เส้นทางของ “ปลัดขิก-องคชาต” จากใช้หลอกผี ยกเป็นของขลัง ถึงโดนทางการกวาดล้าง

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ / ภาพโดย นภ ลัลล้า

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการหลอกผีของไทยนี้ได้เริ่มมาแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าเป็นการเชื่อมโยงเข้าด้วยกับการนับถือผีบรรพบุรุษ ที่ได้สืบทอดกันมาในวัฒนธรรมไทยตั้งแต่ก่อนที่พุทธศาสนาจะได้แพร่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ ครั้นได้พระพุทธศาสนาเข้าไปก็เอาศาสนาใหม่ปนกับเก่า (นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ. 14 พฤษภาคม 2483.) การสืบทอดคติการนับถือผีบรรพบุรุษจะยังเข้มข้นเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น ในภาคกลางปัจจุบันได้มีวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาปะปน อาจจะไม่เห็นชัดเท่ากับแถบล้านนาหรืออีสาน

ครั้งในสมัยอยุธยาเชื่อว่าการนับถือผีบรรพบุรุษได้ถือสืบเนื่องกันมาโดยตลอด มีหลักฐานจากบันทึกเอกสารฮอลันดา ค.ศ. 1637 (พ.ศ. 2180) ว่าในหอพระเทพบิดรกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นที่ไว้ “พระรูปปั้นของบรรดาพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ แต่โบราณ” และสืบทอดมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้เปลี่ยนธรรมเนียมถือน้ำครั้งกรุงเก่า ที่เคยเริ่มด้วยถวายบังคมพระเทพบิดร แล้วจึงไปสักการะพระรัตนตรัย ได้ทรงเห็นว่าเพื่อคารวะที่ถูกควรที่จะสักการะพระก่อน ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตลอดจนพระสารีริกธาตุเจดีย์ พระธรรม พระสงฆ์ รับพระราชทานดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเสียก่อน แล้วจึงออกมาอุทิศกุศลแผ่ผลให้แก่ภูมิเทพารักษ์และอากาศเทวดา (ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 พระราชกำหนด ข้อที่ 40)

เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกคงทรงเข้าพระทัยผิด จึงไปให้ความสำคัญกับพระรัตนตรัยให้อยู่เหนือผีบรรพบุรุษ แต่หากในความเป็นจริง การไหว้ผีบรรพบุรุษก่อนนั้นเป็นการให้ความสำคัญของการถือลำดับก่อนหลัง เพราะในเมื่อการนับถือผีบรรพบุรุษนั้นมีมาก่อนการนับถือพุทธศาสนา อภิสิทธิ์ก็ควรตกเป็นของผีบรรพบุรุษ ซึ่งคนแต่ครั้งกรุงเก่าได้กระทำถูกต้องกันมาแล้ว และคนไทยก็ถือว่าผีบรรพบุรุษนี้สำคัญ เพราะสามารถนำผลดีผลร้ายมาให้มากกว่าพระพุทธรูป คนที่ไม่เข้าใจเรื่องผีปู่ย่าส่วนใหญ่จะไม่มีรากฐานของความเป็นคนไทย

ความเลอะเทอะที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนับถือผีปู่ย่าในภาคกลางของไทยนั้น ก็เพราะได้ถูกเจือด้วยวัฒนธรรมของคนต่างถิ่น และที่เห็นได้ชัดก็คือการยกขันหมาก เพราะเดิมนั้นชายไทยจะต้องย้ายเข้าไปอยู่กับฝ่ายหญิง ในการนี้จึงต้องมีขันตั้งหมากพลูเพื่อไปไหว้ผีของฝ่ายเมีย ตัดขาดจากผีบรรพบุรุษของตนและหันไปถือผีของฝ่ายเมียแทน อีกทั้งยังต้องมีสินสอดที่ฝรั่งเรียก dowry คือทรัพย์สินส่วนแบ่งมรดกจากครอบครัวฝ่ายชาย ไปไว้กับฝ่ายหญิง แต่ของฝรั่ง แขก หรือจีน จะกลับกัน เพราะฝ่ายหญิงต้องย้ายเข้าไปอยู่กับฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงจึงต้องมีสินสอดติดตัวไป

