ปราบผู้ร้ายในไทยหลังสงครามโลก ทหารญี่ปุ่นหนีทัพปล้นเลี้ยงชีพ ถึงมาเฟียพ่อค้าจีน

ภาพประกอบเนื้อหา - ความเสียหายหลังจากการทิ้งระเบิด

เนื้อหานี้เป็นส่วนหนึ่งจากเรื่อง “ผู้ร้ายหลังสงคราม” คัดมาจากบันทึก “เป็นตำรวจมา 44 ปี” ของ พล.ต.อ.จำรัส มัณฑุกานนท์ ซึ่งเจ้าภาพพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.อ.จำรัส มัณฑุกานนท์ ม.ป.ช.,ม.ว.ม.,ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2521

ชื่อตอนว่า “ผู้ร้ายหลังสงคราม” นั้น กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมได้ตั้งขึ้นเอง ทั้งนี้เพื่อให้เข้ากับเรื่องที่กล่าวถึงในที่นี้ อนึ่ง ในการคัดมาลงพิมพ์นี้ ทางกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมได้กำหนดย่อหน้าและลักษณะตัวอักษร (ตัวเอนและตัวหนา) ในหลายแห่งด้วย (ปรับปรุงชื่อตอนสำหรับฉบับออนไลน์เป็น “ปราบผู้ร้ายในไทยหลังสงครามโลก ทหารญี่ปุ่นหนีทัพปล้นเลี้ยงชีพ ถึงมาเฟียพ่อค้าจีน”)

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

…ต่อมาก็มีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องโจรบ้านกอไผ่ เมื่อเลิกสงครามแล้วอาวุธที่สัมพันธมิตรมาทิ้งร่มให้บ้าง ใส่เครื่องบินมาให้บ้าง ตลอดจนอาวุธของกองทัพญี่ปุ่นเมื่อยอมแพ้แล้วก็กระจัดกระจายไปตกอยู่กับคนดีบ้างคนร้ายบ้าง ที่ตกไปอยู่กับคนร้ายก็สร้างภัยให้แก่ราษฎรผู้สุจริต บุคคลที่เดินทางไปทางจังหวัดนครปฐม ราชบุรี แม้แต่ไปรถยนต์ส่วนตัวก็ถูกจี้ถูกปล้นก็มี ปรากฏว่ามีการซ่องสุมสมัครพรรคพวกตั้งเป็นโจรก๊กใหญ่ก๊กหนึ่งอยู่ที่บ้านกอไผ่อยู่ในจังหวัดราชบุรีต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร ข่าวนี้เข้ามาทางสันติบาลบ่อยๆ เข้าแม้ตำรวจสันติบาลไม่มีหน้าที่ปราบปรามเรื่องนี้โดยตรง เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจภูธร แต่ก็รับฟังและประมวลข่าวนี้ไว้

จนวันหนึ่งท่านอธิบดีกรมตำรวจเรียกข้าพเจ้าไปพบและถามถึงข่าวเรื่องนี้ ข้าพเจ้าก็เรียนให้ฟัง พ.ต.อ.ประสงค์ ลิมอักษร เป็นผู้บังคับการสันติบาล ท่านก็ทราบมาเหมือนกัน อธิบดีกรมตำรวจจึงให้เรียกผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 7 ซึ่งมีกองบังคับการฯ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐมและควบคุมพื้นที่นี้มาและสั่งให้ร่วมกันวางแผนการปราบปรามเสนอท่าน เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้แล้วก็นัดหมายวันทำงานกัน ทางตำรวจภูธรจะรวมกำลังตำรวจจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร วางเป็นจุดไว้ด้านหลัง ส่วนด้านหน้าตำรวจสันติบาลซึ่งมีอาวุธทันสมัยจะเป็นฝ่ายเข้าตี

พล.ต.อ.จำรัส มัณฑุกานนท์ ผู้บันทึก ภาพนี้ถ่ายเมื่อได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยตำรวจตรี (พ.ศ. ๒๔๗๔)

