลปะร่วมสมัยด้วย

มาริษา เจียรวนนท์ กล่าวเปิด นิทรรศการ Nine Plus Five Works
คุณมาริษา เจียรวนนท์

ไดอารี่ของ “มิเชล โอแดร์” ลุ่มลึกและตรงไปตรงมา

สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา ภัณฑารักษ์นิทรรศการ “Nine Plus Five Works” ยกย่องโอแดร์ ว่า “สำหรับผม โอแดร์เป็นศิลปินแบบอย่างทางศิลปะคนหนึ่ง”

มิเชล โอแดร์ ที่แม้ปีนี้จะอยู่ในวัย 80 ปี แต่ยังกระฉับกระเฉงและเปี่ยมด้วยพลัง คือศิลปินและนักสร้างภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้สร้างสรรค์ผลงานเชิงทดลองและวิดีโออาร์ตตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา โดดเด่นเรื่องการสังเกตเชิงจินตภาพ ผลงานภาพยนตร์ของเขาสะท้อนภาพเสมือนจริง ขณะเดียวกันก็มีไวยากรณ์ลึกซึ้งราวบทกวีซ่อนอยู่

โอแดร์มีชื่อเสียงจากงานภาพยนตร์ที่ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวตามขนบทั่วไป ไม่เล่าเรียงตามลำดับเวลา แต่เก็บภาพชีวิตของเขาและคนรอบตัวด้วยวิธีการที่ใกล้ชิด แล้วนำประสบการณ์เหล่านั้นมาประกอบสร้างด้วยชิ้นส่วนเล็ก ๆ จากสิ่งที่เขาพบเจอเอง

มิเชล โอแดร์ ใน กรุงเทพฯ
มิเชล โอแดร์

โอแดร์สร้างผลงานทั้งภาพยนตร์แบบเล่าเรื่องราวและแบบส่วนตัว ผลงานของเขาคือการผนวกกันระหว่างความเป็นศิลปะ สารคดี และชีวิตส่วนตัวของเขา ราวกับเขียนไดอารี่หรือบันทึกความฝัน เขาพกกล้องวิดีโอแบบพกพาติดตัวเสมอ ทำให้มีโอกาสเก็บบันทึกภาพชีวิตส่วนตัวอย่างใกล้ชิดและตรงไปตรงมา นี่คือการแหกขนบการเล่าเรื่องในวิดีโออาร์ตและภาพยนตร์ของยุคสมัยเลยก็ว่าได้

หลายสิบปีที่ผ่านมา โอแดร์สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ใช้ฟิล์มเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงผู้คนและโลกแบ่งปันประสบการณ์ตั้งแต่เรื่องราวธรรมดาทั่วไป จนถึงเรื่องราวพิเศษสุด ทำให้เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปของ “เวลากับความทรงจำ” ระหว่าง “ความจริงกับเรื่องแต่ง” “การสัมผัสกับการนำเสนอ” และประการสุดท้าย “เรื่องส่วนตัวกับการเปิดเผย”

ความลุ่มลึกและตรงไปตรงมานี้เองที่เป็นเสน่ห์สำคัญ ทำให้งานของโอแดร์ถูกนำไปจัดแสดงในหลากพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ทั่วโลก รวมถึงในฐานะสาธารณสมบัติของชาติ เช่น ปารีสกับมาร์เซย ฝรั่งเศส, แอนต์เวิร์ป เยอรมนี, ไมอามี สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

รสชาติใหม่การชมงานศิลปะร่วมสมัย

นิทรรศการ “Nine Plus Five Works” ที่บางกอก คุนสตาเล่อ แบ่งรูปแบบการนำเสนอเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมีผลงาน 5 ชิ้น เล่าถึงการสรรค์สร้างอันซับซ้อนของธรรมชาติ กลุ่มที่สองเป็นผลงาน 9 ชิ้นบอกเล่าพัฒนาการของศิลปินผ่านการผสมผสานงานประเภทต่าง ๆ

ในผลงานกลุ่มแรก โอแดร์เลือกนำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับธรรมชาติผ่านมุมมองเกี่ยวกับเวลา บอกเล่าการสะท้อนภาพธรรมชาติด้วยเทคนิคการตัดต่อเฉพาะตัว เพื่อสร้างสรรค์ปรากฏการณ์อันซับซ้อน เช่น “Flowers of Thailand” (2566) ผลงานที่จัดวางบนสองจอภาพ สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นผลงานที่สร้างความรู้สึกคล้ายการเขียนจดหมายที่เชื่อมโยงถึงกันระหว่างรูปร่างและสีสัน เพิ่มเติมด้วยการจัดแสดงไว้ภายในห้องขนาดเล็กที่ล้อมด้วยลูกกรงตาข่าย ให้ความรู้สึก “คอนทราสต์” หรือขัดกัน อย่างมีนัยสำคัญชวนให้ตีความ

