คนจีน พ่อค้าจีน ทุนจีน ในทัศนะกรมดำรงฯ

ย่านชุมชนการค้าของชาวจีนบริเวณสะพานหัน-สำเพ็ง เมื่อ ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491 (ภาพจาก UWMLibraries)

ในหนังสือ “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ ‘เมืองไทย’ และ ‘ชั้น’ ของชาวสยาม” (สนพ.มติชน, 2546) ของสายชล สัตยานุรักษ์ ที่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงพยายาม “กำหนด” สถานภาพ บทบาท และหน้าที่ของคน “ชั้น” ต่างๆ ในประเทศ เช่น ข้าราชการ, พระสงฆ์, ราษฎร ผู้หญิง ฯลฯ เพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของคนแต่ละ “ชั้น” ดังกล่าว

สำหรับส่วนที่คัดย่อมานี้ เป็น “การอัตลักษณ์พ่อค้าและชาวจีน” ในฐานเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ในฐานเสนาบดีกรทรวงมหาดไทย ฯลฯ พระองค์ทรงมีแนวคิดเช่นไร สายชล สัตยานุกรักษ์ รวบรวมข้อมูล และนำเสนอไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

ใน พ.ศ. 2445 เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการเมืองชลบุรีและฉะเชิงเทรา ทรงพระนิพนธ์จดหมายเหตุรายวันเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ให้ข้าราชการในสมัยนั้นได้อ่าน ทรงพระนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

…การโยธาต่างๆ ที่ได้กล่าวมานี้ จะทำได้โดยไม่ต้องเปลืองทุนรอนที่มากน้อย ถึงบางอย่างจะต้องลงทุน เช่น ซ่อมตะพานหลวง เป็นต้น จะหาเงินในพื้นเมืองช่วยอุดหนุนในเมืองชลบุรีนี้ก็จะหาไม่ยากนัก ด้วยพวกพ่อค้าที่เป็นคนบริบูรณ์มีมาก คนพวกนี้มักจะมีใจศรัทธาช่วยทำการที่เป็นสาธารณประโยชน์โดยไม่เสียดายทรัพย์…[1]

ความคิดที่จะให้พ่อค้าช่วยเหลือรัฐบาลในเรื่องสาธารณูปโภค เช่นนี้มิได้เป็นของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเพียงพระองค์เดียว แต่เป็นนโยบายของรัฐในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากรัฐต้องการนำงบประมาณไปใช้ในเรื่องอื่น จึงหวังเรี่ยไรเงินจากพ่อค้ามาใช้ในเรื่องการจัดสร้างและดูแลการสาธารณูปโภคต่างๆ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ ความว่า

…ในการประชุมเทศาภิบาลปีนี้ ได้ส่งกรมหมื่นดำรงให้ปรึกษาจัดการศุขาภิบาลหัวเมือง คล้ายลักษณะมิวนิสิเปอล กล่าวคือให้มีการเลือกพ่อค้าเป็นที่ปฤกษาแลเก็บเงินค่ารักษาถนนค่าตามไฟ แต่ให้ข้าหลวงผู้ว่าราชการเมืองเป็นหัวน่าในที่ประชุม จัดเป็นมิวนิสเปอลหลวง ถ้าหากว่าที่ประชุมเช่นนี้ตั้งขึ้นได้ทุกๆ เมือง เหนว่าจะมีผู้ทำการให้เป็นประโยชน์ทั่วไป… [2]