ในระยะแรกชายไทยจะต้องมีหน้าที่ดูแลทำงานกิจการบ้านแทนพ่อเมีย จึงดำรงตำแหน่งเป็น “เจ้าบ่าว” หรือหัวหน้าคนงาน แต่เมื่อมีประเพณีต่างถิ่น เช่น จีน แขก และล่าสุดของฝรั่งเข้ามาเจือ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ฝ่ายหญิงต้อง “ออกเรือน” ไปอยู่กับฝ่ายชาย แต่การยกขันหมากและสินสอดก็ยังถือต่อกันมา โดยไม่รู้ถึงสาเหตุหรือที่มา

มีความเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะคอยปกป้องลูกหลาน จึงต้องมีการเซ่นไหว้กันเป็นประจำ

“…พนมได้ยอผีพ่อผีแม่ ผีแม่นมเทดผู้เป็นเมีย อันเป็นอันดับแม่ตน ได้ยอผีพี่อ้ายพี่ยี ยอผีพี่เอื้อย ยอผีลูกผีหลานผู้เถ้าผู้แก่แห่งตนอันมาฝาก ผีตะไภ้ยอโสด…” (จารึกวัดช้างล้อม หลัก 106 ด้าน 2 บรรทัด 33-37)

ประตูป่าประตูระเบียงคด วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ระหว่างงานเทศน์มหาชาติ

นอกจากผีบรรพบุรุษก็จะมีผีอื่นที่จะต้องคอยเอาใจ ทั้งที่ผีเหล่านี้มิได้มาเกี่ยวข้องเป็นญาติโยม เช่น ผีมาเฟียเจ้าพ่อท้องถิ่น ผีเจ้าที่ ผีเจ้าทาง ผีบ้าน ผีเรือน ผีเจ้าป่า ผีเจ้าเขา ผีเสื้อเมืองทรงเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย หากผีเหล่านี้มีศักดินาสูงหน่อยก็ถูกยกขึ้นเป็นเทพ แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่แคล้วที่จะต้องคอยเอาอกเอาใจกันอยู่เป็นนิจเช่นเดียวกับผีบรรพบุรุษ เพราะผีเหล่านี้จะให้ได้ทั้งคุณและโทษ แต่ดูเหมือนว่าพวกสัมภเวสีเหล่านี้ออกจะอยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างสำนักงานที่ทำการถาวรให้เรียกว่า”ศาลสืบต่อไปเมื่อหน้า ให้ข้าทูลอองผู้น้อยผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมือง เอก โท ตรี จัตวา ทังปวงบันดามีสารเทพพารักษพระภูมเจ้าที่พระเสื้อเมืองทรงเมือง ให้บำรุงซ่อมแปลงที่ปรลักหักพังนั้นให้บริบูรรณ แลแต่งเครื่องกระยาบวดผลไม้ถั่วงาเปนต้น แลธูปเทียนของบูชาฟ้อนรำบำบวงสรวงพะลีกำมถวายสิ่งซึ่งอันสมควร แก่เทพารักษ์…” (พระราชกำหนด ข้อที่ 35 ในประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1)

อุปกรณ์เครื่องครัวเพื่อเพิ่มเสน่ห์ปลายจวัก เดิมเป็นสมบัติของเผ่าทอง ทองเจือ

แต่ยังมีผีอีกจำพวกที่ส่งอิทธิพลแก่ความเป็นอยู่ทุกข์สุขของชาวบ้าน ผีเหล่านี้ดูออกจะเป็นผีชั้นเลวผีเกเรผีอันธพาล รังแต่จะคอยรังควานชีวิตไม่ให้สงบราบรื่น และพิธีกรรมหลอกผีที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา ก็เพื่อผีในกลุ่มนี้โดยเฉพาะ จะเห็นว่าพิธีดังกล่าวได้ถูกคิดค้นขึ้นมาก็เพื่อจะทำให้ผีเหล่านี้หลงผิด ตัวอย่างเช่น หากจะมีงานมงคลหรืองานพิธีก็จะนิยมประดับทางเข้างานให้เป็นซุ้มด้วยต้นกล้วย อ้อย ทางมะพร้าว และไม้ดอกบรรดามี เรียกว่าประตูป่า

