จากเสาโอบิลิสก์อียิปต์โบราณ สู่ “เอล โอเบลิสโก” แลนด์มาร์กกลางกรุงบัวโนสไอเรส

(ภาพจาก แกลเลอรี่เวิลด์คัพ, 36 ปีที่รอคอย! สีสันจัดเต็มแฟนบอลอาร์เจนไตน์ รวมตัวฉลองแชมป์โลก สมัยที่ 3 : มติชนออนไลน์, 19 ธันวาคม 2565)

จากบรรยากาศการเฉลิมฉลองแชมป์ฟุตบอลโลกของชาวอาร์เจนตินาที่เนืองแน่นใจกลางกรุงบัวโนสไอเรส หลายท่านคงสะดุดตากับแลนด์มาร์กอันโดดเด่นที่เป็นอนุสาวรีย์สูงตระง่านกลางจตุรัส July 9 Avenue หรือถนน 9 กรกฎาฯ อนุสาวรีย์นี้คือ เสาโอบิลิสก์ หรือที่ชาวอาร์เจนไตน์เรียกว่า “เอล โอเบลิสโก” (El Obelisco) ถือเป็น Iconic Landmark สำคัญที่สุดของเมือง ซึ่งสร้างขึ้นในโอกาสครบสี่ศตวรรษของการก่อตั้งเมืองแห่งนี้

แฟนบอลอาร์เจนไตน์ รวมตัวฉลองแชมป์โลก สมัยที่ 3 (ภาพจาก แกลเลอรี่เวิลด์คัพ: มติชนออนไลน์, 19 ธันวาคม 2565)

คำว่า โอบิลิสก์ (Obelisk) มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า Obeliskos ซึ่งแปลว่า เข็ม เหล็กแหลม หรือเสาปลายแหลม จากลักษณะของเสาโอบิลิสก์ที่เป็นแท่งสูง มี 4 ด้าน ฐานกว้างแล้วค่อย ๆ เรียว บริเวณยอดตัดจนมีมุมแหลมแบบปิรามิด ปลายยอดห่อหุ้มด้วยโลหะผสมทองคำและเงิน เรียกว่า อิเล็กตรัม (Electrum)

ปัจจุบันเราสามารถพบเสาโอบิลิสก์ในสถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วโลก เช่น กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จตุรัสเซนต์ปีเตอร์ส ของนครรัฐวาติกัน มักจะตั้งอยู่อย่างโดดเด่น (และโดดเดี่ยว) รายล้อมด้วยอาณาบริเวณที่ประเมินด้วยตาก็รู้ได้ทันทีว่าพื้นที่นั้นมีเสาโอบิลิสก์เป็นศูนย์กลาง แต่แรกทีเดียวต้นกำเนิดของเสานี้ในอารยธรรมอียิปต์โบราณนั้น เสาโอบิลิสก์จะตั้งเป็นคู่ระหว่างเส้นทางสู่วิหารเทพเจ้า เช่น วิหารคาร์นัก วิหารลักซอร์

ตัวเสาถูกแกะสลักเป็นอักขระเฮียโรกลิฟฟิก เล่าเรื่องราวของฟาโรห์ผู้สร้างวิหารหรือเสาโอบิลิสก์นั้น ไม่ก็ตำนานของเทพเจ้าประจำวิหาร เปรียบเหมือนป้ายกำกับบอกข้อมูลสถานที่นั่นเอง

เฮโรโดตุส (Herodotus) ปราชญ์ชาวกรีกมีโอกาสเดินทางไปอียิปต์ ได้พบเสาโอบิลิสก์และบรรยายถึงมัน ทำให้เสาโอบิลิสก์เป็นที่รู้จักของชาวกรีกและโรมัน

ที่มาของเสาโอบิลิสก์ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการชาวอียิปต์ แพทริเซีย แบล็คเวล การี (Patricia Blackwell Gary) และริชาร์ด ทัลคอทท์ (Richard Talcott) ตั้งข้อสังเกตจากรูปร่างและวัตถุประสงค์ของการสร้างโดยเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ “เสาแสงอาทิตย์” หรือ Sun pillar ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการสะท้อนของแสงอาทิตย์กับผลึกน้ำแข็งในชั้นบรรยากาศหรือก้อนเมฆในยามอรุณรุ่งและช่วงตะวันกำลังลับขอบฟ้า [1] เกิดเป็นลำแสงเรียวยาวเหนือท้องฟ้า

ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นอำนาจของเทพรา (Ra) หรืออะมอนเร (Amon Re) สุริยเทพและเทพเจ้าสูงสุดของพวกเขา เป็นที่มาของการสร้างเสาโอบิลิสก์เพื่อบูชาเทพเจ้า โดยมักสร้างจากหินทั้งก้อนและเป็นหินแกรนิตสีแดงจากเหมืองที่อัสวาน เหมืองหินสำคัญของอียิปต์โบราณ

นักอียิปต์วิทยาเชื่อว่ามีการสร้างเสาโอบิลิสก์ตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 4 (2,575-2,465 ปีก่อนคริสตกาล) แล้ว แต่ไม่มีหลักฐานหลงเหลือ ทั้งนี้ มีเสาโอบิลิสก์แห่งวิหารดวงอาทิตย์ของราชวงศ์ที่ 5 แต่เป็นเสาขนาดย่อมที่สูงเพียง 3.3 เมตรเท่านั้น เสาโอบิลิสก์ขนาดใหญ่อายุเก่าแก่ที่สุดจากการค้นพบในปัจจุบันคือ เสาโอบิลิสก์ฟาโรห์เซนุสเรทที่ 1 (Senusret I, 1971-1926 ปีก่อนคริสตกาล) แห่งราชวงศ์ที่ 12 [2] ตั้งอยู่ ณ เมืองโบราณเฮลิโอโปลิส ไม่ห่างจากกรุงไคโร บริเวณนั้นเคยเป็นที่ตั้งวิหารเทพรา โดยเสานี้สูง 21 เมตร และหนักถึง 120 ตัน

เสาโอเบลิสก์ยุคอียิปต์โบราณขนาดใหญ่ที่สุด คือ เสาโอเบลิสก์ลาเตรัน (Laterano Obelisk) สูงถึง 32 เมตร ฐานด้านละ 9 ฟุต และมีน้ำหนัก 230 ตัน สร้างในสมัยของฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 (Thutmose III, 1479 -1726 ปีก่อนคริสตกาล) เคยอยู่ที่วิหารคาร์นัก เมืองลักซอร์ ประเทศอียิปต์ ก่อนถูกขนย้ายไปอิตาลี ปัจจุบันอยู่ที่จัตุรัสหน้ามหาวิหารลาเตรัน (Lateran Basilica) ในกรุงโรม

มีคำจารึกบนฐานเสาโอเบลิสก์เสาหนึ่งของพระนางฮัตเชปซุต (Hatshepsut) ที่วิหารคาร์นัก ระบุว่างานตัดหินก้อนนั้นสำหรับสร้างโอบิลิสก์และการขนย้ายเสาจากเหมืองใช้เวลาถึงเจ็ดเดือน วิหารของพระนาง ที่เมืองธีบส์ (Thebes) ยังมีภาพการเคลื่อนย้ายเสาโอเบลิสก์โดยเรือในแม่น้ำไนล์ และปลายทางเป็นคนงานวางเพลาบนฐานเสาและลากมันขึ้นจากแนวดินที่ลาดเอียง การทำเหมืองหินและสร้างเสาโอบิลิสก์แสดงถึงอัจฉริยะด้านงานวิศวกรรมและการจัดการกำลังคนของชาวอียิปต์โบราณได้เป็นอย่างดี

เสาโอบิลิสก์ในภาพ “Joseph Sells Grain” วาดโดย Bartholomeus Breenbergh, ปี 1655 (ภาพจาก Wikimedia Commons / Web Gallery of Art)

แต่หลังจากดินแดนอียิปต์เสื่อมอำนาจลงและถูกต่างชาติผลัดกันเข้ามาครอบครอง ทั้งเปอร์เซีย กรีก โรมัน จึงมีการขนย้ายเสาโอบิลิสก์จากอียิปต์ไปต่างแดน โดยเฉพาะในยุคจักรวรรดิโรมัน เสาโอบิลิสก์จำนวนหนึ่งถูกขนข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังยุโรปโดยเฉพาะคาบสมุทรอิตาลี ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 รัฐบาลอียิปต์ยังมอบเสาโอเบลิสก์คู่หนึ่งให้แก่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยเสาหนึ่งตั้งอยู่ที่เซ็นทรัลพาร์ก นครนิวยอร์ค และอีกเสาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน

El Obelisco

เสาโอบิลิสก์แห่งกรุงบัวโนสไอเรสตั้งอยู่กลางถนนหลักเส้นสำคัญของเมืองคือถนน “9 กรกฎาฯ” (9 กรกฎาคม 1816 อาร์เจนตินาประกาศเอกราชจากสเปนอย่างเป็นทางการ) หรือ Avenida 9 de Julio และถนนเส้นรอง Avenida Corrientes โดยถนน 9 กรกฎาฯ ยังรับการยกย่องว่าเป็นถนนที่กว้างที่สุดในโลกด้วย [3] เพราะมีถึง 16 เลนส์ และกว้าง 110 เมตร ทั้งมีชื่อเสียงว่าเป็นถนนที่ไม่เคยหลบใหล

เอล โอเบลิสโก เป็นโอบิลิสก์สมัยใหม่ที่สร้างขึ้นในปี 1936 เพื่อรำลึกการครบรอบ 400 ปีของการก่อตั้งบัวโนสไอเรสโดย เปโดร เดอ เมนโดซา (Pedro de Mendoza) ตั้งแต่ปี 1536 อนุสาวรีย์นี้ยังเป็นจุดที่ธงชาติอาร์เจนตินาถูกชักขึ้นอย่างเป็นทางการตำแหน่งแรกของเมือง โดยมีความสูง 67.5 เมตร ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอาร์เจนตินาชื่อ อัลเบอร์โต เปรบิสช์ (Alberto Prebisch) แต่ละด้านของเสาเป็นฐานกว้าง 8.8 เมตร

เอล โอเบลิสโก ระหว่างก่อสร้าง, ปี 1936 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เอล โอเบลิสโก คือสัญลักษณ์ของกรุงบัวโนสไอเรสและจุดศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ของเมือง มีรถไฟใต้ดินประจำเมือง 3 สายตัดผ่านตำแหน่งนี้โดยมีสถานีเชื่อมต่อทุกสายอยู่ใต้ดินบริเวณที่ตั้งของอนุสาวรีย์ บริเวณนี้จึงมักเป็นจุดรวมพลเพื่อการเฉลิมฉลองต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับกีฬา รวมถึงการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองของชาวบัวโนสไอเรสและชาวอาร์เจนตินา

โครงสร้างใน เอล โอเบลิสโก ไม่ได้เป็นหินเนื้อตันแบบเสาโอบิลิสก์ดั้งเดิมของอียิปต์ แต่มีภายในกลวงและกว้างพอให้มนุษย์เข้าไปได้ มีบันได 206 ขั้น และจุดพัก 7 แห่งสำหรับนำขึ้นไปสู่จุดชมวิวของยอดเสาด้านบนซึ่งมีหน้าต่างทั้ง 4 ด้าน แต่ไม่ได้เปิดให้เข้าชมแบบสาธารณะแต่อย่างใด

แม้จะกลายเป็นสถานสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง แต่แรกเริ่มเดิมที เอล โอเบลิสโก ไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเมืองบริเวณนั้นมาแต่แรก เพราะช่วงวางโครงการและเริ่มก่อสร้างทางการเมืองต้องเผชิญกระแสต่อต้านอย่างหนัก กระทั่ง 3 ปีหลังจากเปิดตัวอนุสาวรีย์แห่งนี้ ทางการถึงขั้นอนุมัติให้มีการรื้อถอน เอล โอเบลิสโก แต่ท้ายที่สุดเป็นนายกเทศมนตรีของกรุงบัวโนสไอเรสที่ตัดสินใจคัดค้านมติดังกล่าวและเก็บอนุสาวรีย์นี้ไว้ในท้ายที่สุด

นับแต่นั้น “เอล โอเบลิสโก” จึงเป็นแลนด์มาร์กหลักของการเฉลิมฉลอง การแสดงออกทางศิลปะ และการเรียกร้องทางเมืองโดยประชาชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

[1] Deborah Byrd, EARTHSKY COMMUNICATIONS INC. (Retrieved Dec 22, 2022) : What is a sun pillar or a light pillar? (Online)

[2] www.egypttoday.com (05 Sep 2022) : Meet the Obelisk of Senusret I. (Online)

[3] Guinness World Records (Retrieved Dec 22, 2022) : Widest avenue, AVENIDA 9 DE JULIO. (Online)

ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล, Art-Ed Chula (25 เมษายน พ.ศ. 2553) : เสาโอเบลิสก์. (ออนไลน์)

Encyclopaedia Britannica (Retrieved Dec 22, 2022) : obelisk, pillar. (Online)

Joshua J. Mark, The World History Encyclopedia (06 Nov 2016) : Egyptian Obelisk. (Online)

San Nicolás, turismo.buenosaires.gob.ar (Retrieved Dec 22, 2022) : The obelisk. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2565