การเคลื่อนกำลังเข้าประจำที่ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องลับมาก ต้องใช้การเดินทางเวลากลางคืน สำหรับตำรวจสันติบาลต้องเดินทางโดยรถไฟซึ่งออกตอนค่ำเป็นดีที่สุด ข้าพเจ้าเลือกสถานีเล็กแห่งหนึ่งให้เป็นที่ลง ความจริงมีถัดไปอีกสถานีหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ที่นัดหมาย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าอาจจะเอิกเกริกเพราะมีกำลังราว 40 คน มีนายตำรวจอีก 2 นาย มาทราบภายหลังว่าถ้าไปลงเลยไปอีกหนึ่งสถานีเป็นถูกซุ่มยิง ข่าวจะรอดออกไปอย่างไรไม่ปรากฏ แต่เพราะไม่มีตำรวจไปลงจึงทำให้โจรก๊กนี้ตายใจ ตำรวจสันติบาลจึงเข้าประจำที่ได้โดยไม่มีคนเห็น

ข้าพเจ้ามอบเครื่องส่งวิทยุไปด้วย 1 เครื่อง เป็นเครื่องที่สัมพันธมิตรให้มาตอนระหว่างทำงานใต้ดินระหว่างสงคราม ใช้ส่งตรงเข้ากองบังคับการตำรวจสันติบาลได้ พอ 06.00 น. เศษ ข้าพเจ้าก็ได้รับวิทยุฉบับแรกว่าได้เริ่มปะทะกันแล้ว คนร้ายขุดคูยิงแบบสนามเพลาะไว้เป็นแนว และใช้ปืนยิงตอบโต้อย่างเหนียวแน่น ผิดกว่าคนร้ายธรรมดา มีจำนวนคนมาก ต่อสู้แบบคนที่มีความรู้ทางทหาร ยิงต่อสู้กันจนเวลา 14.00 น. ซึ่งเป็นเวลาถึง 8 ชั่วโมง คนร้ายจึงเริ่มถอย ด้านหลังมีคลอง และตำรวจจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาครคอยอยู่แล้ว พอเข้าระยะยิงตำรวจทั้ง 2 หน่วยก็ยิงกระหน่ำกระหนาบหลัง

การต่อสู้สิ้นสุดลงประมาณ 16.00 น. ตำรวจเสียชีวิต 3 คน เป็นตำรวจสันติบาล 1 คน ส่วนคนร้ายเสียชีวิตราว 20 คน ตำรวจสันติบาลยืนยันว่าคนร้ายใช้ปืนกลเบาต่อสู้ด้วย 1 กระบอก แต่หากันไม่พบเมื่อการต่อสู้สิ้นสุด

เรื่องโจรหลังสงครามนี้ไม่ใช่มีแต่คนไทย ทหารญี่ปุ่นก็มีเหมือนกัน คือพอญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ก็มีทหารญี่ปุ่นหนุ่มๆ บางคนหลบหนีออกจากกรมกองไป แต่จะอยู่อย่างใดถ้าไม่มีเงินทองพอสมควร พวกนี้มีอยู่ 5-6 คน ก็คิดไปจี้เอาจากญี่ปุ่นที่เคยค้าขายหรือส่งของให้กองทัพญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาเห็นว่าร่ำรวยพอที่จะแบ่งปันให้พวกเขาได้ใช้สอยบ้าง

ทหารพวกนี้มีปืนพกติดตัวและถอดเครื่องแบบทิ้งแต่งตัวพลเรือนแบบคนไทย เริ่มต้นก็ไปพบพ่อค้าไต้หวันซึ่งขณะนั้นยังมีสัญชาติเป็นญี่ปุ่นซึ่งค้าขายกับกองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ได้ขู่เข็ญจะเอาเงินจากพ่อค้าพวกนี้ และยังไปพบพ่อค้าญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งไม่ถูกส่งตัวไปอยู่บางบัวทอง เพราะอ้างว่าเกิดที่สิงคโปร์ ได้สัญชาติอังกฤษ