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผีเข้าใจไขว้เขวไปว่าที่นั้นเป็นป่ามิใช่เรือน ผีเหล่านั้นก็จะผ่านไปไม่แวะเวียนเข้ามาสร้างปัญหาเดือดร้อนเสียหายให้แก่งาน หรือก่อนพระราชพิธีก็จะนิยมเล่นเพลงเทพทอง หรือปรบไก่ ซึ่งเป็นเพลงระดับชาวบ้านมีมาแต่ครั้งสุโทัย หนักไปทางหยาบโลน (คำให้การจาก น.พ.พูนพิศ อมาตยกุล 2 มกราคม 2547) ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ผีเข้าใจไปว่างานดังกล่าวเป็นงานระดับชาวบ้านมิใช่งานพระราชพิธี ผีก็จะดูแคลนและเมินไปเสีย

“…ลักษณะที่คนเล่นเพลงปรบไก่ก็ดี เทพทองก็ดี ซึ่งไม่มีอะไรนอกจากเกี้ยวกันโดยกระบวนหยาบช้าถึงขุดโคตรเค้าเหล่ากอ ด่ากันเล่นต่อหน้าธารกำนัน…โดยประสงค์จะให้ปีศาจรังเกียจบุคคลหรือวัตถุที่เป็นเหตุแห่มหรสพ ด้วยเหตุนี้ ในงานสมโภชพระยาช้างเผือกมาถึงพระนคร จึงต้องมีเทพทองเป็นของขาดไม่ได้ มาจนตราบเท่าทุกวันนี้” (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. “ตำนานเสภา”.)

ที่แปลกก็คือวิธีหลอกผีในชีวิตประจำวันจะมีเกี่ยวกับการเกิดอยู่มาก ทั้งนี้ก็เห็นจะเป็นเพราะอัตราการอยู่รอดในการแรกเกิดตลอดไปถึงทารกและเด็กในสมัยโบราณนั้นค่อนข้างจะต่ำ ด้วยเหตุนี้พวกผีๆ ทั้งหลายก็จึงต้องรับกรรมจำยอมตกเป็นจำเลยของสังคมไปโดยปริยาย

ตุ๊กตาเสียกบาลที่ยังไม่ถูกหักคอ ปั้นอยู่ในรูปหญิงนั่งอุ้มเด็ก

เมื่อท้องแก่ใกล้คลอดก็จำเป็นจะต้องหลอกผีโดยให้ผีเข้าใจไปว่า หญิงนั้นได้ตายไปแล้วในการคลอดลูก และเมื่อถึงการคลอดจริงก็หวังว่าผีจะไม่มาข้องแวะ อย่างน้อยก็คงทำให้สบายใจขึ้น วิธีหลอกผีในที่นี้จะต้องทำตัวแทนเป็นตุ๊กตาดินปั้นอยู่ในรูปหญิงนั่งอุ้มเด็ก จากนั้นจึงทำพิธีหักคอตุ๊กตาและนำไปฝังไว้ทางสามแพร่งอันเป็นที่สัญจรของเหล่าผีๆ เพื่อให้พวกผีรับรู้กันทั่วว่า หญิงนั้นได้ตายแล้วในการคลอดลูก หรือหากเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะใช้กรรมวิธีเดียวกันนี้ เพื่อหลอกผีว่าผู้ป่วยได้สิ้นชีวิตไปแล้ว จึงมีหลักฐานว่าได้ขุดพบตุ๊กตาดังกล่าวเป็นจำนวนมากในสุโขทัย ที่นิยมเรียกกันว่าตุ๊กตาเสียกบาล