ในกรณีของพ่อค้าจีน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับรู้ปัญหาการเคลื่อนไหวของชาวจีนที่เชื่อกันว่าเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองเช่นเดียวกับชนชั้นนำทั่วไปในเวลานั้น เช่นใน พ.ศ. 2454 ขณะทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีรายงานจากสารวัตรโรงพักจักรวรรดิ์ ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 มีใจความสำคัญว่า ชาวจีนได้เข้าเป็นสมาชิกเก็กเหม็งถึง 13,000 คน แต่ละคนต้องเสียค่าสมาชิกเพื่อส่งเงินไปบำรุงประเทศจีนคนละ 200 บาท ถ้าขัดสนไม่มีเงินอาจเสียน้อยกว่านี้ แต่เบื้องต้นต้องเสียคนละ 5 บาท เพื่อสมัครเป็นสมาชิก พ่อค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดสนับสนุนพวกเก๊กเหม็ง และคนจีนในกรุงเทพฯ แปดในสิบเป็นพวกเก๊กเหม็ง เว้นแต่บรรดาลูกจีนเท่านั้น หัวหน้าสำคัญมี 2 คนคือ ยี่กอฮง และ เซียวฮุดเส็ง [3]

ในปี พ.ศ. 2454 นี้ มีหลักฐานว่าชาวจีนส่งเงินกลับประเทศจีนทั้งทางโพยก๊วน การฝาก และการนำติดตัวกลับไปเป็นเงินทั้งสิ้นปีละ 14,400,000 เหรียญ คิดเป็นเงินไทย 16,551,724 บาท 13 สตางค์ จำนวนเงินมากจนรัฐบาลเห็นความจำเป็นที่จะต้องจำกัดเงินที่จะรั่วไหลออกนอกประเทศในอนาคต [4]

การส่งเงินกลับประเทศของชาวจีนมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2470 ถึง พ.ศ. 2475 ชาวจีนส่งเงินกลับประเทศ ประมาณ 160 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 26.6 ล้านบาท แนวโน้มการส่งเงินของชาวจีนกลับประเทศมากยิ่งขึ้นเมื่อจีนและญี่ปุ่นเกิดสงครามกัน การส่งเงินกลับประเทศของชาวจีนนี้สร้างความหนักใจให้ทั้งรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัฐบาลคณะราษฎร เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักเฉพาะในปี พ.ศ. 2475 ปีเดียวปรากฏว่าชาวจีนส่งเงินกลับประเทศถึง 50 ล้านเหรียญ หรือ 37 ล้านบาท (เปรียบเทียบกับงบประมาณของประเทศสยามใน พ.ศ. 2473 งบประมาณในการป้องกันประเทศ งบประมาณสำหรับราชสำนัก และงบประมาณด้านการศึกษา รวมกันเป็นเงินเพียง 32.03 ล้านบาท [5]…ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อควบคุมธนาคารและร้านโพยก๊วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการโอนเงินออกนอกประเทศ [6]

นอกจากนี้ยังปรากฏว่าใน พ.ศ. 2470-2471 เป็นปีที่มีชาวจีนอพยพเข้าประเทศสูงสุดด้วย คือมีจำนวนถึง 1,546,000 คน [7] แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชดำริว่า “คนจีนมีประโยชน์ในสยามอย่างมาก” แต่ก็ทรงพระวิตกด้วยปัญหาว่า “ในสมัยก่อนชาวจีนแต่งงานกับสตรีสยามและกลายเป็นพลเมืองสยามที่ดี ทว่านับตั้งแต่การปฏิวัติของคนจีนเป็นต้นมาก็เปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้ชาวจีนนำภรรยามาจากเมืองจีนและตั้งใจคงความเป็นจีนไว้…และความคิดใหม่ๆ ในจีนที่แทรกซึมเข้ามา ก็เป็นอันตรายที่ซ่อนเร้น” [8] นอกจากนี้ชนชั้นนำยังรับรู้ว่าชาวจีนเป็นต้นเหตุของปัญหาการลดลงของรายได้รัฐและปัญหาความยากจนของชาวนาในสยาม [9]

