อากรบ่อนเบี้ยในไทยมีแต่เมื่อใด ที่ผ่านมาเก็บได้มากน้อยเพียงใด

ภาพถ่ายการเล่นไพ่สมัยรัชกาลที่ 5 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นการจัดฉากเพื่อถ่ายรูปโดยตรง ฉากหลังวาดเป็นภาพพระพุทธรูปและพระเจดีย์ (ภาพจากหนังสือสมุดภาพกรุงเทพฯ)

บทความนี้ คัดย่อจากพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “ประชุมพระราชพงษาวดาร ภาค 17 ตำนานเรื่องเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม” พระโสภณเพ็ชรรัตน พิมพ์ในงานศพ หลวงอุดรภัณฑ์พาณิช เต็ง โสภโณดร ผู้บิดา ปีมะเม พ.ศ. 2462 โดยนำเนื้อหาเฉพาะส่วนที่ว่าด้วย “ตำนานอากรบ่อนเบี้ยในเมืองไทย” มานำเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

อากรบ่อนเบี้ยมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะมีขึ้นในรัชกาลไหนทราบไม่ได้แน่ ได้สอบสวนจดหมายเหตุที่ฝรั่งแต่งไว้ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ หาปรากฎว่ามีอากรบ่อนเบี้ยไม่ มาพบหลักฐานว่า มีอากรบ่อนเบี้ยในเมืองไทยเปนแน่นั้น เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ ด้วยมีปรากฎในกฎหมาย คือพระราชกำหนดเก่าบทที่ 42 ซึ่งตั้งเมื่อ ณ วันพุฒ เดือน 10 ขึ้น 11 คํ่า ปีชวด จุลศักราช 1118 (ตรงกับ พ.ศ. 2299 ก่อนสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐสวรรคต 2 ปี)

ความในพระราชกำหนดนั้นว่า ขุนทิพกับหมื่นรุดอักษรยื่นเรื่องราวให้กราบบังคมทูลขอตั้งบ่อนเบี้ยขึ้นในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทสงคราม เมืองสมุทปราการ รับจะประมูลเงินหลวงขึ้นเสมอปีละ 371 ชั่ง (29,680 บาท) ทรงพระราชดำริห์ว่าหัวเมืองทั้ง 3 นั้นเปนที่ใกล้สวนบางช้าง อันเงินอากรสวนขึ้นพระคลังอยู่เปนอันมาก แลได้มีกฎรับสั่งห้ามอยู่แต่ก่อน ว่ามิให้ตั้งบ่อนเบี้ยในหัวเมืองเหล่านั้น ซึ่งผู้มีชื่อมายื่นเรื่องราวให้กราบบังคมทูลดังนี้ผิดอย่างธรรมเนียม แลจะกระทำให้ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรทั้งปวงได้รับความเดือดร้อนขัดสนต่อไป

จึงมีพระราชโองการสั่งแก่ออกญารัตนาธิเบศร์ ผู้ว่าราชการที่สมุหมณเฑียรบาล ให้เอาตัวผู้กราบทูลขอประมูลลงพระราชอาญาฯ แลต่อไปเมื่อน่าถ้ามีผู้มาร้องขอประมูลพระราชทรัพย์ด้วยการอย่างใด ให้ (เจ้าพนักงาน) พิเคราะห์ดูแต่ที่ชอบที่ควร จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ แลห้ามมิให้ไปเดินเหินเจ้านายแลข้าราชการฝ่ายน่า ฝ่ายใน (อันมิใช่เจ้าน่าที่) ให้กราบทูลให้เปนอันขาด เนื้อความตามพระราชกำหนดที่กล่าวมานี้ พิเคราะห์ดูมีเค้าเงื่อนที่จะสันนิฐาน เรื่องตำนานอากรบ่อนเบี้ยได้หลายข้อ คือ