หลังจากคลอดก็ต้องตั้งชื่อเด็กมิให้เป็นมงคล ชมกันว่าน่าเกลียดน่าชัง ไม่มีใครต้องการรับเป็นลูก ดูเหมือน 3 วันแรกคลอดจะนับว่าเป็นช่วงวิกฤต “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน” หากพ้นช่วงนี้ไปแล้วก็ใช่ว่าผีจะไม่มารังควาน ยังจำเป็นจะต้องหลอกหลอนพวกผีๆ กันอีกต่อไป มิให้มารบกวนเด็ก เพราะผีสางนั้นดูเหมือนจะคอยแกล้งมิให้ใครได้อะไรที่รักที่ปรารถนา ฉะนั้นต้องทำเสแสร้งหลอกผีว่าไม่ต้องการ ใครอยากได้ก็เอาไป เพราะเป็นเด็กที่ไม่มีใครปรารถนา จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่จะนิยมเรียกเด็กว่า “หนู” เรื่องนี้คงมิใช่จากสาเหตุที่หนูมีพันธุกรรม (DNA) ใกล้เคียงกับมนุษย์ หากเพราะหนูเป็นสัตว์ที่ไม่พึงปรารถนา (persona non grata) เห็นที่ไหนก็ต้องไล่ฆ่ากันที่นั่นเสียมากกว่า

“ทางเมืองเชียงใหม่ ถ้าลูกเจ้าหลานนายเกิดมามักใช้ชื่อ 2 ชื่อ ชื่อหนึ่งเป็นสามัญสำหรับตัว อีกชื่อหนึ่งสำหรับให้ผีเกลียด เช่น ชื่อว่า “อึ่ง” บ้าง “กบ” บ้าง “เขียด” บ้าง” (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. “ตำนานเสภา”.)

ในช่วงที่ยังเป็นเด็กอยู่นี้ หากเป็นเด็กชายก็จะนิยมให้แขวนปลัดขิก

คำว่าปลัด หมายถึง “ตำแหน่งรองจากตำแหน่งที่เหนือกว่า” แต่คำว่าขิก ยังหาที่มาไม่ได้ แต่ก็คงมีความหมายถึงอวัยวะเพศชายอย่างไม่มีข้อสงสัย และคงเป็นคำท้องถิ่นภาคกลางมาแต่เดิม เพราะรูปลักษณะของปลัดขิกก็คืออวัยวะเพศชายจำลองย่อส่วนที่ปราศจากหนังหุ้มปลาย

แปลเป็นอังกฤษได้ว่า “The permanent under-secretary of the penis.”

คำว่าขิก คงจะเลิกใช้มานานแล้ว เพราะคงจะเห็นว่าเป็นคำหยาบ โดยได้หันมาใช้คุยฺหํ ซึ่งเป็นคำภาษาบาลีแทน และแผลงมาเป็นควยในภาษาไทย แต่อยู่ไปในที่สุดคำนี้ก็กลายเป็นคำหยาบไปอีก แต่ก็ยังคงไม่เลิกใช้กัน ปัจจุบันกลับกลายเป็นคำกำนัลที่มอบให้แก่กันในยามเกิดการพิพาทบาดหมาง

ปลัดขิก บางครั้งก็เรียกว่าขุนเพ็ด

ปลัดขิกหรือขุนเพ็ดจะทำจากไม้มงคล กัลปังหา เขาสัตว์ หรืองา นิยมแขวนไว้ที่ระดับเอว เพราะฉะนั้นเด็กที่แขวนปลัดขิกจึงควรมีอายุประมาณ 3-4 ขวบขึ้นไป เพราะจะเริ่มมีเอวแล้ว โดยในระยะนี้ภูมิคุ้มกันของเด็กจะลดถอยลง ด้วยว่าหย่านมแล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะเจ็บไข้ได้ง่าย และในกรณีนี้พวกผีๆ ที่น่าสงสารก็ต้องตกเป็นจำเลยสังคมอีกตามเคย