…………

ในความเป็นจริง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแบ่งแยกคนจีนออกจากคนไทย ในกรณีที่บริษัทของชาวจีนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจพระองค์ทรงมีพระดำริว่ารัฐบาลไม่ควรช่วยเหลือ ดังกรณีบริษัทมินแซซึ่งประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทไม้ขีดไฟของสวีเดนได้ หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 แสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทนี้ โดยยกความเป็นคนในบังคับของสยามและการมีสัญชาติไทยของกรรมการบริษัท ตลอดจนผลดีที่จะตกแก่พลเมืองไทยและเมืองไทยมาเป็นเหตุผล

บริษัทนี้แม้จะได้ให้ชื่อยี่ห้อเป็นภาษาจีน และคณะกรรมการส่วนมากเป็นคนจีน แต่ก็เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย คณะกรรมการล้วนแต่เป็นบุคคลในบังคับสยาม ทั้งผู้ถือหุ้นส่วนของบริษัทก็เป็นผู้มีสัญชาติไทยมากกว่าครึ่งจำนวน ยิ่งไปกว่านั้น โรงงานของบริษัทนี้เป็นแอ่งกลางสำหรับพลเมืองไทยได้มีช่องทางทำมาหากิน และหาลำไพ่ แม้เพียงเพิ่งเริ่มงานก็ยังได้ใช้กรรมกรถึง 4,000 คนเศษ กับสินค้าของบริษัทคือไม้ขีดไฟยังได้ออกจำหน่ายในเมืองไทย ถ้าจะนิ่งดูดายเสียปล่อยให้แข่งกับสินค้าของต่างประเทศโดยลำพัง ก็น่าจะต้องประสบความลำบากถึงเลิกล้ม…จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลเราจะช่วยเหลือค้ำจุน และนอกจากจะเพิ่มภาษีขาเข้าขึ้นอีกแล้ว ก็น่าพิจารณาในปัญหาที่ว่า จะควรออกเงินสับไซดี้ช่วย โดยมีข้อไขและกำหนดปีด้วยหรือไม่…[10]

แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าบริษัทมินแซนี้จะนับว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งชาติ (national industry) ไม่ได้ เพราะพวกกรรมการเป็นชาติจีน ทุนก็เป็นของพวกจีน คนทำงานก็เป็นพวกจีนโดยมาก ดังนั้นจึงไม่เป็นการสมควรที่พระคลังข้างที่จะให้ความช่วยเหลือด้วยการซื้อหุ้นของบริษัทนี้ [11]

นอกจากนี้รัฐบาลยังประสบปัญหาจากการที่ชาวจีนจำนวนมากสมัครเข้าเป็นคนในบังคับของชาติตะวันตก ซึ่งทำให้ได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เมื่อมีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นไม่ว่าในเรื่องใด รัฐบาลก็จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งกับมหาอำนาจตะวันตกจนลุกลามไปสู่การยึดเมืองไทยเป็นอาณานิคมแม้แต่การเก็บภาษีโรงร้านจากชาวจีน รัฐบาลก็ประสบปัญหาว่าชาวจีนที่เป็นคนในบังคับชาติตะวันตกมักหาทางเลี่ยงภาษี [12]

อย่างไรก็ตาม ตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้ทรงเห็นด้วยกับการสร้างภาพคนจีนให้เป็น “คนอื่น” ที่เป็นอันตรายต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะในระดับที่ทำให้จีนเป็น “ยิวแห่งบูรพาทิศ” ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสนอไว้ ตรงกันข้าม ทรงสร้างอัตลักษณ์จีนโดยเน้นความสามิภักดิ์ต่อราชการและเน้นเฉพาะส่วนดีของชาวจีนตลอดมาตามหลักความฉลาดในการประสานประโยชน์ของพระองค์

ในรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการเมืองฉะเชิงเทรา ทรงพระนิพนธ์จดหมายเหตุรายวันเพื่อพิมพ์เผยแพร่ มีความตอนหนึ่งว่า