ครั้นพบตัวแล้วก็บอกว่าพวกเขาจะไม่กลับญี่ปุ่นเพราะแพ้สงคราม ขายหน้าจะอยู่ในประเทศไทยไปก่อน และขอเงินใช้บ้าง แต่จากจำนวนเงินที่เรียกร้องนั้นเป็นเรือนหมื่นซึ่งไม่ใช่ขอความเห็นใจกันเสียแล้ว การเข้าไปหาก็มีการพกปืนให้พอเห็นด้วย พวกพ่อค้าญี่ปุ่นก็กลัว แต่ผัดให้มาเอาวันหลัง

พ่อค้าพวกนี้ได้มาหาข้าพเจ้า ขอร้องให้ข้าพเจ้าช่วย ข้าพเจ้าก็รับปากแต่ต้องขอเวลาสืบที่อยู่ของพวกนี้ก่อน ส่วนพ่อค้าญี่ปุ่นนั้นได้แอบมาหาข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว วิงวอนขอพาเอาภรรยา บุตร มาอยู่กับข้าพเจ้าระหว่างที่ตำรวจกำลังสืบหาตัวพวกนี้อยู่ เพราะเกรงว่าจะถูกพวกนี้ฆ่าเอา ข้าพเจ้าไม่ทราบจะทำอย่างไร ก็ต้องยกห้องให้ 1 ห้องที่บ้านข้าพเจ้า ให้เขาอาศัยอยู่ชั่วคราว ข้าพเจ้าได้วางตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบไว้ที่บ้านสองสามคน นอกจากที่ใช้ติดตามสืบสวนหาตัวทหารหนีทัพพวกนั้น

ข้าพเจ้าตัดสินใจถูกที่ให้เขามาหลบอยู่ที่บ้านข้าพเจ้า เพราะต่อมาอีกสองสามวันก็มีทหารพวกนี้สองสามคนมาด้อมๆ มองๆ ที่บ้านพักข้าพเจ้า ตำรวจสันติบาลซึ่งระวังอยู่แล้วก็เข้าจับกุมตัว บ้านพักข้าพเจ้าตอนนั้นอยู่ในจุฬาซอย 11 พวกทหารก็หนีออกถนนใหญ่วิ่งเข้าทางสวนใกล้สนามกีฬา ตำรวจติดตามจับมาได้ 2 คน เป็นที่ประหลาดที่สุดที่พวกทหารหนีทัพนี้ไม่ทราบว่าเป็นบ้านของข้าพเจ้า

ต่อมาอีกไม่กี่วันข้าพเจ้าไปธุระแถวเยาวราช เวลาประมาณ 19.00 น. เศษ สายของข้าพเจ้ามาพบข้าพเจ้าพอดีบอกว่าคนที่เป็นหัวหน้าทหารหนีทัพนั้นขณะนี้พักอยู่ที่โรงแรมใกล้ห้างใต้ฟ้า ขณะนี้ก็อยู่ ข้าพเจ้ามาคนเดียวทหารหนีทัพอาจหนีไปได้ง่าย จึงให้สายคอยดูอยู่แถวนั้น ส่วนข้าพเจ้าขับรถยนต์มาที่สถานีตำรวจนครบาลสามแยก ขอกำลังตำรวจมาช่วย ได้นายตำรวจมา 1 คน สายสืบ 1 คน

พอข้าพเจ้ามาถึงที่สายอยู่ สายก็บอกว่าทหารญี่ปุ่นผู้นั้นกำลังอยู่ในร้านอาหารชั้นล่างและชี้ตัวให้ข้าพเจ้าดูซึ่งอยู่กันคนละฝั่งถนน นุ่งกางเกงขายาวสวมเสื้อเชิ้ตสีฟ้า ข้าพเจ้ากับนายตำรวจนครบาลผู้นั้นก็ตรงเข้าไปประชิดตัว จับตัวได้โดยละม่อม ตรวจพบปืนเมาเซอร์ชนิดต่อด้ามพกอยู่ด้วย 1 กระบอกได้ จึงนำมาส่งสันติบาล ต่อมาเราได้สืบสวนแน่นอนแล้วว่าแก๊งนี้มีจำนวนอยู่เพียงเท่าที่จับกุมมาได้ และไม่มีผู้ใดแจ้งเพิ่มเติมเข้ามาอีก เหตุการณ์ก็เรียบร้อยดี ทางกรมตำรวจจึงให้ข้าพเจ้ามอบตัวทหารญี่ปุ่นหนีทัพนี้ให้กับกองทัพอังกฤษดำเนินการส่งกลับประเทศต่อไป

