ประวัติศาสตร์ “ประชาธิปไตย” จากอนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24  มิถุนายน 2475 โดยการปฏิวัติของคณะราษฎร

ได้เห็น ได้ยินกันมาตลอด 80 กว่าปี จากบทความ บทสัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ ที่เห็นเหมือน หรือเห็นต่างกับคณะราษฎร

แต่วันนี้จะชวนท่านผู้อ่านไปดู อีกส่วนของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ที่บันทึกโดยสมาชิกคณะราษฎร หรือบุคคลผู้ใกล้ชิด จากผลงานของนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ที่ชื่อว่า “อนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2560

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ค้นคว้าหนังสืออนุสรณ์งานศพคณะราษฎรกว่า 60 รายการ เพื่อให้เห็นภาพ ก่อน-ระหว่าง-หลัง การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งขอนำบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง

สาเหตุหนึ่งของการปฏิวัติที่ อนุสรณ์งานศพ หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (ค้วน จินตะคุณ) “สละชีวิตเพื่อคนข้างหลัง”  เขียนไว้ว่า “…ใครบ้างจะดูดายได้ ทนความทารุณต่อไปไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเหตุอีกอเนกประการ เมื่อมีความคิดเช่นนี้แล้วก็เกิดชักชวนกันในระหว่างเพื่อนฝูง และผู้ใหญ่ที่มีความเห็นสอดคล้องกัน ว่าควรจะเปลี่ยนแปลงเสียที เจ้าคุณฤทธิ์อาคเนย์ หลวงพิบูลสงคราม สองท่านนี้แหละมาชวนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นด้วย จึงได้ร่วมใจยอมสละชีวิตเพื่อคนข้างหลัง เพื่อให้บ้านเมืองอยู่ในระดับความเจริญ.”

ขณะที่ อนุสรณ์งานศพของ หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) เล่าถึงสถานการณ์ขณะนั้นไว้ว่า “…คืนวันที่ 19 มิถุนายน หลวงสินธุ์นัดพบกันที่บ้านอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นการแสดงบอกเสียใจว่า ต้องเลิกล้มแผนการวันที่ 20 มิถุนายนที่นัดกันไว้ทุกฝ่ายว่าจะลงมือ เพราะรัฐบาลรู้ตัวเสียแล้ว สมาชิกโต้เถียงกันใหญ่ เรื่องทำหรือไม่ทำ ก็พอดีแยกกลับกัน เราลงเรือจ้างพร้อมหลวงศุภกับอีก 2-3 คน ระหว่างทางปรารภกันถึงเรื่องหนักใจที่ทำอะไรกันไว้มากแล้ว ล้มเลิกจะพากันเสียหาย หลวงศุภกัดฟันกรอดบอกว่า เรื่องนี้ไม่ยอมเด็ด ต้องทำ…”

อนุสรณ์งานศพหลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ)

คำไว้อาลัย หลวงสังวรยุทธกิจในหนังสือเล่มเดียวกันที่ ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าสายพลเรือนคณะราษฎร เขียนไว้ ทำให้เห็นความระมัดระวังในการทำงานของคณะราษฎร

ข้าพเจ้ารู้จักอุดมคติเพื่อชาติของคุณหลวงสังวรก่อนที่รู้จักตัวท่านผู้นี้ในเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพราะระเบียบและวินัยของคณะราษฎร์มีอยู่ว่า เฉพาะผู้รับผิดชอบในศูนย์กลางของคณะเท่านั้น จึงสามารถรู้ชื่อสมาชิกที่สำคัญของสายต่างๆ ได้

แม้กระนั้นเพื่อความปลอดภัยก็จะต้องไม่มีการพบปะกันตัวต่อตัว คงปล่อยให้เป็นหน้าที่หัวหน้าสายและหัวหน้าหน่วยที่จำแนกย่อยลงไปเป็นผู้ทำความรู้จักกันตัวต่อตัวโดยเฉพาะ งานของแต่ละหน่วยจึงไม่ก้าวก่ายกัน

ไม่มีสมาชิกคนใดที่จะไปสอดรู้งานของหน่วยอื่น การประสานงานอยู่ที่ศูนย์กลางจำนวนน้อยเท่านั้น สายใหญ่มีสามสายคือ สายทหารบก สายทหารเรือ สายพลเรือน คุณหลวงสังวรฯ สังกัดสายทหารเรือ ซึ่งนาวาตรีหลวงสินธุ์สงครามชัยเป็นหัวหน้าสาย”