…พวกกรมการจีนและจีนผู้ดีในเมืองฉะเชิงเทรา ได้ออกเงินช่วยราชการรวมเป็นเงิน 70 ชั่ง ได้สร้างที่ว่าการเมืองขึ้นไว้ด้วยเงินนั้น ในการผูกปี้คราวนี้แลจีนผู้ดีได้เรี่ยรายกัน จะขอทำที่ว่าการเมืองถวายอีกหลังหนึ่ง เรี่ยรายเงิน 6538 บาท เพื่อจะสร้างเรือไปถวายไว้ สำหรับใช้ราชการเมืองฉะเชิงเทราลำ 1 แลข้าราชการกับราษฎรได้เรี่ยรายกันอีกส่วน 1 เป็นเงิน 700 บาท เพื่อจะแต่งถนนในระหว่างเมืองฉะเชิงเทรากับบ้านใหม่ให้เรียบร้อย ที่เมืองฉะเชิงเทรานี้กรมการจีนแลพ่อค้าจีนมีความสามิภักดิ์ต่อราชการมาก… [13]

การเรี่ยไรเงินจากชาวจีนเพื่อใช้ในกิจการที่รัฐไม่มีงบประมาณ เป็นวิธีที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงใช้อยู่เสมอ เช่น ในการปรับปรุงวังหน้าเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ใน พ.ศ. 2470 ทรงเชิญพ่อค้าฝรั่ง แขก และจีน มารับประทานน้ำชาและตรัสกับพ่อค้าเหล่านั้นว่า

…ในหลวงประทานที่วังหน้านี้ให้ฉันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของชาติ จะไปขอเงินคลังเขาก็คงไม่ให้ ฉันก็แก่ลงทุกที กลัวจะไม่ได้ทำ…แล้วก็นึกถึงพวกท่านว่าท่านอยู่ในเมืองไทยมาช้านาน คงจะยินดีที่จะช่วย ที่จะเห็นความเจริญของเมืองไทย… [14]

ซึ่งปรากฏว่าพระองค์ทรงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ความพยายามที่จะให้ชาวจีนช่วยเหลือในกิจการต่างๆ นี้ ทำให้พระองค์ทรงเน้นการประสานประโยชน์กับชาวจีนอย่างมาก และทรงสร้างอัตลักษณ์จีนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

ในรัชกาลที่ 7 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนจีน เข้าใจว่าทรงดำเนินพระบรมราโชบายเกี่ยวกับจีนภายใต้การถวายคำแนะนำของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระดำรัสของพระองค์สะท้อนความมุ่งหมายที่จะประสานประโยชน์และลบล้างความบาดหมางใจที่เคยรู้สึกต่อกันอันเนื่องจากนโยบายต่อต้านจีนในรัชกาลที่ 6 ดังนี้

…อันที่จริงไทยกับจีนนั้น ต้องถือว่าเป็นชาติที่เป็นพี่น้องกันโดยแท้ นอกจากนี้เลือดไทยกับจีนได้ผะสมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว จนต้องนับว่าแยกไม่ออก ข้าราชการขั้นสูงๆ ที่เคยรับราชการหรือรับราชการอยู่ในเวลานี้ ที่เป็นเชื้อจีนก็มีอยู่เป็นอันมาก แม้ตัวข้าพเจ้าเองก็มีเลือดจีนปนอยู่ด้วย…

ข้าพเจ้าหวังว่าท่านทั้งหลายจะมีความเห็นพ้องกับข้าพเจ้า และจะตั้งใจสั่งสอนบุตรหลานให้มีความรู้สึกเช่นนั้น ในโรงเรียนของท่าน ท่านย่อมสั่งสอนให้นักเรียนรักประเทศจีนอันเป็นของธรรมดาและของควรแต่นอกจากที่จะสอนให้รักประเทศจีน ข้าพเจ้ายังหวังว่าท่านจะสอนให้รักเมืองไทยด้วย

