วอลเลซไลน์ จุดปฏิวัติแห่งมนุษยชาติ

ภาพแสดงวอลเลซไลน์ ที่ลากแบ่งระหว่างเกาะบาหลีและเกาะลอมบอก แล้วลากต่อไปทางเหนือระหว่างเกาะบอร์เนียวและเซลีเบส

ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว ช่องแคบเล็กๆ ที่กั้นระหว่างเกาะบาหลีกับเกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย เป็นสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าอาบแดด หรือดำน้ำชมความงามของสรรพสิ่งใต้ท้องน้ำสีคราม แต่กับนักวิทยาศาสตร์ “วอลเลซไลน์” เป็นพรมแดนสำคัญของสิ่งมีชีวิต เป็นจุดหักเหที่อาจจะนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนของบรรพบุรุษเราจากลิงสู่มนุษย์

วอลเลซไลน์ (Wallace’s line) คือหนึ่งในพรมแดนทางชีวะ-ภูมิศาสตร์ ที่แบ่งกลุ่มพืช และสัตว์ด้วยเขตภูมิศาสตร์ ที่ว่าเช่นนั้น เพราะดินแดนที่อยู่ห่างกันชั่วแผ่นน้ำกั้น กลับมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น เขตเมืองร้อนอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กระรอก เสือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภท เท้ากีบ ซึ่งเหล่านี้ไม่พบในเขตออสเตรเลีย (ออสเตรเลีย นิวกินี และเกาะรอบๆ) จะมีก็เพียงค้างคาวและหนูที่เป็นสัตว์พื้นเมืองออสเตรเลีย

อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 19 ในฐานะผู้ค้นพบการปฏิวัติและการคัดเลือกของธรรมชาติร่วมกับดาร์วิน อธิบายว่า เส้นนี้ลากแบ่งระหว่างบาหลีและลอมบอก แล้วลากต่อไปทางเหนือระหว่างเกาะบอร์เนียวและเซลีเบส เมื่อพิจารณาจากทางฟากตะวันตกของเส้นพรมแดนนี้ แม้ว่าบอร์เนียวและบาหลีจะเป็นเกาะซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์หลักของอาเซียน แต่กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวกลับไม่ปรากฏในเซลีเบส และลอมบอกที่ต่างกันเพียงอยู่คนละฟากของเส้น

ทั้งนี้ ทะเลที่กั้นระหว่างบอร์เนียว ชวา และบาหลี ออกจากผืนแผ่นดินเอเชีย ก็ลึกไม่เกิน 75 ฟาธอม ขณะที่ช่องแคบทางฟากตะวันออกที่กันเซลีเบสและลอมบอก ออกจากบอร์เนียวและบาหลีลึกมากกว่า

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผลกระทบอันเนื่องมาแต่ยุคไพลสโตซีน ช่วงยุคน้ำแข็งสลับกับยุคกึ่งน้ำแข็งที่อุ่นกว่า ซึ่งกินเวลานานเกือบ 5 ล้านปี กล่าวคือ เมื่อเกิดการก่อตัวของแผ่นน้ำแข็ง ส่งผลให้ระดับน้ำในมหาสมุทรลดต่ำกว่าที่เห็นในปัจจุบันประมาณ 75 ฟาธอม ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นเป็นทะเลหรือช่องแคบลึกน้อยกว่า 75 ฟาธอม ก็คือส่วนที่เคยเป็นแผ่นดินที่แห้งสนิท รวมถึงช่องแคบระหว่างบอร์เนียว บาหลี ชวา และแผ่นดินใหญ่อาเซียน

