สำรวจสุขภาพของคนโบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพประกอบเนื้อหา - หุ่นจำลองมนุษย์โบราณ

สุขภาพของคนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : หลักฐานสำคัญและท้าทายจากการศึกษาด้านโบราณชีววิทยาในประเทศไทย

นับเป็นเวลาเกือบ 2.5 ล้านปีมาแล้ว ตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์ในสกุลโฮโม (Homo) ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับมนุษย์ปัจจุบัน ปรากฏขึ้นมาบนโลกนั้น ที่วิถีชีวิต การดำรงชีพ รวมทั้งการจัดระเบียบสังคมยังคงเหมือนเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก มนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์อาศัยอยู่ร่วมและรวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ หาอาหารตามธรรมชาติ ไม่มีความแตกต่างทางสังคม (Price and Gebauer 1995)

จนกระทั่งเข้าสู่ยุคที่มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เช่น การทำเครื่องมือการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ และมีการเกษตร จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในสังคมมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงจากการล่าสัตว์หาของป่ามาสู่การเกษตรทำให้มีความมั่นคงด้านอาหาร มีอาหารมากพอจะเลี้ยงดูผู้คนจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือมีประชากรเพิ่มขึ้น สังคมก็เริ่มซับซ้อนยุ่งยากตามมา เครื่องมือเครื่องใช้หรือเทคโนโลยีก็พัฒนาขึ้น และผู้คนก็อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเป็นชุมชนและไม่เคลื่อนย้ายเร่รอน

อย่างไรก็ตาม แม้ในภาพรวมดูเหมือนว่าสังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและมีประโยชน์ร่วมกัน แต่หลักฐานด้านโบราณชีววิทยาจากการศึกษาโครงกระดูกของมนุษย์โบราณในบางพื้นที่ของโลกก็พบว่าผู้คนมีสุขภาพอนามัยไม่ค่อยดีนัก มีโรคภัยไข้เจ็บและอัตราการตายสูง (Larsen 2015) ผลที่ตามมาในที่สุดที่เห็นได้ชัดในสมัยหลังๆก็คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและประชากรนำไปสู่ภาวะประชากรแออัดสุขภาพเสื่อมโทรมทุโภชนาการและความเป็นอยู่แย่ลงซึ่งยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบันกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบหรือทุกข์ทรมานมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือสตรีและเด็ก

บทความนี้เป็นการศึกษาเรื่องสุขอนามัยของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยในช่วงสมัยที่มีการเกษตรอย่างเข้มข้น โดยการศึกษาด้านโบราณชีววิทยา (bioarchaeology) หรือการศึกษาผู้คนจากซากร่างกายที่พบในแหล่งโบราณคดี (Larsen 2015) เพื่อให้เราเข้าใจกันมากขึ้นว่าวิถีชีวิตการดำรงชีพด้วยการเกษตรมีผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างไร

รูปที่ ๑ การขุดค้นโครงกระดูกทารกสมัยสำริดที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา (ภาพโดย Nigel Chang)

ในทางวิชาการ มีความเชื่อต้นแบบหรือโมเดลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสุขภาพอนามัยยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่ว่าที่ไหนและเมื่อไรก็ตามที่มนุษย์เปลี่ยนวิถีการดำรงชีพจากการเก็บของป่าล่าสัตว์มาสู่การเพาะปลูก ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการบริโภค มีอาหารชนิดใหม่ แต่สุขภาพแย่ลง มีโรคติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และคุณภาพชีวิตแย่ลง อาหารที่คนบริโภคก็อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต และมีอาหารที่เด็กและทารกกินได้มากขึ้น ทำให้ระยะเวลาการเลี้ยงลูกโดยดื่มนมจากเต้า (breastfeeding) สั้นลง และมารดามีระยะเจริญพันธุ์เร็วขึ้น (Larsen 1995) ส่วนสุขภาพอนามัยที่แย่ลงก็เนื่องมาจากประชากรแออัด ผู้คนอยู่ใกล้ชิดติดกันในชุมชน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการที่มีโรคติดเชื้อจากคนภายนอกที่อพยพเข้ามาในชุมชนและโรคติดต่อจากสัตว์มากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสังคม (Larsen 1995, 2015)