เพราะท่านทั้งหลายได้มาตั้งเคหสถาน อาศัยอยู่ประเทศสยามได้รับความคุ้มครองร่มเย็นเป็นอย่างดีจากรัฐบาลสยาม มีสิทธิทุกอย่างเหมือนคนไทย ได้รับความสุขสบายมั่งคั่งสมบูรณ์ในประเทศสยาม เพราะฉะนั้นความมั่นคงของรัฐบาลสยามและประเทศสยาม ย่อมเป็นสิ่งที่ท่านพึงประสงค์… [15]

เป็นไปได้อย่างมากว่า พระราชดำรัสนี้ร่างโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พ.ศ. 2471-2472 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงเป็นผู้ร่างพระราชดำรัสตอบพ่อค้าจีน ซึ่งมีเนื้อความคล้ายคลึงกัน ดังความต่อไปนี้

จีนกับไทยที่จริงเหมือนกับเป็นญาติกัน ด้วยร่วมศาสนาแลมีจารีตประเพณีคล้ายคลึงกัน แม้จนภาษาก็อาจศึกษาให้เข้าใจกันแล กันได้ง่ายกว่าภาษาอื่นโดยมาก…จีนที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยามมีเจตนาดีต่อประเทศนี้ เป็นต้นว่าประพฤติตนตามพระราชกำหนดกฎหมายและเคารพต่อรัฐบาลของบ้านเมือง ทั้งช่วยบำรุงให้เจริญโภคทรัพย์…ข้อนี้เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณทรงยกย่องพวกจีนให้ได้รับประโยชน์เหมือนกับไทยหมดทุกอย่าง เป็นประเพณีสืบมาจนปัจจุบันนี้…ส่วนตัวเราก็ชอบจีนแลปรารถนาจะรักษาประเพณีอันดีซึ่งมีมาแต่โบราณไว้ให้ถาวรสืบไป… [16]

อัตลักษณ์จีนดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลให้ชาวจีนในประเทศสยามเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีอันตรายต่อคนไทยและรัฐไทย ตรงกันข้ามกลับจะเป็นกลุ่มคนที่คอยช่วยเหลือคนอื่นๆ และเป็นกลุ่มคนที่คอยรับความเมตตากรุณาและความโปรดปรานจากชนชั้นนำของไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพ้นจากงานราชการหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทรงเสนอภาพลักษณ์อีกด้านหนึ่งของชาวจีน คือเน้น “อุปนิสัยฉลาดในการหาทรัพย์สินยิ่งกว่าไทย” เข้าใจว่าเป็นเพราะช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2475 นี้พระองค์ไม่ทรงอยู่ในฐานะผู้นำของรัฐที่จะต้องหาทางทำให้ชาวจีนรู้สึกว่าตนได้รับความอุปถัมภ์บำรุงจากรัฐบาล ไม่จำต้องอาศัยอำนาจฝรั่งหรือเป็นตัวเดียเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองอีกต่อไป

นอกจากนี้การคุกคามของชาติมหาอำนาจตะวันตกในช่วงนี้ก็ไม่รุนแรง และปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็เริ่มหมดไปแล้ว นอกจากนี้รัฐไทยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาชาวจีนในทางเศรษฐกิจมากนักเพราะได้มีการยกเลิกอากรฝิ่น บ่อนเบี้ย และหวยเรียบร้อยแล้ว

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระวิตกในปัญหาการครอบงำทางเศรษฐกิจของชาวจีน จึงได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่างๆ เพื่อทรงเสนอภาพชาวจีนที่หาทรัพย์สินโดยใช้อุปนิสัยกดขี่บีบคั้นราษฎรและเอาเปรียบรัฐบาล เช่นใน “ประวัติเจ้าพระยายมราช” มีความตอนหนึ่งว่า

….พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต)…ได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจีนแต่แรกตั้ง เมื่อ พ.ศ. 2435 ไปสังเกตเห็นก่อน ว่าวิธีเก็บภาษีอากรที่รัฐบาลให้มีผู้ประมูลกันเป็นเจ้าภาษีนายอากรไปเก็บเป็นปีๆ นั้นไม่ดี ทั้งได้เงินหลวงน้อยกว่าที่ควรจะได้ และไม่เป็นยุติธรรมแก่ราษฎร เพราะเจ้าภาษีนายอากร (อันเป็นจีนแทบทั้งนั้น) รับประมูลไปเพื่อแสวงหากำไรอย่างเดียว ใครได้อำนาจออกไป ก็บีบบังคับเก็บภาษีอากรสุดแต่ให้ได้กำไร แต่ก่อนสิ้นปีมักใช้อุบายบีบคั้นและเก็บเกินพิกัดอัตรา… [17]

แม้ว่าข้อความข้างต้นจะเน้นข้อเสียของระบบเจ้าภาษีนายอากรเป็นสำคัญ แต่ก็เน้น “การแสวงหากำไรอย่างเดียว” ของเจ้าภาษีนายอากร “อันเป็นจีนแทบทั้งนั้น” อยู่ด้วย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเน้น ความเป็นคนอื่น (The Other) ของชาวจีน ด้วยการชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างชาวจีนกับชาวไทย และการที่ชาวจีน “มิได้รู้สึกว่าเป็นชาวเมืองไทย” ไว้ดังนี้

…ประเทศสยามนี้จีนย่อมนิยมกันแต่ไรมาว่าเป็นที่หาทรัพย์ได้ง่าย ทั้งรัฐบาลและชาวเมืองก็ไม่รังเกียจจีน…ก็ธรรมดาชนชาติจีนนั้นย่อมมีอุปนิสัยฉลาดในการหาทรัพย์สินยิ่งกว่าไทย หรือจะว่าฉลาดในการนี้ยิ่งกว่ามนุษย์ชาติอื่นๆ หมดก็ว่าได้ จีนที่เข้ามาอยู่เป็นชาวสยามจึงมักได้เป็นคฤหบดีหรือแม้อย่างต่ำก็สามารถทำมาหากินเป็นอิสระแก่ตนได้โดยมาก

…จีนฉลาดในกระบวนแสวงหาทรัพย์สิน รู้จักคิดต้นทุนกำไรดีกว่าไทย…

…จีนที่มายังประเทศนี้ โดยมากเป็นแต่มุ่งหมายมาหากิน มิได้รู้สึกตัวว่าเป็นชาวเมืองไทย ได้เปรียบแก่ตนทางไหนก็ไปทางนั้น อาจจะเกิดนิยมไปแอบอิงอาศัยอำนาจฝรั่ง หรือเข้าเป็นพวกตั้วเหีย เป็นความลำบากแก่รัฐบาลทั้ง 2 อย่าง… [18]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงพระวิตกของพระองค์ในเรื่องเกี่ยวกับจีนที่ประสบความสำเร็จในการทำ “ของดีๆ” ขึ้นมากมาย ในขณะที่ไทยมัก “ไม่ทำยั่งยืน” ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีไปถึงสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2480 เพื่อขอบพระทัยสำหรับดุมเชิ้ตที่ได้โปรดประทานมาให้พระองค์

…ดุมนั้นฝีมือทำเรียบร้อยดีมาก ข้าพระพุทธเจ้าอยากชมว่าในสมัยนี้มีของดีๆ ที่ควรชมเกิดขึ้นหลายอย่าง ว่าฉะเพาะที่ได้เห็นแก่ตา เช่นดุมที่โปรดประทานมาเปนต้น กับเครื่องถมผ้าลายสำหรับนุ่ง ของกินที่ทำใส่ขวดใส่กระป๋อง มีผู้ส่งมาให้ข้าพระพุทธเจ้าก็เป็นของคิดใหม่ แลที่นึกวิตกอยู่แต่ 2 ข้อตามที่ได้สังเกตมาคือ ข้อ 1 มักเปนของเจ๊กทำ ข้อ 2 ถ้าเป็นของไทยทำมักเลิกเสียไม่ทำยั่งยืน… [19]