สำหรับทหารญี่ปุ่นที่ไม่ยอมกลับบ้านนี้ หลังจากนี้สองสามปีก็มีกระเส็นกระสายทางตำรวจภูธรส่งตัวมาให้ทีละคนสองคน แต่พวกนี้ก็ไม่ได้ไปประกอบอาชญากรรมอย่างใด ก็มอบให้สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษดำเนินการส่งกลับให้

ตั้งแต่ญี่ปุ่นได้เริ่มสู้รบกับจีนในสภาพที่เรียกว่าสงครามที่ไม่ได้ประกาศมาแต่ 7 กรกฎาคม 2480 จนข้าพเจ้าเสร็จการศึกษาเดินทางกลับประเทศไทยตอนปลาย พ.ศ. 2481 จากนั้นเรื่อยมา ก็ได้มีคดีพิเศษเกิดขึ้นในพระนครและต่างจังหวัด คือคนจีนในประเทศไทยแอนตี้ญี่ปุ่น ไม่ขายไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น พ่อค้าจีนคนใดไปขายสินค้าหรือซื้อสินค้าญี่ปุ่นเข้า จะเป็นเพราะว่าได้เคยติดต่อค้าขายกันมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ก็ถูกสมาคมลับของจีนส่งจดหมายไปเตือน ถ้ายังค้าขายต่อไปเช่นเดิมอีกก็เตือนเป็นครั้งที่ 1 ถ้าไม่หยุดก็มักจะถูกทำร้าย บางคราวถึงตาย

คนร้ายไม่ค่อยใช้ปืน แต่มักใช้กรรไกรขาเดียวแทงบริเวณท้องหรือซี่โครง โดยมากมักเลือกเวลาหัวค่ำ สถานที่ไม่จำเป็นต้องเป็นที่เปลี่ยว ใช้วิธีเดินสวนเฉียดแล้วแทง ผู้ถูกแทงมักจะรู้สึกจุก กว่าจะรู้สึกตัวร้องให้คนช่วยคนร้ายก็หนีไปแล้ว ตำรวจต้องใช้เวลาร่วมปีกว่าจะทำให้คดีนี้ลดลงมาได้ ที่ถูกจับศาลลงโทษ เมื่อพ้นโทษก็เนรเทศออกไป

ครั้นต่อมาเมื่อเกิดเป็นสงครามในแปซิฟิกและสงครามสิ้นสุดลง ก็เกิดการคิดบัญชีทำร้ายกับคนจีนซึ่งติดต่อค้าขายกับทหารญี่ปุ่นอีก มีพ่อค้าจีนคนสำคัญๆ ถูกยิงถึงแก่ความตายไปหลายคน ตำรวจสืบสวนจับกุมได้หลายราย ส่งฟ้องศาล ศาลลงโทษเป็นอยู่ระยะหนึ่งก็สงบลงไป

พ่อค้าสำคัญบางคนได้ช่วยเหลือรัฐบาลไทยส่วนหนึ่งโดยแบ่งเบาภาระไปจากรัฐบาลในยามสงคราม ซึ่งทั้งเจ้าของบ้านและผู้อาศัยเห็นอกเห็นใจกันในยามยากนั้น จะประกาศออกไปเช่นนั้นในระหว่างสงครามก็ไม่ได้ ผู้อื่นรวมทั้งผู้ทำร้ายก็ไม่ทราบความจริงก็ต้องสูญเสียคนจีนที่ดีคนหนึ่งไป


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