Flowers of Thailand ผลงาน มิเชล โอแดร์ ใน นิทรรศการ Nine Plus Five Works
“Flowers of Thailand” (2566)

ผลงาน “Voyage to the Centre of the Phone Lines” (2536) ภาพยนตร์สร้างชื่อของเขา โอแดร์ได้บันทึกเสียงบทสนทนานิรนามเข้ากับวิวทิวทัศน์ท้องทะเล, ผืนทราย, น้ำ, ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์ และนกที่โผบินผ่านไปมาโดยปราศจากสัญญาณของมนุษย์ สร้างการตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของธรรมชาติที่อยู่เหนือห้วงเวลา ขณะเดียวกันก็สอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ด้วยการใช้เสียงสนทนา สะท้อนความปกติธรรมดาและราบเรียบ สลับความวิตกกังวลและความกลัว สะท้อนความบอบบางของชีวิตมนุษย์ โอแดร์เผยว่า เสียงบันทึกจากเครื่องดักฟังที่เขารับซื้อมาโดยไม่รู้ว่ายังใช้งานได้ และรู้ภายหลังว่ามันเชื่อมต่อโทรศัพท์ของใครบางคนด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง

ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่รวบรวมบันทึกเหตุการณ์ การเดินทาง ไดอารี่ วิดีโอพอร์เทรต วิดีโอเชิงทดลอง ซึ่งโอแดร์ถ่ายทอดอย่างลุ่มลึกราวกับเป็นบทกลอน และคอลเล็กชันผลงานส่วนตัวที่เขาใช้เทคนิคตัดต่อ ถ่าย และบอกเล่าอย่างหลากหลาย เช่น “Bangkok Yaowarat” (2566) พรรณนาภาพเหตุการณ์ประจำวันของชีวิตคนบางกลุ่มในกรุงเทพฯ เล่าการเคลื่อนไหวที่ไหลลื่นโดยไม่ได้นัดหมายของผู้คนและสินค้า ณ ร้านค้าส่งในย่านเยาวราช ย่านการค้าสำคัญของไทย

โอแดร์บอกเล่าความประทับใจขณะบันทึกวิดีโอว่า ผู้คนที่ขะมักเขม้นต่อกิจกรรมตรงหน้านั้นดูราวกับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตอบสนองอย่างอัตโนมัติ โดยไม่มีใครสนใจตัวเขาที่กำลังบันทึกเหตุการณ์อยู่เลย

Voyage to the Centre of the Phone Lines ผลงาน มิเชล โอแดร์ ใน นิทรรศการ Nine Plus Five Works
“Voyage to the Centre of the Phone Lines” (2536)

“Flowers of Thailand” กับ “Bangkok Yaowarat” เป็นผลงานที่โอแดร์รังสรรค์ขึ้นในประเทศไทย ในฐานะศิลปินในพำนัก สนับสนุนโดยบางกอก คุนสตาเล่อ ซึ่งโอแดร์ได้เผยความประทับใจที่มีต่อบางกอก คุนสตาเล่อ ว่า

“รู้สึกเป็นเกียรติมากครับที่ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินคนแรกในการจัดแสดงผลงาน ณ พื้นที่ตรงนี้ หวังว่า บางกอก คุนสตาเล่อ จะเป็นได้เหมือน ‘คุนสตาเล่อ’ อื่น ๆ ทั่วโลก ที่สามารถเปิดพื้นที่เผยแพร่งานศิลปะได้อย่างกว้างขวาง ประเทศไทยเองเต็มไปด้วยศิลปินมากมาย หวังเช่นกันว่า บางกอก คุนสตาเล่อ จะเปิดรับคนทำงานศิลปะหลากหลายรูปแบบต่อไป…”

นิทรรศการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากซัมซุง ในการยกระดับประสบการณ์รับชมศิลปะอันเหนือชั้นผ่านนวัตกรรมจอภาพระดับโลก และด้วยภาพที่มีสีสันจัดจ้านเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น

“นิทรรศการนี้ จะไม่เป็นเพียงแต่การสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่และเติมเต็มความรู้สึกของเหล่าคนรักศิลปะเท่านั้น แต่ดิฉันหวังว่านิทรรศการชุดนี้ จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจทางวัฒนธรรมและศิลปะระหว่างชุมชนศิลปินไทย จนไปถึงวงการศิลปะโลกในภาพรวมได้ในที่สุด” คุณมาริษากล่าว

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมนิทรรศการ “Nine Plus Five Works” ของ มิเชล โอแดร์ ได้ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บางกอก คุนสตาเล่อ 599 ถนนไมตรีจิตต์ แขวงป้อมปราบ กรุงเทพฯ เปิดตั้งแต่เวลา 12.00-20.00 น.