ข้อ 1 ที่ปรากฎในกระแสพระราชดำริห์ว่า ได้มีกฎห้ามมิให้ไปตั้งบ่อนเบี้ยในหัวเมืองที่ใกล้สวนใหญ่ อันเปนที่ได้เงินอากรหลวงอยู่ปีละมากๆ เช่นนี้ ส่อให้เห็นว่าเมื่อรัฐบาลจะตั้งอากรบ่อนเบี้ยขึ้นนั้น ได้มีความคิดจะยอมให้เล่นเบี้ยแต่ในที่บางแห่ง อิกประการหนึ่งที่ว่าถ้าให้ไปตั้งบ่อนเบี้ยขึ้นจะกระทำให้ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรเดือดร้อนขัดสนฉนี้ ส่อให้เห็นว่ายอมให้เล่นถั่วโปแต่คนบางจำพวก ไม่ใช่ยอมให้เล่นเปนสาธารณทั่วไป จึงสันนิฐานว่าการที่ตั้งอากรบ่อนเบี้ยนั้น เดิมเห็นจะประสงค์ให้แต่สำหรับจีนเล่น อย่างเดียวกับตั้งอากรฝิ่นเมื่อในรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินทรนี้ แต่แรกก็ยอมให้สูบแต่จีนห้ามมิให้ไทยสูบฝิ่น

ข้อ 2 ที่ปรากฎว่า ผู้ถวายเรื่องราวขอ “ประมูลเงินขึ้นเสมอ ปีละ 371 ชั่ง” ดังนี้ หมายความว่ารวมทั้งจำนวนเงินอากรเดิมอยู่ในนั้นด้วย คือว่าจะรับทำทั้งอากรบ่อนเบี้ยซึ่งมีอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาแล้ว แลขอขยายเขตรตั้งบ่อนต่อออกไปตามหัวเมืองทั้ง 3 นั้น จึงยอมเพิ่มเงินหลวงขึ้นเปนปีละ 371 ชั่ง ในข้อนี้เปนอันได้ความว่าเงินอากรบ่อนเบี้ยเวลานั้น รวมทั้งสิ้นเห็นจะไม่เกินปีละ 350 ชั่ง

ข้อ 3 ที่ในคำขอประมูลมิได้ออกชื่อเมืองนครไชยศรี เมืองสาครบุรี แลเมืองธนบุรี ข้ามไปขอตั้งที่เมืองราชบุรี เมืองสมุทสงคราม และเมืองสมุทปราการดังนี้ ส่อให้เห็นว่าเมืองนครไชยศรี เมืองสาครบุรี แลเมืองธนบุรีเห็นจะมีบ่อนเบี้ยรวมอยู่ในอากรแต่ก่อนแล้ว เพราะเปนที่มีจีนตั้งอยู่มากทั้ง 3 เมือง โดยนัยนี้สันนิฐานว่า เมื่อปีชวด พ.ศ. 2299 ปีที่ตั้งพระราชกำหนดอันกล่าวมานั้น บ่อนเบี้ยเห็นจะมีแต่ที่ในกรุงศรีอยุทธยากับหัวเมืองที่ใกล้เคียงอิกบางเมือง คือเมืองนนทบุรี 1 เมืองธนบุรี 1 เมืองนครไชยศรี 1 เมืองสาครบุรี 1 บางทีจะมีที่เมืองฉะเชิงเทรา ด้วยอิกเมือง 1 แต่ที่เมืองวิเศษไชยชาญกับเมืองลพบุรีนั้นสงไสยอยู่ แลอากรบ่อนเบี้ยทั้งปวงรวมอยู่ในนายอากรคนเดียว

