การมีลูก มีผัว (เมีย) ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นการมุ้งที่รัฐสอดส่อง

ภาพประกอบเนื้อหา - คู่สมรสของอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเข้าพิธีสมรสหมู่ของชาติ พ.ศ. 2487 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในทศวรรษ 2480 รัฐบาลสร้าง “ประเทศไทย” ขึ้นใหม่ ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หากยังมีความหวังสูงสุดคือ การเป็นชาติมหาอำนาจ ตามนโยบายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปัจจัยหนึ่งที่รัฐเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการขึ้นเป็นมหาอำนาจ การเพิ่มประชากร และประชากรที่เพิ่มขึ้นต้องมีคุณภาพ ซึ่งการจะเกิดผลลัพธ์ดังกล่าวได้ ต้องเริ่มจากผู้ชาย-หญิง, การแต่งงาน, การมีบุตร ฯลฯ

รัฐบาลจึงเข้ามาแทรกแซง “เรื่องในมุ้ง” ของประชาชน

เรื่องนี้ ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์ เรียบเรียงไว้ใน “ประวัติศาสตร์สำเหนียก” (สนพ.มติชน, กรกฎาคม 2561) ซึ่งในที่นี้คัดย่อมาเพียงบางส่วน ดังต่อไปนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

รัฐให้นิยามเกี่ยวกับความงามของทรวดทรวงผู้ชาย-ผู้หญิงที่เปลี่ยนไป…เรือนร่างที่สูงระหง เอวคอด ผิวเนื้อขาวเหลือง ไม่ได้เป็นจริตความงามของรัฐอีกต่อไป ร่างกายที่กำยำ ล่ำสัน อกผายไหล่ผึ่ง ทำงานได้หนักและเบา ร้อนและหนาวแดดและฝนต่างหาก ที่เป็นนิยามความงามแบบใหม่ [1]

สิ่งเหล่านี้ได้ฉายสะท้อนให้เห็นในพื้นที่สาธารณะ ด้วยการจัดประกวดชายฉกรรจ์ ในวันขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน 2483 ณ ท้องสนามหลวง ผู้มีสิทธิ์เข้าประกวดต้องมีสัญชาติไทยอายุ 20 ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวไทยในการบริหารร่างกายให้มีสุขภาพดีและทำให้งานปีใหม่ครึกครื้น ปรากฏว่ามีการจัดประกวดแบบนี้ในงานต่างๆ เช่น งานวัด ตลาดนัด ใช้เกณฑ์การตัดสินเดียวกัน

แสดงถึงความนิยมและแพร่หลายในระดับหนึ่งอีกด้วย [2] ให้ความนิยามใหม่ว่า เรือนร่างสตรีเพศที่ไม่ใช่คนเอวบางร่างน้อย แต่เปลี่ยนมุมมองไปสู่ความต้องการ “คนงามแข็งแรงที่มีสุขภาพมั่นคง” ได้มีการวางเกณฑ์และมาตรฐานเรือนร่างในการประกวดนางงามดังนี้ [3]

“มีความสูงอย่างน้อย 156 เซนติเมตร (5 ฟุต 1 1/2 นิ้ว) ขึ้นไป (วัดโดยไม่สวมรองเท้า) มีน้ำหนักประมาณ 50-53 กิโลกรัม ขนาดรอบอกกว้าง 81 เซนติเมตร รอบเอว 63 เซนติเมตร รอบสะโพก 84 เซนติเมตร รอบคอ 32 เซนติเมตร รอบน่อง 32 เซนติเมตร นอกจากมาตรฐาน ตัวอย่างซึ่งคำนวณให้ได้ส่วนตามความสูง 156 เซนติเมตร ดังกล่าว หากสตรีใดมีความสูงกว่า 156 เซนติเมตร สัดส่วนก็ควรเพิ่มขึ้นตามลำดับ

เมื่อได้มาตรฐานสัดส่วนของร่างกายแล้วก็คงต้องพิจารณาถึงหลักสุขภาพต่อไป เช่น จะต้องดูว่าทรวดทรงผิดปกติ หลังโก่ง ไหล่ห่อ แข้งขาคด ประการใดบ้าง…