จะสังเกตได้ว่าปลัดขิกที่นำมาแขวนให้กับเด็กชายนั้น จะอยู่ในลักษณะขององคชาต จำลองย่อส่วนโดยปราศจากหนังหุ้มปลาย ระดับของการแขวนก็อยู่ที่เอวมิใช่คอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ห้อยลงมาใกล้กับระดับองคชาต (อ้ายจู๋) ของเด็กให้มากที่สุด เพื่อจะหลอกผีให้เข้าใจผิดไปว่าเด็กชายนั้นใช่เด็ก หากเป็นผู้ชายเต็มตัวแล้ว โดยมีองคชาตที่ปลายเปิดไม่มีหนังหุ้ม ส่วนปลัดขิกเหล่านี้ หากจะให้มีความขลังยิ่งขึ้นก็ควรจะต้องผ่านการปลุกเสกเสียด้วยอีกต่างหาก

ศาลเจ้าแม่ทับทิม บริเวณปาร์คนายเลิศ เพลินจิต กรุงเทพฯ

ปลัดขิกเริ่มด้วยเป็นเครื่องมือหลอกผี แต่แล้วต่อมาปลัดขิกก็ได้ยกระดับตัวเองให้กลายสภาพจากเครื่องมือหลอกผีมาเป็นของขลังในตัวของมันเอง โดยไม่จำกัดอยู่กับวัยอีกต่อไป ผู้ใหญ่ซึ่งไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่จะหลอกผีให้เข้าใจผิด ก็ยังนิยมที่จะแขวนไว้เป็นเครื่องรางป้องกันสิ่งชั่วร้าย โดยไม่รู้ถึงสาเหตุหน้าที่ของมัน

ในที่สุดปลัดขิกหรือขุนเพ็ดก็ได้ประกาศอิสรภาพยกฐานะตัวเองขึ้นไปอีกระดับ กลายเป็นสิ่งสมควรแก่การเคารพบูชากราบไหว้ สถิตอยู่ตามศาลหรือเป็นเครื่องนำโชคลาภตั้งไว้บูชา หรือเป็นเครื่องมือเพื่อนำความเจริญก้าวหน้าเนื่องในการทำมาค้าขาย โดยทั่วไปจะนำปลัดขิกไปจิ้มลงบนสินค้าพร้อมกับมีคาถากำกับว่า “โอม ระรวยมหาระรวย สามสิบสอง-วยแห่ห้อมล้อม-ีค้าง่ายขายดีแหก-ีกลับบ้าน ฮ่า ฮ่า ฮ่า” (ควรร่ายด้วยลมหายใจเฮือกเดียว แต่ทำไมจึงต้องสามสิบสอง เรื่องนี้ยังสืบไม่ได้)

หรือ “…โอม ไอ้ขลิกไอ้ขลัก เงี่ยงหักเงี่ยงหงิก ปกเอยปกหาง หางเอยหางอะไร บุรุษชอบ-ี สตรีชอบ-วย ทำให้กูร่ำรวย โพะหัว โพะหัว โพะหัว” (คาถาของหลวงพ่อซ่วน เมืองแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา) แต่หากจะตรองดูก็จะเห็นว่า การที่ใช้คำที่ไม่ค่อยสุภาพเป็นคาถากำกับ ก็เพื่อจะให้พวกผีๆ เข้าใจไปว่า สินค้าที่วางขายนั้นเป็นของที่ไม่มีราคาค่างวดวิเศษวิโสอะไร ไม่คุ้มกันที่พวกผีจะมาใส่ใจเสียเวลามารบกวน

ศาลบริเวณชายหาดอำเภอสัตหีบ

การเปลี่ยนหน้าที่ยกฐานะ 3 ระดับ จากเครื่องมือหลอกผี มาเป็นเครื่องรางของขลัง และในที่สุดกลายมาเป็นสิ่งควรแก่การเคารพบูชา หรือเครื่องนำโชคลาภ ยังให้เกิดลัทธิบูชาปลัดขิกขึ้น โดยมีศาลผุดขึ้นทั่วไป ศาลใดมีอานุภาพเฉพาะกิจสามารถบันดาลให้มีลูกชายได้สมตามที่ได้บนบานไว้ มีผู้คนที่จะนำเอาปลัดขิกไปบูชาเพิ่มขึ้น ลามไปถึงความก้าวหน้าทางธุรกิจทำมาหากิน

