สื่อนอกตีข่าว “นศ.สกว.” วิจัยหัวกะโหลกคนที่ฮาวาย

สื่อฮาวายตีข่าวนักศึกษาป.เอก สกว. นักเรียนต่างชาติคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการเก็บกะโหลกศีรษะมนุษย์ หวังต่อยอดองค์ความรู้และนำเทคนิควิธีวิทยามาศึกษาโครงกระดูกโบราณในงานวิจัยด้านโบราณคดีของไทยต่อไปในอนาคต

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) พญ.ผาสุก มหรรฆานุเคราะห์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยความก้าวหน้าของนักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรนิติวิทยากระดูกที่เดินทางไปเก็บข้อมูลงานวิจัยเป็นระยะเวลา 2 เดือน ที่มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภายใต้การสนับสนุนทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่านางนัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ คงคาสุริยฉาย นักศึกษาได้รายงานผลการวัดกะโหลกศีรษะและการศึกษารูปร่างกะโหลกศีรษะของกลุ่มคนปัจจุบันที่รู้ข้อมูลเฉพาะบุคคล ณ ห้องปฏิบัติการ John A Burns Osteology Collection, John A. Burns School of Medicine มหาวิทยาลัยฮาวาย เพื่อนำไปขยายผลในการศึกษานำร่องเปรียบเทียบกับข้อมูลกะโหลกศีรษะคนไทยเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์เชื้อชาติในงานนิติวิทยากระดูก

ทั้งนี้นักศึกษาได้วัดกะโหลกศีรษะมนุษย์จำนวน 130 กะโหลก แบ่งเป็นกลุ่มคนคอเคซอยด์ 70 กะโหลก กลุ่มมองโกลอยด์ 30 กะโหลก ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลี และจีน กลุ่มเชื้อชาติผสมประมาณ 30 กะโหลก โดยมีทั้งที่ผสมระหว่าง 2-4 เชื้อชาติในบุคคลคนคนเดียวกัน

ทั้งนี้สิ่งที่มุ่งเน้นเพื่องานวิจัยปริญญาเอกคือการเก็บข้อมูลการวัดและข้อมูลภาพถ่ายของกะโหลกศีรษะญี่ปุ่น จำนวนทั้งสิ้น 19 ตัวอย่าง อย่างไรก็ดี ในการมาทำวิจัยต่างประเทศครั้งนี้นักศึกษา คปก. ได้ศึกษารูปร่างและวัดกะโหลกศีรษะของกลุ่มเชื้อชาติอื่น ๆ ด้วย

เนื่องจากเป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งที่จะสามารถศึกษากะโหลกศีรษะของกลุ่มประชากรที่หลากหลายเช่นนี้ เพราะในประเทศไทยไม่มีกะโหลกศีรษะของกลุ่มประชากรต่างเชื้อชาติให้ได้ทำการศึกษา นับว่าเป็นโชคดีอย่างมากสำหรับการมาเก็บข้อมูลและเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ของนักศึกษาไทย เพื่อต่อยอดความรู้ในการวิเคราะห์เชื้อชาติจากกะโหลกศีรษะหลากหลายกลุ่มประชากรเช่นนี้

ในฐานะที่ John A Burns Osteology Collection เป็นแหล่งเก็บรวบรวมโครงกระดูกและกะโหลกศีรษะที่กำลังอยู่ระหว่างการเติบโต และเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้วิจัย โดยมีเป้าหมายในการเก็บจำนวนตัวอย่างโครงกระดูกเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี เพื่อรองรับการมาศึกษาวิจัยของนักเรียนนานาชาติจากทั่วโลกในอนาคต

ดังนั้นทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์จึงจัดตั้งโครงการบริจาคร่างกายขึ้น และรณรงค์ให้บุคคลทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการบริจาคร่างกายที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรทางการแพทย์ นิติมานุษยวิทยา และนิติวิทยากระดูก และได้รับความสนใจจากโฮโนลูลู สตาร์ แอดเวอร์ไทเซอร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฮาวายมาทำข่าวเกี่ยวกับโครงการนี้

โดยนางนัทธมนนับเป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาศึกษาวิจัยชุดโครงกระดูกของที่นี่ และกำลังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลในห้องปฏิบัติการ จึงได้ให้สัมภาษณ์และนำเสนอข่าวในครั้งนี้ด้วย โดยหลังจากหนังสือพิมพ์วางจำหน่ายส่งผลให้มีประชาชนแจ้งความจำนงค์ขอบริจาคร่างกายถึง 25 คนภายในวันเดียว นับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ก่อนหน้านี้นางนัทธมนเคยร่วมทำงานเป็นนักวิจัยด้านมานุษยวิทยากระดูกมนุษย์ ในโครงการวิจัยด้านโบราณคดีของ รศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช ภายใต้การสนับสนุนจาก สกว. มาแล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (พ.ศ. 2549-2551) โครงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (พ.ศ. 2556-2559) มีความรู้พื้นฐานด้านโบราณคดีและเชี่ยวชาญในเรื่องการศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกคนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์

นักศึกษา คปก. ระบุว่าการได้เก็บชั่วโมงบินสะสมประสบการณ์ฝึกหัดวิเคราะห์กระดูกแบบที่ไม่สามารถจะหาทำได้ในเมืองไทย ได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญโดยการปฏิบัติจริง

ทำให้เห็นว่ามีอย่างอื่นที่น่าสนใจแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในขอบเขตสิ่งที่เราทำอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการพัฒนาตัวเอง และสนุกที่จะสังเกตทุกอย่าง เป็นการเรียนจากของจริงที่สร้างขึ้นมาในตัวเราเองจากการลงมือทำจริง โดยที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขอะไรมากำหนดมากมาย มีอิสระในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นการเรียนในฝัน การเรียนที่สร้างจากแรงบันดาลใจ

ทักษะการวิเคราะห์ไม่ใช่สร้างขึ้นได้จากการอ่านหนังสือแล้วนึกภาพตาม แต่ต้องเห็นของจริง จับของจริง และต้องใช้เวลา ไม่มีทางลัดทางอื่น ตามที่ผู้เชี่ยวชาญที่นี่กล่าวไว้ว่าการเรียนปริญญาเอกไม่ใช่ว่าเราจะต้องทำอะไรหรือค้นพบอะไรที่เปลี่ยนโลกหรอก ไม่ต้องยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่คือการฝึกฝนวิธีการค้นคว้าและเรียนรู้เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเอง

“การเลือกตัดสินใจเรียนปริญญาเอกหลักสูตรนิติวิทยากระดูก ที่เน้นการวิเคราะห์โครงกระดูกคนปัจจุบันซึ่งมีความสมบูรณ์ของหลักฐานมากกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเรียนจากโครงกระดูกที่รู้ข้อมูลเฉพาะบุคคล เพื่อต้องการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ในการวิเคราะห์โครงกระดูกให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และสามารถนำเทคนิควิธีวิทยาที่หลากหลายในการวิเคราะห์โครงกระดูกคนปัจจุบันไปใช้ทำการศึกษาโครงกระดูกโบราณในงานวิจัยด้านโบราณคดีต่อไปในอนาคต” นางนัทธมนกล่าว


ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)