อ้าปากและตรวจฟันว่าเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามธรรมชาติหรือไม่ ผุ เหยเก ตัดหรือเปล่า ควรพิจารณาว่านางงามต้องมีฟันสมบูรณ์ตามธรรมชาติ (ไม่ใช่ใส่ฟัน เลี่ยมฟัน หรือมีฟันห่าง) ผิวพรรณและผมขอให้พิจารณาโดยละเอียดว่ามีโรคเกี่ยวแก่ผิวหนังหรือไม่

เมื่อผ่านหลักสุขภาพมาได้แล้ว จึงควรพิจารณาในแง่ความงามตามศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมต่อไป”

น่าคิดเช่นกันว่า ภายใต้มาตรฐานดังกล่าว จะทำให้สาวๆ ในปัจจุบันจะเห็นเป็นเช่นไร ในเมื่ออุดมคติเกี่ยวกับความงามได้เปลี่ยนแล้ว

การสมรส การมุ้งภายใต้การสอดส่องของรัฐ

การสมรสและสร้างครอบครัวนั้นมองโดยผิวเผินจะเห็นว่าเป็นความพึงพอใจระหว่างครอบครัวฝ่ายชาย-หญิง หรือบนพื้นฐานความรักแบบปัจเจกชนระหว่างผู้หญิง-ผู้ชาย แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น รัฐได้แทรกแซงความสัมพันธ์ดังกล่าวเข้ามาโดยที่ไม่รู้ตัว ในฐานะผู้ปรารถนาดี รัฐได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้แต่งงานสร้างครอบครัว

พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายในเชิงวัฒนธรรมโดยการตั้งข้อสังเกตเรื่องสินสอดทองหมั้นว่า ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมที่สูงส่งของชาติเรา อย่าให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจผิดว่าเป็นการซื้อขายลูกสาว สอดคล้องแนวทางของรัฐบาลที่เรียกร้องให้ฝ่ายหญิงเรียกสินสอดทองหมั้นแต่น้อยมิให้เป็นอุปสรรคต่อชายโสดในการทำการสมรส [1]

หนังสือ ประตูทองสู่ชีวิตวิวาห์ เป็นหนังสือที่นำเสนอแนวทางการดำเนินชีวิตสมรสและแนวทางแก้ปัญหาชีวิตสมรส แสดงให้เห็นว่าชีวิตสมรสมีส่วนทำให้บุคคลมีความก้าวหน้าหรือเสื่อมลง และยังมีส่วนในการสร้างชาติผ่านการเพาะพลเมือง [5] รวมไปถึงการที่รัฐออกประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเรื่อง “วัธนธัมผัวเมีย” ชี้ให้เห็นว่าชีวิตคู่มีความสำคัญที่สุด สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันครอบครัวและประชากร ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณอันจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของชาติ [6]

หลังจากตั้งกระทรวงสาธารณสุขในปี 2485 รัฐก็ทำการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการสมรสขึ้นในกระทรวงเพื่อความสะดวกในการสมรส ชี้แนะเกี่ยวกับการตรวจร่างกายก่อนสมรส รวมไปถึงการกำหนดพิธีสมรสมากคู่ในคราวเดียวซึ่งจะกล่าวต่อไป [7] รัฐยังได้จัดหาลู่ทางให้ชายและหญิงพบปะกัน โดยจัดตั้งสำนักงานสื่อสมรส ภารกิจดังกล่าวจึงไม่แตกต่างจาก “มาลัยเสี่ยงรัก” ที่จับคู่ให้หญิงสาวชายหนุ่มได้มีโอกาสพบรักกัน

แต่สำนักงานสื่อสมรสงอกเงยด้วยคติพจน์ที่ว่า ทุกคนมีหน้าที่สร้างชาติ การสมรสเป็นการสร้างชาติ สมรสเมื่อวัยหนุ่มสาวทำให้ชาติเจริญ การสมรสที่มีหลักฐานสร้างความมั่นคงแก่ชาติ และคู่สมรสที่มีสุขภาพดีทำให้ชาติแข็งแรง [8]