ข้อ 4 ที่เงินอากรบ่อนเบี้ยทั้งสิ้นไม่ถึงปีละ 39,000 บาท ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าคงจะตั้งบ่อนแต่ตามหมู่บ้านจีนเปนพื้น บางที่จะพึ่งเกิดอากรบ่อนเบี้ยขึ้นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐนั้นเองก็จะเปนได้ด้วยเมื่อปีชวดที่ตั้งพระราชกำหนดที่กล่าวมานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐเสวยราชย์มาได้ 24 ปี ดูบ่อนเบี้ยยังไม่แพร่หลาย แลเงินอากร ก็ไม่เท่าใดนัก ถ้าอากรบ่อนเบี้ยได้ตั้งมาถึงสี่สิบห้าสิบปี เห็นเงินอากรจะมากกว่านั้น

เมื่อล่วงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐมาแล้ว ในระหว่างเวลา 9 ปี เมื่อก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า อากรบ่อนเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างหามีจดหมายเหตุปรากฎไม่ แต่เมื่อถึงชั้นกรุงธนบุรีนั้น ทราบการที่เปลี่ยนแปลงได้เปนแน่อย่าง 1 ว่าปล่อยให้ไทยเล่นถั่วโปได้ไม่ห้ามปราม ด้วยมีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร ว่า

เมื่อปีขาล พ.ศ. 2312 พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชได้แล้วโปรดให้มีการเล่นรื่นเริง ให้ฝีพายทนายเลือกกำถั่วกันน่าพระที่นั่ง เล่นกันถึงกระดานละ 50 ชั่งก็มี 100 ชั่งก็มี เพราะคราวนั้นรวยกันมาก แลว่าเปนการสนุกนักดังนี้ เห็นได้ว่าพวกฝีพายทนายเลือกรู้จักเล่นถั่วโปกันชำนาญมาแล้ว แต่ครั้งกรุงธนบุรีเปนเวลาบ้านแตกเมืองเสียมาใหม่ๆ พึ่งจะกลับเปนอิศร ผู้คนพลเมืองยังเบาบางบกพร่อง บ่อนเบี้ยเห็นจะไม่มีกี่ตำบลนัก คงรวมอยู่ในนายอากรคนเดียวอย่างครั้งกรุงเก่า เปนแต่อนุญาตให้ไทยเล่นได้ตามใจไม่ห้ามปราม

แลมีประเพณีอิกอย่าง 1 ซึ่งปรากฎในชั้นหลังว่า ถึงเวลาตรุษจีนตรุษไทยแลสงกรานต์ ยอมให้ราษฎรเล่นเบี้ยกันได้ ในที่ทั้งปวงตามชอบใจ มิให้นายอากรห้ามปราม ประเพณีอันนี้บางทีจะมีขึ้นเมื่อครั้งกรุงธนบุรีก็จะเปนได้ ด้วยสมัยนั้นทำศึกสงครามไม่ขาดปี มีทั้งทหารไทยแลทหารจีน การที่ให้สนุกสนานเปนการเอาใจไพร่พลให้ร่าเริง ดังเช่นโปรดให้เล่นถั่วโปกันน่าพระที่นั่งที่เมืองนครฯ มีอยู่เปนตัวอย่าง

ถึงกรุงรัตนโกสินทร ในชั้นแรกไม่ใคร่มีเค้าเงื่อนที่จะทราบได้ว่า การอากรบ่อนเบี้ยเปนอย่างไร จึงสันนิฐานว่าจะคงมีมาอย่างครั้งกรุงธนบุรี จะผิดกันก็แต่ที่ไม่ทรงอุดหนุนการเล่นเบี้ยนัก มีการเนื่องในอากรบ่อนเบี้ยอย่าง 1 ซึ่งปรากฎว่าเกิดขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 เดิมบ้านพวกจีนตั้งอยู่ตรงที่สร้างพระบรมมหาราชวังทุกวันนี้ ครั้นเมื่อย้ายพระนครมาสร้างฝั่งตวันออก จะสร้างพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดให้พวกจีนย้ายลงไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สำเพ็ง บ่อนเบี้ยสำหรับบ้านจีนเดิมสร้างที่ริมแม่นํ้าตรงน่าวัดเกาะ แล้วย้ายมาตั้งริมถนนสำเพ็งที่กงสีล้ง บ่อนกงสีล้งนี้เปนหัวน่าบ่อนเบี้ยทั้งปวง ตลอดมาจนจัดการลดบ่อนเบี้ยลง