จะเห็นได้ว่าในลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์นี้ทรงเรียกจีนว่า “เจ๊ก” อันเป็นคำเรียกซึ่งมีนัยยะของการดูถูกอยู่ด้วย เพราะทรงใช้คำนี้ในลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าทรงใช้ในการสื่อสารกับสาธารณชนแต่อย่างใด

และเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า แม้แต่ปัญญาชนที่เน้นหลักการประสานประโยชน์อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ยังทรงสร้าง “ความเป็นจีน” ที่เป็น “คนอื่น” เพียงแต่ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและหลวงวิจิตรวาทการแล้ว ภาพลักษณ์ชาวจีนที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสร้างขึ้นมีความเป็นผู้ร้ายน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ทั้งนี้เพราะมิได้ทรงละทิ้งหลักการประสานประโยชน์แต่อย่างใด

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “จดหมายเหตุรายวันเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ตรวจราชการเมืองชลบุรี, เมืองฉะเชิงเทรา เดือนมกราคม ร.ศ. 119” จดหมายเหตุระยะทางพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมือง มณฑลกรุงเก่า มณฑลนครไชยศรี มณฑลราชบุรี ในรัตนโกสินทรศก 117. หน้า 70.

[2] หจช. ร.5 เรื่องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระยาเทเวศวงษ์วิวัฒน์ ลงวันที่ 10 สิงหาคม ร.ศ. 118.

[3] หจช. ร.6 น.4.7 / 28 พวกเก๊กเหม็งประชุมแสดงความยินดี เมื่อวันปีใหม่

[4] สุชาดา ตันตสุรฤกษ์, โพยก๊วน : การส่งเงินกลับประเทศโดย ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532), หน้า 47-48

[5] James C. Ingram. Economic Change in Thailand Since 1850-1970. p.192.

[6] Ibid., p. 72-73.

[7] พรรณี บัวเล็ก, ลักษณะนายทุนไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2457-2482 บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม. (กรุงเทพฯ : พันธกิจ, 2545), หน้า 209.

[8] เบนจามิน เอ, บทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), ภาคผนวก ข. เรื่องเดียวกัน,

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 173.

[10] หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง 26 พฤศจิกายน 2472 อ้างใน พรรณี บัวเล็ก, ลักษณะนายทุนไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2457-2482 บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม. หน้า 385

[11] หจช. ร.7 รล. 20/1125 ฎีกากรรมการบริษัทมินแซ จำกัด (พ.ศ. 2472-2473).

[12] หจช. ร.5 ม.2/11 เรื่องรายงานการประชุมข้าหลวงเทศาภิบาล 9 กันยายน ร.ศ 120.

[13] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, จดหมายรายวันเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยตรวจราชการเมืองชลบุรี, เมืองฉะเชิงเทรา, เดือนมกราคม ร.ศ. 119.

[14] หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล, ชีวิตและงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 47.

[15] รวมใจความพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนจีนเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2470 พิมพ์ในงานปลงศพ นายเซียวซองอ้วน ศรีบุญเรือง ปีมะโรง พ.ศ. 2471.

[16] สบ.2.28/24 เอกสารส่วนพระองค์ กรมดำรงฯ แผนกมหาดไทย ร่างพระราชดำรัสตอบพ่อค้าจีนคราวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พ.ศ. 2471-2472.

[17] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประวัติเจ้าพระยายมราช พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2518), หน้า 443, 446, 451

[18] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “เหตุการณ์ซึ่งต้องระงับ เมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ 5” ใน ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2516)

[19] หจช. สบ.2.53/175 เอกสารส่วนพระองค์ กรมดำรงฯ สาส์นพระญาติวงศ์ สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา) พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ลงวันที่ 23 มกราคม 2480.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2565