อนุสรณ์งานศพของ “กำลาภ(กุหลาบ) กาญจนสกุล” ที่ พลเรือตรี ทหาร(ทองหล่อ) ขำหิรัญ หนึ่งในสมาชิกของคณะราษฎร เขียนคำรำลึกอุทิศ “กุหลาบ เพื่อนตาย 24 มิถุนายน 2475” แสดงความคิดเห็นต่อบ้านเมืองว่า

“…ในทรรศนะของข้าพเจ้า กล่าวตามภาวะทางการเมืองงานของคณะราษฎรสิ้นสุดยุติลง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งควรจะถือว่าคณะราษฎรต้องประสบความปราชัยทางการเมือง แต่ความรับผิดชอบในส่วนตัวบุคคลยังไม่สิ้นสุด เปรียบด้วยหนี้สินบุคคลชาวคณะราษฎรยังชำระหนี้ไม่หมด คงเป็นลูกหนี้ประชาชนอยู่จนกว่าประชาชนชาวไทยจะได้รับการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ คุณกำลาภจากไปแล้ว คนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องรับสนอง

ชาวคณะราษฎรที่ยังมีชีวิตอยู่นับว่าเป็นผู้โชคดี ที่ได้เห็นผลงานของตนซึ่งช่วยกันสร้างสรรค์เอาไว้ ทิ้งปัญหาที่เป็นบทเรียนอันควรแก่การศึกษาวิจัยวิจารณ์กันหลายบท ที่นับว่าสำคัญมี ‘ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยนานหลายสิบปีแล้ว เพราะเหตุใดจึงยังมีความเห็นกันว่า เข้าไม่ถึงระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง’…

เพราะเหตุใด ประเทศไทยจึงยังอยู่ในฐานะที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา ในทางการเมืองยังล้าหลังทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม’…”

พลเรือตรี ทหาร(ทองหล่อ) ขำหิรัญ

อนุสรณ์งานศพ น.อ. สวัสดิ์ จันทนี บันทึกว่า “ยี่สิบสี่มิถุนายน ฉันเป็นคนไม่มีความรู้ มีแต่กำลังใจและกำลังกาย คนอย่างฉันควรมีชื่อว่าเป็นผู้ก่อการด้วยหรือ? พ.ศ. 2475 ฉันเป็นต้นตอร์ปิโดอยู่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ ฉันกับคุณศรี ดาวรายเป็นเพื่อนรักกันมากและฉันก็ทราบข่าวเรื่องการปฏิวัติจากเพื่อนคนนี้เอง เรื่องเช่นนี้ถ้ารัฐบาลแห่งในหลวงรัชกาลที่ 7 รู้เข้า ฉันก็ต้องเป็นผีหัวขาด แต่เผอิญทางฝ่ายรัฐบาลรู้ช้าไป พวกฉันจึงชนะ พูดโดยกฎธรรมดาทั่วไปฉันควรเป็นคนเลว ในฐานะที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแล้วก็ยังไม่ทำตาม แต่ถ้าพูดในทางโลกแล้ว นี่เป็นธรรมดาของโลก ฉันขอปล่อยให้ฟ้าดินตัดสินเอง”

อนุสรณ์งานศพหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เล่ม 4 “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานคติธรรมและพระธรรมเทศนา ครบ 100 วัน รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ วัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 7 สิงหาคม พุทธศักราช 2526” สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธ แสดงธรรมเทศนาตอนหนึ่งว่า

…อบรมแต่ความเจริญได้ จึงสามารถยกตนขึ้นจากฐานะลูกชาวนา ขึ้นสู่ฐานะรัฐบุรุษอาวุโส เฟื่องฟุ้งด้วยเกียรติคุณทั่วประเทศ ตลอดถึงต่างประเทศ แม้ชีวิตจะแตกดับถึงอสัญกรรมไปแล้วก็ตาม ส่วนคุณงามความดีที่ประดับประเทศชาติยังคงเป็นอนุสาวรีย์ปรากฏรับความสดุดีจากกัลป์ญาณชนอยู่ตลอดกัลปาวสาน…

ยังมีหนังสืออนุสรณ์งานศพของสมาชิกคณะราษฎรอีกมากกว่า 50 เล่มที่ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เขียนวิเคราะห์ไว้ ติดตามอ่านได้จาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายน 2560 และนี่คือข้อมูลอีกส่วนของประวัติศาสตร์ชาติ ที่ว่าด้วยประชาธิปไตย มีทั้งเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และประเด็นต่างๆ นานา ที่รอท่านผู้อ่านพิจารณา

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2560

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ.2560