เมื่อในรัชกาลที่ 5 ที่ว่าเปนหัวน่านั้น คือเปนต้นแบบแผนแลสัญญาอาณัติแก่บ่อนเบี้ยทั้งปวง เปนต้นว่าถึงตรุษสงกรานต์อันเปนเวลาที่ราษฎรจะเล่นถั่วโปกันได้ตามชอบใจ นายบ่อนกงสีล้งเปนผู้มีน่าที่ที่จะตีม้าล่อบอกเปนสัญญาแก่ชาวพระนครว่า “เล่นเบี้ยได้ละ” ครั้นเมื่อสิ้นตรุษสงกรานต์ นายบ่อนกงสีล้งก็มีน่าที่ที่จะตีม้าล่อบอกประกาศให้เลิกเล่นฉนี้เปนตัวอย่าง มีเนื้อความปรากฎในจดหมายเหตุเก่าครั้งรัชกาลที่ 2 อิกข้อ 1 ว่า เงินอากรบ่อนเบี้ยครั้งนั้นปีละ 260,000 บาท [1] ความข้อนี้ก็มีทางที่จะสันนิฐานเรื่องตำนานอากรบ่อนเบี้ยได้อีกบ้าง คือ

1. ตั้งแต่ออกพระราชกำหนดในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ เมื่อ พ.ศ. 2299 อันกล่าวมาแล้ว นับเวลามาจนสิ้นรัชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2367 ได้ 68 ปี ในระหว่างเวลาเท่านี้ เงินอากรบ่อนเบี้ยขึ้นถึง 10 เท่า คิดดูว่าจะขึ้นเพราะเหตุใด จะว่าเพราะผู้คนพลเมืองมากขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ใช่เหตุ

ด้วยเมื่อเสียกรุงเก่าแก่พม่าข้าศึกเสียผู้คนเปนอันมาก หากจะมีผู้คนเพิ่มขึ้นในระหว่างนั้น จำนวนคนก็เห็นว่าจะไม่มากกว่าครั้งกรุงเก่าเท่าใดนัก จึงส่อให้เห็นว่าที่เงินอากรขึ้นถึงปานนั้น คงเปนเพราะเหตุที่เปิดให้ไทยเล่นเบี้ย แลมีบ่อนเบี้ยแพร่หลายออกไปตามหัวเมืองมากขึ้น ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี ฤๅแต่ชั้นกรุงเก่า ตอนปลายก็จะเปนได้ เงินอากรบ่อนเบี้ยคงขึ้นเรื่อยมาโดยอันดับแต่ครั้งกรุงเก่าฤๅครั้งกรุงธนบุรีแล้ว

มาถึงรัชกาลที่ 2 ไม่มีศึกสงคราม ผู้คนได้ทำมาค้าขายเปนปรกติ เงินอากรบ่อนเบี้ยก็คงขึ้นอิกบ้าง แต่หาได้ขึ้นโครมครามในคราวหนึ่งคราวเดียวมากมายเท่าใดไม่ ถ้ามีอย่างนั้น ก็คงเปนเรื่องเล่าฦๅกันเปนอัศจรรย์ปรากฎมาจนภายหลัง

