เผยแพร่ |
---|
วธ.นำคณะทูตานุทูต 28 ประเทศ เยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ในโครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูต ณ จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู 22 – 24 ก.พ.นี้ เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเผยแพร่แหล่งมรดกของไทยให้ประจักษ์ต่อสายตาของชาวต่างประเทศ
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูต ณ จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคณะผู้บริหารฯ คล้องผ้าขาวม้าต้อนรับคณะทูตานุทูต ชมการแสดงดนตรีพื้นบ้าน การแสดงนาฏศิลป์ มีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวดารุณี ธรรมโพธิ์ดล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร คณะทูตานุทูต กว่า 47 คน จาก 28 ประเทศ ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด ข้าราชการ สื่อมวลชน เข้าร่วม
นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งมรดกของไทย โดยเฉพาะแหล่งมรดกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว และที่ได้รับการขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก ให้ประจักษ์ต่อสายตาของชาวต่างประเทศ จึงได้ดำเนินโครงการวัฒนธรรมสัญจรแหล่งมรดกโลกสำหรับคณะทูตานุทูต และโครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูตอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยได้งดเว้นการดำเนินโครงการดังกล่าวไประยะหนึ่งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
รมว.วธ.กล่าวอีกว่า วธ.ได้พิจารณาเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในจังหวัดอุดรธานีไปยังองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งได้รับการขึ้นบัญชีมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ซึ่งได้รับการขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) เมื่อปี พ.ศ. 2547 สำหรับโครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูตฯ ในปี พ.ศ. 2566 นี้ นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่คณะทูตานุทูต และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการแหล่งมรดกโลกและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืนแล้ว คณะผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะยังได้รับประสบการณ์โดยตรงจากวิถีชีวิตชุมชน ประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ บ้านเชียงที่ขึ้นชื่อเรื่องเครื่องปั้นดินเผาและผ้าย้อมคราม และลงมือทำเวิร์คชอปย้อมผ้าสีธรรมชาติจากบัวแดงด้วยตนเอง ที่กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร นอกจากนี้ คณะทูตานุทูตยังจะได้ลิ้มลองและสัมผัสประสบการณ์อาหารอีสานสไตล์ฟิวชั่นส์ ในรูปแบบ Chef Table ณ ซาหมวย แอนด์ ซันส์ อีกด้วย
ส่วนที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมีงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและ ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาย่อยอดให้มีความทันสมัย เพื่อตอบรับกับกระแสโลก ควบคู่ไปกับนโยบายของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนจากทรัพย์สินทางวัฒนธรรม อันนำไปสู่ความผาสุกของชุมชนท้องถิ่น โดยคณะผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้ไปร่วมทำกิจกรรม Eco Print ที่ศูนย์การเรียนรู้และออกแบบขวัญตา และชมสาธิตผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหนองบัวลำภู อาทิ กาแฟลุงหวัง และจักสานจากต้นคล้า
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตและคู่สมรส จาก 28 ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย โปแลนด์ เนปาล โคลอมเบีย มัลดีฟส์ เม็กซิโก กัวเตมาลา ปานามา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา บังกลาเทศ ศรีลังกา เคนยา บราซิล ชิลี บาห์เรน ติมอร์-เลสเต เกาหลี อิสราเอล ออสเตรีย คาซัคสถาน เปรู นอร์เวย์ อิตาลี อินเดีย แอฟริกาใต้ มอลตา และอุซเบกิสถาน