ผู้เขียน | พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระนพปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรขาว 9 ชั้น มีหลักฐานเก่าที่สุดปรากฏในกฎมณเฑียรบาลของกฎหมายตราสามดวง กล่าวถึง “เสวตฉัตร 9 ชั้นแล 7 ชั้น 5 ชั้น 4 ชั้น 3 ชั้น 2 ชั้น”
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรเป็นเครื่องสูงประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
การถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรในอดีต มีหลักฐานชัดเจนใน หมายรับสั่งพระราชพิธีปราบดาภิเษกรัชกาลที่ 2 จ.ศ. 1171 (พ.ศ.2352) กล่าวถึง “พระเศวตฉัตร” ที่เชิญตั้งบนพระแท่นมณฑล และการถวาย “พระบวรเศวตฉัตร” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 23941 ซึ่งก็คือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร2 นั่นเอง
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเรียกว่า “พระกรรภิรมย์เศวตฉัตร” ดังปรากฏในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว3 บางแห่งเรียกว่า “เศวตฉัตรพระกรรภิรมย์”4 เป็นฉัตรขาว 9 ชั้น มีระบาย 3 ชั้นขลิบทองเช่นเดียวกับพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ไม่ใช่เศวตฉัตร 7 ชั้นอันใช้ปักพระคชาธารดังที่เคยเข้าใจกัน แต่ปรับลดขนาดพร้อมทรวดทรงให้ย่อมกว่ามากเพื่อให้สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้เชิญผูกไว้กับเสาพระแท่นมณฑล โดยหุบไว้มิได้กางออกเหมือนเช่นฉัตรอื่นๆ และคงเป็นเช่นนั้นเมื่อทูลเกล้าฯ ถวาย
ผ้าที่ใช้ทำระไบพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแต่เดิมเป็นผ้าตาดขาว ทรงพระราชดำริว่าทำให้เศวตฉัตรดูเสื่อมค่าก็ทรงเปลี่ยนเป็นผ้าขาวมานับแต่บัดนั้น (สาสน์สมเด็จเล่มที่ 20. 2505, น. 218)
การถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตรก่อนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะกระทำเป็นลำดับสุดท้ายหลังการเฉลิมพระปรมาภิไธยและกราบบังคมทูลถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์ เครื่องบรมขัตติยราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ ซึ่งพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้ถวายขณะประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร
ขณะทรงรับพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พราหมณ์เป่าสังข์ โหรลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ดุริยางค์ดนตรี จากนั้นพราหมณ์ร่ายอนุษฏุกศิวมนต์และอนุษฏุกวิษณุมนต์ จบแล้วพระมหาราชครูพราหมณ์ถวายชัยมงคล พระราชทานกระแสพระราชดำรัสซึ่งถือเป็นพระปฐมบรมราชโองการ
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เปลี่ยนไปถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรขณะประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แทน พระที่นั่งภัทรบิฐจึงกางกั้นด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแทนสัปตปฎลเศวตฉัตรนับแต่นั้นต่างจากรัชกาลก่อน
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ปักหรือแขวนเหนือพระที่นั่งมหาเศวตฉัตร พระแท่น หรือพระราชอาสน์องค์สำคัญ จะมีขนาดใหญ่กว่าพระกรรภิรมย์เศวตฉัตรที่ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นฉัตรผ้าขาวซ้อนลดหลั่นกันทั้งหมด 9 ชั้น ระบายฉัตรซ้อนกัน 3 ชั้น ชายระบายฉัตรทุกชั้นขลิบทองแผ่ลวด เฉพาะชายระบายฉัตรชั้นแรกมีเครื่องประดับเป็นอุบะจำปาทองทำจากแผ่นโลหะกะไหล่ทองหรือแผ่นทองแผ่ลวด เป็นพวงอุบะผูกติดกับปลายซี่ฉัตรภายในชายระบายฉัตรด้านใน อุบะจำปาทองนี้ใช้ประดับเฉพาะเศวตฉัตรที่ใช้กางกั้นถวายเป็นเครื่องสำแดงอิสริยยศเท่านั้น5
ยอดพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรมีหลายทรง ส่วนใหญ่มักเป็นยอดทรงเจดีย์ เฉพาะพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นยอดทรงเจดีย์และมีพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับปลายยอด ขณะที่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต มียอดเป็นพรหมพักตร์
อ้างอิง
1 ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ, “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก,” จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4, หนังสือสมุดไทยดำ, อักษรไทย, ภาษาไทย, เส้นดินสอ, จ.ศ. 1213, เลขที่ 63.
2 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า “เสวตรบวรฉัตร” หมายถึง พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เช่น “เทพยดาอันรักษาเสวตรบวรฉัตร” ดู ประกาศพระราชพิธีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, 2 เล่ม (พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2508), เล่ม 2: น. 7. เรื่องนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ก็ทรงพระวิจารณ์ว่า “คำว่า บวร ที่ใช้ว่าพระมหานครบวรราชวังกับเสวตรบวรฉัตรดูรู้สึกเปนวังน่า ข้อนี้เห็นว่าแต่ก่อนคำบวรจะไม่รู้สึกอะไรนอกจากว่าเปนคำไพเราะห์เท่านั้น ที่มาถือบรมเปนวังหลวงเปนวังหน้า ชัดเจนแน่นอนขึ้นนั้น เห็นว่าจะเปนภายหลัง เพราะฉะนั้นคำว่า บวร ในที่สองแห่งนี้เข้าใจว่าของเดิมใช้เช่นนั้น” ดู เรื่องเดียวกัน, น. 21 – 22.
3 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2535, พระราชพิธีสิบสองเดือน, พิมพ์ครั้งที่ 18 (กรุงเทพฯ: บรรณาคาร), น. 135.
4 เทวาธิราช ป. มาลากุล (นามแฝง), เรื่องราชูปโภคและพระราชฐาน, ไม่มีเลขหน้า.
5 เช่น พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร สัปตปฎลเศวตฉัตร เบญจปฎลเศวตฉัตร และเศวตฉัตร 3 ชั้นสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น