วธ. เปิดตัวยิ่งใหญ่ 16 เทศกาลประเพณีไทย โชว์สุดยอดอัตลักษณ์ความเป็นไทยทั่วประเทศ ชวนเที่ยว ชิม ช้อป แชร์ ตลอดปี

วธ. เปิดตัวยิ่งใหญ่ 16 เทศกาลประเพณีไทย โชว์สุดยอดอัตลักษณ์ความเป็นไทยทั่วประเทศ ชวนเที่ยว ชิม ช้อป แชร์ ตลอดปี พร้อมลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพประทับใจเทศกาลประเพณีทั่วไทย ยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ

Advertisement

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานแถลงข่าวโครงการยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เครือข่ายวัฒนธรรม ศิลปินพื้นบ้าน และผู้แทนจังหวัดต่างๆ เข้าร่วม ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดยภายในงาน มีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชุด “อัตลักษณ์ถิ่น เอกลักษณ์ไทย ก้าวไกลสู่สากล” การจัดแสดงลานสาธิตเทศกาลประเพณีนำเสนออัตลักษณ์อันโดดเด่น พร้อมผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย อาทิ สาธิตเครื่องสักการบูชาพระธาตุ จัดทำโคมกระต่าย จากจังหวัดน่าน, สาธิตอัตลักษณ์และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ชนชาติพันธุ์ไทยลื้อ จังหวัดพะเยา, สาธิตการทำโคมบูชา ผลงานประติมากรรมโคม จากจังหวัดลำพูน, สาธิตการแสดงกิ่งกะหร่า เชื่อมสัมพันธ์ไทย-เมียนมาร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ผ้าย้อมคราม จังหวัดสกลนคร, อาหารอร่อยเมืองภูเก็ต, สาธิตทำมาลัยข้าวตอก เครื่องสักการบูชา จังหวัดยโสธร, สาธิตทำเครื่องจักสาน จังหวัดชลบุรี และสกุลช่างเมืองเพชร ขนมไทย จังหวัดเพชรบุรี 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วธ. ปรับบทบาทจากกระทรวงสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม ผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F งานเทศกาลประเพณี (Festival) โดยขับเคลื่อนงานเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลก วธ. จึงบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งจังหวัด ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันยกระดับเทศกาลประเพณี เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดนิทรรศการ การแสดงและการสาธิตทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ตลอดจนส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดช่องทางการรับรู้ให้มากขึ้น

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า 16 เทศกาลประเพณีได้ที่รับเลือกยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ประกอบด้วย 

1. ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว วันที่ 2 – 8 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 

2. เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง วันที่ 10 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ชุมชนคุณธรรมบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 

3. ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 6 มีนาคม 2566 ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง จังหวัดน่าน 

4. ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก “มาฆบูชาอารยธรรมอีสาน” วันที่ 1 – 5 มีนาคม 2566 ณ ลานหน้าที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

 5. ประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช วันที่ 1 – 6 มีนาคม 2566 ณ วัดพระมหาธาตุฯ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

 6. เทศกาลโคราชเมืองศิลปะ KORAT Street Art วันที่ 10 – 12 มีนาคม 2566 ณ ถนนจอมพล และบริเวณใกล้เคียง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 

7. เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณปราสาทศิลา “สด๊กก๊อกธม” วันที่ 18 – 19 มีนาคม และ 22 มีนาคม 2566 ณ อุทยานประวัติศาสตร์ สด๊กก๊อกธม อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว 

8. เทศกาลเมืองคราม สกลนคร (KRAM & CRAFT SAKON FESTIVAL) นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ วันที่ 24 – 26 มีนาคม 2566 ณ สระพังทอง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

 9. เทศกาลอาหารอร่อยเมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร วันที่ 19 – 27 พฤษภาคม 2566 ณ พื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 

10. ประเพณีบุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส วันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2566 ณ สวนสาธารณะ เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 

11. เทศกาล “นาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์ไทใหญ่ศึกษา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 12. ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดคนเมืองไทนคร วันที่ 7 – 13 กรกฎาคม 2566 ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราชริมฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม 

13. เทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” วันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2566 ณ วัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

 14. ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา วันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

 15. เทศกาลอาหารผสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์ วันที่ 4 – 6 สิงหาคม 2566 ณ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร และอุทยานฯ รัชกาลที่ 4 พระนครคีรี อำเภอเมืองเพชรบุรี และ

16. เทศกาลโคมแสนดวง ที่เมืองลำพูน วันที่ 25 กันยายน ถึง 8 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

ทั้งนี้ วธ. โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จะดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนำไปบูรณาการจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ส่งเสริมการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ร่วมกันสืบสาน รวมถึงต่อยอดประเพณีของไทยให้เป็นที่รู้จัก เกิดความสนใจ และอยากกลับมาท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ สร้างรายได้แก่ชุมชน

กระทรวงวัฒนธรรม โดยสวธ. ร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดจะจัดโครงการประกวดภาพถ่าย “ประเพณีทั่วไทย” ขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน – พฤศจิกายน ๒๕๖๖ มีเงินรางวัลรวมให้กว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจะประเดิมด้วยภาพถ่ายประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย” ที่ได้เข้าสู่วาระการพิจารณาขึ้นทะเบียนรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติขององค์การยูเนสโก

รวมถึงภาพถ่ายประเพณีต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค อาทิ ปอยส่างลอง ประเพณีกองข้าวศรีราชา ประเพณีแห่นางดาน ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เทศกาลอาหารอร่อยเมืองภูเก็ต จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ บุญบั้งไฟ บุญกลางบ้าน ผีตาโขน สรงน้ำพระธาตุยาคู วิวาห์บาบ๋า ประเพณีลงเล ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางบก-ทางน้ำ เวียนเทียนกลางน้ำ-กว๊านพะเยา ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน ฯลฯ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม พร้อมเผยแพร่ความงดงามของประเพณีไทยสู่นานาชาติได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป ช่างภาพ และนักท่องเที่ยว ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสาร หลักเกณฑ์การประกวดฯ ได้ทางเว็บไซด์ www.rpst.or.th ของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ www.culture.go.th / แฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ line@วัฒนธรรม