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการเชิงบังคับเพื่อผูกมัดให้หนุ่มโสดทั้งหลายต้องรีบแต่งงาน ด้วยการออกพระราชบัญญัติภาษีคนโสด พ.ศ. 2487 จัดเก็บบุคคลที่อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป อยู่นอกเหนือจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งชายโสดต้องเสียเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แต่ยกเว้นเก็บภาษีหญิงโสด [9]

นอกเหนือไปจากความสุขในหน่วยการผลิตที่เรียกว่าครอบครัวแล้ว รัฐยังให้คำแนะนำในการเลือกคู่ครองผ่านความคิดเกี่ยวกับเรือนร่าง พันธุกรรม และสุขภาพที่แข็งแรงมั่นคงว่า

“หากเห็นความสำคัญของกรรมพันธุ์แล้ว ก็ควรจะเห็นความสำคัญของการเลือกคู่แต่งงานด้วย ไม่ควรจะแต่งกับบุคคลที่เป็นโรคด้วยความสงสาร หรือชอบพอในคุณสมบัติอะไรก็ตามซึ่งเป็นการเสี่ยงภัยพิบัติและจะเป็นผลร้าย น่าจะคำนึงถึงประเทศชาติ เพื่อความร่วมมือในการสร้างชาติต่อไป”  [10]

ดังนั้นบุคคลผู้มีโรคพันธุกรรมหรือพิการแต่กำเนิดจึงไม่ควรสืบพันธุ์ต่อไปในสายตาของรัฐ [11]

และยังให้ความสำคัญกับโรคที่เป็นอันตรายต่อคู่สมรส คุกคามต่อความสมบูรณ์ของเรือนร่าง อาทิ กามโรค เนื่องจากสามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศ และเด็กที่ติดเชื้อนั้นหากไม่แท้ง ก็คลอดมาตาย ไม่ก็ทุพพลภาพ หรือปัญญาทราม [12]

เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญของช่วงอายุที่เหมาะสมในการแต่งงานซึ่งจะมีผลต่อการให้กำเนิดบุตรของชายอยู่ที่ 20-30 ปี ในเพศหญิงอยู่ที่ 18-25 ปี [13] และสิ่งที่สะท้อนความห่วงใยของรัฐคือการจัดทำ คู่มือสมรส เผยแพร่ แนะนำข้อปฏิบัติก่อนการสมรสราวๆ ปี 2486 [14]

การควบคุมแทรกแซงของรัฐโดยมีความพยายามที่จะตรากฎหมายเพื่อบังคับให้คู่สมรสรับการตรวจทางการแพทย์ และได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนจึงทำการสมรสได้ แพทย์จะต้องทำการตรวจโรคทางพันธุกรรมที่อาจเป็นอันตราย ถ้าเป็นโรคที่บำบัดให้หายได้ก็ให้ระงับการสมรสไว้ชั่วระยะเวลาที่ใช้ในการบำบัด หากไม่สามารถบำบัดให้หายได้ก็มิอาจสมรสได้ [15]

ผู้หญิงกับความคาดหวังในการเป็น “แม่พันธุ์” แห่งชาติ

ในวัยเจริญพันธุ์ทั้งชายและหญิงต่างถูกคาดหวังที่จะเป็นหน่วยการผลิตพลเมืองไทยที่มีคุณภาพ ในสังคมไทยที่ชายมักเป็นใหญ่และให้คุณค่ากับพื้นที่ของผู้หญิงจำกัดอยู่ในครัวเรือนยิ่งทำให้ความคิดลงรอยกันกับการบำรุงเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มุ่งให้ผลผลิตมีคุณภาพ และผู้หญิงก็นับเป็นเครื่องจักรสำคัญในการผลิตพลเมือง

มีการบันทึกไว้ถึงความคิดของนายเอื้อง แก้วภักดี พลเมืองจังหวัดนครปฐมที่เห็นว่า ผู้หญิงเป็น “แหล่งผลิตพลเมือง” โดยยกตัวอย่างว่าแม้มีชายสิบคน หญิงหนึ่งคนก็สามารถเพิ่มพลเมืองได้คนเดียวในหนึ่งปี ผิดกับหญิงสิบคน ชายหนึ่งคนก็อาจเพิ่มพลเมืองได้ถึงสิบคนในหนึ่งปี นายเอื้องยกเหตุผลมาโต้เถียงในกรณีที่รัฐมีนโยบายจะเอาทหารหญิงออกรบ ซึ่งจะส่งผลต่อการ “สร้างชาติ” และอาจทำให้ถูกกลืนชาติโดยง่าย [16]