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบัน (พ.ศ. 2549 – กองบรรณาธิการ) จำนวนศาลเหล่านี้ได้ถูกกำจัดไปเสียมากโดยทางการ จึงคงยังมีเหลือไม่มากนัก ที่ยังมีเหลืออยู่ในบริเวณพื้นที่ส่วนบุคคลที่ทางการไม่สามารถเข้าไปแส่ได้ เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม ของปาร์คนายเลิศ เพลินจิต กรุงเทพฯ เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นศาลที่อยู่ไกลหูไกลตา

ศาลผีปัน รอยต่อจังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย

เหตุผลที่ทางการใช้อ้างในการกวาดล้างศาลเหล่านี้ก็เพราะ “อายชาวต่างชาติ” ซึ่งเรื่องนี้ความสำคัญมิได้อยู่ที่การคุกคามกวาดล้างจัดระเบียบศาลทั้งหลาย หากเป็นเกณฑ์ที่สามารถส่อให้เห็นถึงการขาดขั้นตอนในความสืบเนื่องของสังคมเสียมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะบุคลากรในระดับผู้บริหารราชการปัจจุบันส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้ที่ไม่มีรากเหง้า จึงขาดพื้นฐานในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ยังผลให้เกิดการขาดขั้นตอนที่สืบเนื่องของประเพณีที่มีมา คนเหล่านี้จึงได้เกิดความละอายขายหน้าในวัฒนธรรมไทย

ในพระราชกำหนดใหม่ที่ 35 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กล่าวถึงการบูชาปลัดขิกหรือขุนเพ็ดไว้ว่า

“แต่ซึ่งสารเทพารักษาอันเอาไม้ทำเปนเพศบุรุษลึงใหญ่น้อยต่างๆ หญิงชายชวนกันนับถือนั้น ทรงพระกรรุณาให้นักปราชญราชบัณฑิตยค้นดูในพระไตรปิฎกก็มิได้มีหย่าง…จึ่งทรงพระวิจารณเหนว่าแรกเหตุนี้จะมีมาเพราะคนพาลกกขะละหยาบช้า สืบมาหญิงชายผู้หาปัญามิได้ก็เอาเยี่ยงหย่างนับถือสืบมา…อันหนึ่งเปนที่แขกเมืองนานาปรเทษไปมาค้าขายได้เหนจะดูหมิ่นถิ่นแคลนกรุงเทพพระมหานครอันกอปด้วยเกิยติยศ…ห้ามอย่าให้มีเพศบุรุษลึงอันลามกอัประมงคลไว้ในสารเทพารักษ์เปนอันขาดทีเดียว…” (กฎหมายตราสามดวง)

ในบริเวณศาลนางแก้ว รอยต่อระหว่างศาลจังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย ปลัดขิกถูกเก็บกวาดล้างโดยทางการ เพราะอ้างว่าอายคนต่างชาติ นางแก้วเธอจึงมีเหลืออยู่แท่งเดียว

แต่อย่าลืมว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ก็ได้ทรงเคยเป็นเพียงปกติสามัญ ถิ่นฐานเดิมอยู่แถววัดสุวรรณดารารามปัจจุบันที่อยุธยา ซึ่งเป็นถิ่นคนจีนครั้งสมัยอยุธยา (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นเชื้อสายมอญ) ได้มาถวายตัวเป็นขุนนาง ศักดินาเพียง 1600 ยศพระราชวรินทร ตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจนอกขวา เมื่อรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งก็เป็นลูกจีน ฉะนั้นเมื่อพระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อมา บ้านเมืองจึงขาดความสืบเนื่องอยู่บ้างก็เป็นธรรมดา

อย่างไรก็ตามพระราชกำหนดนี้ก็เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การบูชาปลัดขิก ขุนเพ็ด หรืออีกนัยหนึ่งองคชาต ได้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว และคงเป็นประเพณีของไทยที่สืบเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานแต่หนหลังจนปัจจุบัน


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความโดย พิทยา บุนนาค เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2549


เผยแพร่และปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ มิถุนายน พ.ศ. 2560