แม้ว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตมาสู่การเกษตรจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก แต่โมเดลดังกล่าวข้างต้นมาจากการวิจัยในยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่เมื่อไม่นานมานี้การวิจัยในพื้นที่อื่น ดังเช่นการวิจัยของผู้เขียนในประเทศไทย (ดร. ฌาน ฮาลโครว์ ทำวิจัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วน ดร. ธนิก เลิศชาญฤทธ์ ทำวิจัยในภาคกลาง) ได้ค้นพบหลักฐานที่ท้าทายโมเดลดังกล่าว เราพบว่ามนุษย์ตอบสนองและปรับตัวในสังคมเกษตรกรรมค่อนข้างซับซ้อนและแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิภาค (Tayles, Halcrow, and Domett  2007; Eshed et al. 2010; Halcrow et al., 2013) ซึ่งแตกต่างจากโมเดลที่กล่าวมา ตัวอย่างเช่น จากการศึกษาด้านโบราณชีววิทยาพบว่าทารกและเด็กยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กในสังคมเกษตรกรรมในดินแดนที่ราบสูงโคราชมีความตึงเครียดทางสรีรวิทยาและเชื้อโรคมากขึ้น (Halcrow and Tayles 2008; Lewis 2007) (รูปที่ 1)

การศึกษาวิจัยด้านโบราณชีววิทยาเมื่อไม่นานมานี้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยพบว่าในช่วงสมัยเหล็ก (ประมาณ 2,350 ปีมาแล้ว มาจนถึงเมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว) พบว่าทารกและเด็กมีอัตราการตายสูงและมีสุขภาพอนามัยค่อนข้างเสื่อมโทรม เด็กเป็นโรคติดเชื้อมากขึ้น (Halcrow, Tayles, and King 2016) ตัวอย่างเช่น ที่แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก แหล่งโบราณคดีโนนบ้านจาก และแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด พบว่าอัตราการตายของทารกสูงกว่าในสมัยสำริด และยังพบว่าทารกเสียชีวิตในครรภ์มารดาหรือเสียชีวิตก่อนคลอดอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าทารกและเด็กที่พบในแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา มีปัญหาโรคกระดูกพรุนและกะโหลกบางด้วย ส่วนผู้ใหญ่บางคนที่พบในแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีโรคติดเชื้อด้วย (สันนิษฐานว่าเป็นวัณโรคและโรคเรื้อน)

ปัญหาสุขภาพอนามัยของผู้คนในสมัยเหล็กที่กล่าวมาข้างต้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการเพาะปลูกข้าวนาดำแบบเข้มข้นและการจัดการน้ำ (เช่น การขุดคูน้ำ การสร้างคันดิน เพื่อกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร) สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเชื้อโรคและโรคติดเชื้อซึ่งมีแหล่งที่มาจากน้ำขัง (King et al., under review)

หลักฐานโบราณคดีในพื้นที่แถบลุ่มน้ำมูลตอนบนซึ่งสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้งบ่งชี้ว่าประชากรในสมัยเหล็กมีมากขึ้นและผู้คนตั้งถิ่นฐานกระจายขยายเป็นวงกว้างในพื้นที่ต่างๆ อย่างไม่เคยพบมาก่อน และดังนั้นจำเป็นต้องปรับตัวในการทำนาดำ (wet rice cultivation) เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงประชากรให้เพียงพอดังจะเห็นได้จากการขุดคูน้ำและสร้างคันดินขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง บางชุมชนมีคูน้ำและคันดิน 2-3 ชั้นเพื่อกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภค การเพาะปลูกข้าวอาจจะได้ผลผลิตมากจนมีส่วนเหลือกินเหลือใช้สำหรับนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของอื่นๆ จากชุมชนที่อยู่ห่างไกล จนเกิดเครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค (Lertcharnrit 2014; Carter 2015) ทำให้เกิดการติดต่อระหว่างกลุ่มประชากร รวมทั้งการอพยพหรือไปมาหาสู่กัน ซึ่งอาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคบางอย่างเข้าสู่ชุมชน  นอกจากนี้ การสร้างคูน้ำคันดิน มีน้ำขัง ก็ทำให้มีเชื้อโรคที่เกิดจากแหล่งน้ำ เช่น พยาธิ ไข้มาลาเรียจากยุงที่วางไข่ในน้ำ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนในภาพรวม

ผู้เขียนขอเสนอเพิ่มเติมว่าในอนาคตควรมีการศึกษาด้านโบราณชีววิทยาในพื้นที่ต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อตรวจสอบว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในสมัยเหล็ก หรือสมัยก่อนที่จะมีการตั้งชุมชนเมืองขนาดใหญ่ในสมัยประวัติศาสตร์ยุคแรกเริ่มซึ่งพัฒนาตามมาหลังสมัยเหล็กนั้น ผู้คนมีสุขอนามัยเป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้จากอดีตสำหรับการปรับตัวในอนาคต

­­­­­­­­­สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


กิตติกรรมประกาศ : ดร. ฌาน ฮาลโครว์ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก New Zealand Royal Society Marsden Fund, University of Otago Health Science Division Career Development Postdoctoral Fellowship, และ University of Otago และ ดร. ธนิก เลิศชาญฤทธ์ ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนทั้งสองได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงานและนักวิชาการหลายท่าน เช่น Dr. Charles Higham Dr. Nancy Tayles Dr. Rachanie Thosarat Dr. Troy Case Dr. Scott Burnett ผู้เขียนทั้งสองขอขอบคุณมา โอกาสนี้


อ้างอิง :

Carter, A. 2015. Bead, exchange networks and emerging complexity : A case study from Cambodia and Thailand (500 BCE-CE 500). Cambridge Archaeological Journal 25 (4) : 733-757.

Eshed, V., Gopher, A., Pinhasi, R., Hershkovitz, I. 2010. Paleopathology and the origin of agriculture in the Levant. American Journal of Physical Anthropology 143 : 121-133.

Halcrow, S.E., Harris, N.J., Tayles, N., Ikehara-Quebral, R., and Pietrusewsky, M. 2013. From the mouths of babes : dental caries in infants and children and the intensification of agriculture in Mainland Southeast Asia. American Journal of Physical Anthropology 150 : 409-420.

Halcrow, S.E., and Tayles, N. 2008. The bioarchaeological investigation of childhood and social age : problems and prospects. Journal of Archaeological Method and Theory 15 (2) : 190-215.

Halcrow, S.E., Tayles, N., and King, C. 2016. Infant and child health in prehistoric Southeast Asia. In : Oxenham, M. and Buckley, B. (eds.). Bioarchaeology of Southeast Asia and the Pacific, pp. 158-186. London : Routledge.

King, C.L., Halcrow, S.E., Tayles, N., and Shkrum, S. under review. Human biology, social structure and agriculture in prehistoric mainland Southeast Asia : an Iron Age ‘Agricultural Transition’? Archaeological Research in Asia.

Larsen, C.S. 1995. Biological changes in human populations with agriculture. Annual Review of Anthropology 24 : 185-213.

Larsen, C.S. 2015. Bioarchaeology : Interpreting Behavior from the Human Skeleton. 2nd Edition. Cambridge : Cambridge University Press.

Lertcharnrit, T. 2014. Phromthin Tai : An archaeological perspective on its societal transition. In Revire, N. and Murphy, S. (eds.). Before Siam : Essays in Art and Archaeology, pp. 118-131. Bangkok : River Books.

Lewis, M.E. 2007. The Bioarchaeology of Children : Perspectives from biological and Forensic Anthropology. Cambridge : Cambridge University Press.

Price, T.D. and Gebauer, A.B. (eds.). 1995. Last Hunters, First Farmers : New Perspectives on the Prehistoric Transition to Agriculture. Santa Fe, New Mexico : School of American Research Press.

Tayles, N., Halcrow, S.E. and Domett, K. 2007. The people of Noen U-Loke. In : Higham, C.F.W., Kijngam, A. and Talbot, S. (eds.). The Origins of the Civilization of Angkor Vol. II : The Excavation of Noen U-Loke and Non Muang Kao, pp. 243-304. Bangkok : Fine Arts Department.


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 6 มีนาคม 2563