ส่วนนายบุรี ลักสนพรหม พลเมืองจังหวัดพระนครแสดงความเห็นว่า จากผลการสำรวจสำมะโนครัวปี พ.ศ. 2480 หญิงมีจำนวนมากกว่าชาย มีหญิงมิได้สมรสเป็นจำนวนมาก เขาเห็นว่าทำให้ไม่มีโอกาส “ช่วยชาติบ้านเมือง” และกล่าวหาหญิงที่ไม่ได้สมรสว่าบางรายยังเสียคนเป็นภัยสังคมเพราะขาดผู้อุปการะดูแล จึงควรยอมให้ชายสมรสกับหญิงได้หลายคน โดยพิจารณาจากรายได้ว่าสามารถจะสมรสได้กี่คน [17]

………..

รัฐยังได้แจกโปรโมชั่นสวัสดิการทางสังคมให้กับคู่สมรสด้วย เช่น สามารถกู้เงินเกินเงินฝากร้อยละ 50, รัฐจะยกเงินค่าเล่าเรียนให้ลูกคนแรกของคู่สมรสทุกคู่ที่ได้ประกอบพิธีให้ ให้เข้าเรียนจนถึงชั้น ม.6, บริษัทสหสินิมา จำกัด อนุญาตให้คู่สมรสทุกคู่ดูหนังที่อยู่ในเครือฟรีทุกโปรแกรม โปรแกรมละ 1 ครั้งเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่ลงทะเบียนสมรส, สตรีมีครรภ์ยังได้สิทธิพิเศษลดค่าโดยสารรถไฟและรถประจำทางของเทศบาล ฯลฯ เกิดอะไรขึ้น เมื่อการมีลูก มีผัว/เมีย ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นวาระแห่งชาติ [18]

ในทางกลับกันความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิด ถูกรัฐปฏิบัติราวกับเป็นอาชญากรรม รัฐพยายามที่จะปิดพื้นที่ไม่ให้เป็นอุปสรรคแก่การขยายจํานวนประชากร ถึงขนาดมีการควบคุมเช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษ การสั่งซื้อยาคุมกำเนิดต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน และการนำไปใช้ต้องได้รับใบสั่งยาจากแพทย์สั่งจ่ายเป็นรายๆ ไป [19]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ก้องสกุล กวินรวีกุล, การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487, วิทยานิพนธ์หลักสูตร สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษย วิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545, น. 34

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 111.

[3] ดูรายละเอียดมาตรฐานหญิงงามได้ใน เรื่องเดียวกัน, น. 112-115.

[4] เรื่องเดียวกัน, น.44-45.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 45-46.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 46.

[7] เรื่องเดียวกัน, น. 42.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 42-43.

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 46

[10] ประชาชาติ, (13 ตุลาคม 2481) อ้างใน ก้องสกุล กวินรวีกุล, การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487, น. 33.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 35.

[12] เรื่องเดียวกัน, น. 36.

[13] เรื่องเดียวกัน, น. 38.

[14] เรื่องเดียวกัน, น. 35-36.

[15] อย่างไรก็ตาม ก้องสกุลได้อธิบายไว้อย่างคลุมเครือว่ามาตรการ ดังกล่าวถูกนํามาใช้จริงหรือไม่ ด้วยกฎหมายใด เนื่องจากเพียงทำการยกตัวอย่างจากเยอรมนีที่ได้ทําการใช้มาตั้งแต่ปี 1935/2478 ดูใน เรื่องเดียวกัน, น. 35.

[16] กจช., สร. 0201.25/919 ความเห็นนายเอื้อง แก้วภักดี เรื่องการเพิ่มพลเมือง พ.ศ. 2485 อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. 39-40.

[17] กจช., สร. 0201.25/1034 บุรี ลักสนพรหม เรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศ พ.ศ. 2486 อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. 40.

[18] เรื่องเดียวกัน, น. 43.

[19] เรื่องเดียวกัน, น. 54.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2565