ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ส. พลายน้อย |
เผยแพร่ |
ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ในเรื่อง “ขอดเกร็ดพงศาวดาร” ว่าในปัจจุบันมีบางท่านตีความเกี่ยวกับโบราณสถานในอยุธยาผิดไปจากความจริง เนื่องจากไม่ใช่คนพื้นที่ ไม่รู้เรื่องเดิมจึงสันนิษฐานไขว้เขวไปบ้าง
บัดนี้เรื่องน่าสงสัยเกิดขึ้นอีกแล้ว
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 อาจารย์ท่านหนึ่งส่งหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามาให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่ท่านผู้เขียนได้ตรวจสอบค้นคว้าเขียนไว้ นับว่ามีประโยชน์มาก แต่มีที่สะดุดใจอยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่อง “คุ้มขุนแผน” ที่ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
“ราวปี พ.ศ. 2483…ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎร์ซึ่งเป็นชาวอยุธยา ได้ทำการย้ายจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์สิริพัฒน์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2437 จากวัดสะพานเกลือบริเวณเกาะลอย ตรงข้ามที่ว่าการมณฑล มาสร้างขึ้นในบริเวณคุกนครบาลเก่า และให้ชื่อบ้านทรงไทยกลุ่มนี้ว่า คุ้มขุนแผน”
โดยที่ผมเกิดในเรือที่จอดอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับจวนสมุหเทศาภิบาลหรือที่เรียกกันว่า “ตำหนักสะพานเกลือ (เมื่อ พ.ศ. 2472) และตลอดวัยหนุ่มได้พายเรือผ่านตำหนักนี้นับครั้งไม่ถ้วน ครั้งยังเรียนหนังสือที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2488-89 เพื่อนร่วมชั้นก็ได้มาอาศัยร่มไม้ชายคาที่ตำหนักนี้กับบิดาของเขาซึ่งเป็นข้าราชการย้ายมาจากต่างจังหวัด
ฉะนั้นที่กล่าวว่าท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ย้ายจวนสมุหเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. 2483 จึงคลาดเคลื่อน และเท่าที่ทราบตำหนักสะพานเกลือเพิ่งมารื้อภายหลัง พ.ศ. 2500 เพื่อขยายโรงเรียนช่างต่อเรือ
อีกประการหนึ่งที่กล่าวว่าจวนเทศาภิบาลอยู่ตรงข้ามที่ว่าการมณฑลนั้น ก็ไม่ถูกต้องทีเดียวนัก เพราะที่ว่าการมณฑลอยู่ในพระราชวังจันทรเกษมซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป ถ้าจะว่าอยู่ตรงข้ามกับสถานีตำรวจก็ฟังได้ เพราะแต่ก่อนสถานีตำรวจหรือที่เรียกกันว่าโรงพักนั้นอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้าม
เมื่อครั้งผมเป็นเด็ก บ้านพักข้าราชการปลูกเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ด้านตะวันตกคือฝั่งเกาะเมือง ตั้งแต่โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศไปจนถึงตอนใต้พระราชวังจันทรเกษม มีทั้งบ้านพักสรรพากร อัยการ สัสดี ผู้พิพากษา ข้าหลวงประจำจังหวัด นายและพลตำรวจ บ้านเรือนทุกหลังทาสีเทารวมทั้งตำหนักสะพานเกลือด้วย ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือจะมีสะพานท่าน้ำทาสีขาวทุกแห่ง ซึ่งจะหาดูได้จากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสต้น
ความจริงเรื่องคลาดเคลื่อนดังกล่าว ผมเคยได้รับทราบมานานแล้ว เพราะมีผู้ส่งเอกสารของกรมที่ดูแลโบราณสถานของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาให้ดู เป็นประวัติของ “คุ้มขุนแผน” โดยเฉพาะ ขณะที่เขียนนี้หาไม่พบ แต่จำเนื้อหาได้ว่าทางราชการได้รื้อเรือนทรงไทยของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกาะลอยมาสร้างคุ้มขุนแผนเช่นเดียวกัน และดูเหมือนจะออกชื่อผู้ว่าราชการผู้นั้นด้วยว่าชื่อหลวงบริหารชนบท (ในครั้งนั้นยังเรียกตำแหน่งว่าข้าหลวงประจำจังหวัด)
ผมจำหลวงบริหารชนบทได้ ครั้งเป็นนักเรียนเคยถูกใช้ให้ถือหนังสือราชการไปส่งที่บ้านพักของท่านที่อยู่ในเกาะเมืองนั้นเอง แต่จำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน เพราะนานกว่า 60 ปีมาแล้ว จำได้แต่ว่าเป็นเรือนทรงไทยปลูกใหม่ บางทีผู้เขียนหนังสือดังกล่าวอาจเข้าใจผิดว่าตำหนักสะพานเกลือคงจะเป็นเรือนทรงไทยและเป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการก็เป็นได้ จึงได้กล่าวเช่นนั้น
ผมไม่มีเจตนาจะตำหนิอะไร แต่เห็นว่าถ้าเรามาช่วยกันตรวจสอบหาหลักฐานความถูกต้อง ก็จะดีกว่าปล่อยให้ผ่านไปอย่างผิดๆ
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “คุ้มขุนแผน” เขียนโดย ส. พลายน้อย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2560