เมื่อถึงคราวแผ่นน้ำแข็งละลาย (ล่าสุดราว 13,000 ปีก่อน) ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แผ่นดินที่อยู่ในระดับต่ำกลายเป็นทะเลตื้นๆ อีกครั้ง ไต้หวัน ศรีลังกา บอร์เนียว และบาหลีก็กลายเป็นเกาะ เช่นเดิม ประชากรสัตว์บางชนิดจึงตกค้างบนดินแดนที่กลายเป็นบ้านแห่งใหม่ของพวกมัน บางชนิดก็ปรับตัวข้ามช่องแคบ เช่น แมลงที่แข็งแรง สัตว์ และพืชที่ถูกกระแสลมพัดพาไปหรือที่ว่ายน้ำทน ส่วนพวกที่ปรับตัวไม่ทันก็สูญพันธุ์ไป และบางที่วอลเลซไลน์อาจจะสัมพันธ์กับก้าวย่างไปสู่การปฏิวัติแห่งมนุษยชาติ

นักโบราณชีววิทยาเชื่อว่าแอฟริกาเหมือนแอ่งมนุษยชาติ เป็นบ่อเกิดวัฒนธรรมมนุษย์หลังยุคน้ำแข็ง ซึ่งยังไม่มีร่องรอยของศิลปะหรือเครื่องมือซับซ้อนที่ไหนในโลก กระทั่ง 40,000-30,000 ปีก่อน งานศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเครื่องมือซับซ้อนจึงเริ่มเกิดขึ้นในยุโรป จริงๆ แล้วทางด้านกายวิภาคของมนุษย์สมัยใหม่ปรากฏในออสเตรเลียก่อน อาจจะเมื่อ 50,000 ปีที่แล้ว หรือก่อนหน้านั้น

พิจารณาในแง่พัฒนาการของมนุษย์เริ่มต้นที่แอฟริกาแล้วขยายมายุโรป ซึ่งก่อนจะสิ้นสุดที่ออสเตรเลียจะต้องข้ามช่องแคบมากมายระหว่างออสเตรเลียและเอเชีย โดยเริ่มต้นที่แนวเขตวอลเลซไลน์ ทิม แฟลตเนอรี่ นักสัตววิทยา และโจนาธาน คิงดอน ให้ความเห็นว่า เป็นไปได้ว่าจากบาหลีสามารถมองเห็นเกาะลอมบอกได้ แต่ยังไม่สามารถจะเข้าถึงได้จากชวา ซึ่งตอนนั้นชวายังเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินเอเชีย

จะด้วยความอยากรู้อยากเห็นผสมกับวิญญาณรักการผจญภัย หรือด้วยความบังเอิญก็ตาม ที่สุดจากลอมบอกคนเราก็สามารถไปถึงบาหลีได้ อาจจะถูกคลื่นพาไปขณะที่อยู่บนแพตกปลาแถวๆ ชายฝั่งก็ได้

หรือถ้ามองในแง่ของนักล่าอาณานิคม บาหลี ลอมบอก หรือเกาะอื่นๆ จะต้องบริสุทธิ์ราวสวรรค์ ยั่วยวนให้จับจอง จากเกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่ง ซึ่งอุปสรรคคือช่องแคบตรงหน้าจะต้องเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงแพให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น กระตุ้นให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีใหม่ และแล้วเกาะที่ยังไม่ได้ถูกจับจองแต่ละเกาะก็จะเป็นที่มั่นแห่งใหม่ของการกระจายประชากรมนุษย์

ผลคือ ชาวออสเตรเลียและนิวกินีกลุ่มแรกคือเมื่อ 60,000 ปีก่อนนำโลกไปสู่เทคโนโลยีและงานศิลปะ แล้วความก้าวหน้านั้นก็ค่อยๆ ผ่านกลับมายังยูเรเซีย และแอฟริกา ที่สุดทรัพยากรบนผืนโลกและประชากรมนุษย์ของยูเรเซียและแอฟริกาก็นำมนุษย์ในทวีปนั้นครอบครองชาวพื้นเมืองออสเตรเลียด้วยเทคโนโลยี

กระนั้น เกาะเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเบ้าหลอมความสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบรรพบุรุษของเราก็อาจจะข้ามจากลิงมาสู่ความเป็นมนุษย์เช่นที่พวกเขาข้ามแนววอลเลซไลน์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2565