2. มีข้อสันนิฐานอิกอย่าง 1 ว่า จำนวนเงิน 260,000 นั้นมากอยู่ ในสมัยนั้นรัฐบาลเห็นจะไม่ยอมให้อยู่ในมือนายอากรเดียว เพราะฉนั้นอากรบ่อนเบี้ยซึ่งปรากฎในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ ครั้งกรุงเก่า ว่าอยู่ในนายอากรเดียว เห็นจะแยกกันเปนหลายคนขึ้นในชั้นหลังมา จะเปนในชั้นกรุงเก่าตอนปลาย ฤๅในชั้นกรุงธนบุรีก็เปนได้ ครั้นเมื่อมีนายอากรเปนหลายคนขึ้น จึงเกิดลักษณการแบ่งแขวงอากรบ่อนเบี้ยขึ้นพร้อมกัน คือนายอากรคน 1 ให้เปนนายบ่อนแต่ในแขวงอัน 1 ที่ตัวได้รับอำนาจ ข้อนี้เปนข้อสำคัญอันหนึ่งของลักษณอากรบ่อนเบี้ย ซึ่งจะอธิบายต่อไปข้างน่า

ในรัชกาลที่ 3 จัดระเบียบแบบแผนการภาษีอากรต่างๆ หลายอย่าง ประกอบกับที่การค้าขายเจริญขึ้นโดยลำดับมา ปรากฎว่าเงินอากรบ่อนเบี้ยได้ราวปีละ 400,000 บาท นอกจากเงินอากรหวยซึ่งตั้งขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ 3 นั้นอิกอย่าง 1 ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างน่า

ครั้นต่อมาถึงรัชกาลที่ 4 ตั้งอากรการพนันเพิ่มเข้าในอากรบ่อนเบี้ยอิกอย่าง 1 บัญญัติว่าถ้าใครจะเล่นพนันเอาทรัพย์สินกันในการเล่นเหล่านี้ คือ ไพ่จีน 1 ไพ่ไทย 1 ไพ่แปดเก้า 1 ไพ่ช้างงา 1 ต่อแต้ม 1 พุ่งเรือ 1 หมากรุก 1 สะแก 1 สะกา 1 ดวด 1 วิ่งวัวคน 1 วิ่งวัวระแทะ 1 วิ่งม้าฤๅวิ่งวัวควาย 1 แข่งเรือ 1 ชนไก่ 1 ชนนก 1 กัดปลา 1 ต้องเสียภาษีแกอากรบ่อนเบี้ยในแขวงที่จะเล่นนั้นก่อนจึงจะเล่นได้ เงินอากรการพนันบวกขึ้นในอากรบ่อนเบี้ย เพราะฉนั้นเมื่อในรัชกาลที่ 4 เงินอากรบ่อนเบี้ยปี 1 ได้ราว 500,000 บาท [2]

ลักษณอากรบ่อนเบี้ยที่แก้ไขขยายการโดยลำดับแต่ก่อนมา สอบสวนทราบได้แต่เปนเค้าความดังแสดงมา ทราบไม่ได้ชัดว่าการอย่างไหนเกิดขึ้นครั้งใดเพียงใด ได้แต่ยุติว่าการอากรบ่อนเบี้ยในเมืองไทยเจริญ แพร่หลายโดยลำดับมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดให้จัดการลดบ่อนเบี้ยให้น้อยลง ตั้งแต่ปี ชวด พ.ศ. 2431 เปนต้นมา

การเล่นถั่วโปในเมืองไทยนับว่าเจริญแพร่เหลายถึงที่สุดเมื่อปีกุญ พ.ศ. 2430 มีจำนวนบ่อนเบี้ยในกรุงเทพฯ รวมกับแขวงเมืองนนทบุรีเบ็ดเสร็จ 403 ตำบล บ่อนเบี้ยมีตามหัวเมืองทุกมณฑลรวมกันอิกประมาณ 210 ตำบล ลักษณการอากรบ่อนเบี้ยในเวลานั้นเปนอย่างไรจะอธิบายในตอนต่อไปนี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] มีในจดหมายเหตุของหมอครอฟอต ซึ่งเปนทูตอังกฤษเข้ามาเมื่อปลายรัชกาลที่ 2

[2] ตามบาญชีของสังฆราชปัลคัว มีในหนังสือเซอยอนเบาริง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2565