โลหกรรมพื้นบ้าน

การหล่อพระพุทธรูปแบบพื้นบ้านโบราณ (ภาพประกอบจาก ศิลปวัฒนธรรม, กุมภาพันธ์ 2540)

ความคิดที่ตกผลึกเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นภูมิความรู้ที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งที่เป็นประโยชน์ทางกายและจิตวิญญาณของมนุษย์ เทคโนโลยีหลายอย่างเกิดขึ้นจากการพัฒนากลั่นกรองความรู้แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เทคโนโลยีเกี่ยวกับความร้อน (pyrotechnology) ที่มนุษย์ค้นพบจากธรรมชาตินั้นเป็นคุณอย่างอเนกอนันต์ต่อชีวิตมนุษย์จากอดีตมาจนปัจจุบัน

มนุษย์ใช้ประโยชน์จากไฟมาช้านาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ได้แก่ ใช้ความร้อนจากไฟในการปรุงอาหาร ใช้ความร้อนจากไฟผลิตเครื่องปั้นดินเผา และใช้ไฟหล่อหลอม และแปรรูปโลหะหรือโลหกรรม เพื่อทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับ เป็นต้น

มนุษย์รู้จักการเล่นแร่แปรธาตุหรือโลหกรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญนั้นได้ผลิตงานหัตถกรรมโลหะต่างๆ ไว้ไม่น้อย เช่น หอกสำริด และเหล็ก กำไลสำริด

หัตถกรรมโลหะเหล่านี้มีอายุประมาณ 3,000-4,000 ปี แสดงว่ามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียงมีความรู้เกี่ยวกับโลหกรรมหรือรู้จักเล่นแร่แปรธาตุมาหลายพันปีแล้ว ภูมิความรู้ดังกล่าวแม้จะเป็นความรู้พื้นฐานก็ตาม แต่เป็นเทคโนโลยีพื้นบ้านที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะไม่ใช่การนำหินมากะเทาะหรือนำไม้มาถากเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ แต่งานโลหกรรมมีหลายขั้นตอน ถึงกระนั้นก็ตามโลหกรรมก่อนประวัติศาสตร์ก็ยังใช้มือมากกว่าที่จะเป็นงานอุตสาหกรรมภูมิความรู้เกี่ยวกับโลหกรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นเค้าของความคิดให้เกิดพัฒนาไปสู่โลหกรรมที่ทันสมัยในปัจจุบัน

ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์อาจหาแร่จากแหล่งแร่ที่อยู่ไม่ไกลนักแล้วนำมาทุบ (crushing) บด (grinding) และร่อนในน้ำ แยกโลหะออกมาด้วยการถลุง (smelting) จนได้โลหะหลอม (melted metals) จากนั้นจึงเอาไปทำเป็นโลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง หรือทำเป็นโลหะผสม (alloying) เช่น ทองแดงผสมดีบุกเป็นสำริด โลหะที่ได้นี้สามารถนำมาตีแต่งเป็นรูปได้ตามต้องการ โดยไม่ต้องใช้ความร้อน (cold working) หรือเรียกว่า ตีเย็น (cold hammering) หรือก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งคือ หลอมให้เหลวแล้วหล่อ (casting) ให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ

การหล่อโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยที่พบมีหลายวิธี เช่น หล่อในแม่พิมพ์คู่ (bivalve molds) การหล่อแบบไล่ขี้ผึ้ง (lost Wax) และการหล่อโดยใช้แม่พิมพ์เปิด (open molds) แต่ไม่มีการหล่อแบบใช้แม่พิมพ์หลายชิ้น (piece molds) เฉพาะที่บ้านเชียงพบการหล่อแบบแม่พิมพ์คู่ หรือใช้แม่พิมพ์ประกบกันและการหล่อแบบไล่ขี้ผึ้งออก (พิสิฐ เจริญวงศ์, มรดกบ้านเชียง, กรมศิลปากร, 2530, 48)

การหล่อโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ การหล่อโลหะแบบไล่ขี้ผึ้ง เพราะเป็นกรรมวิธีโบราณที่เป็นต้นเค้าของการหล่อโลหะในสมัยต่อๆ มาแล้วพัฒนามาเป็นการหล่อโลหะในปัจจุบัน

การหล่อโลหะวิธีนี้ชาวบ้านยังใช้หล่อพระพุทธรูป หล่อเครื่องมือเครื่องใช้กันอยู่ในหลายท้องถิ่น ได้แก่ การหล่อพระพุทธรูปที่บริเวณบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร การหล่อพระพุทธรูปและสิ่งอื่นๆ ที่บริเวณอำเภอเมือง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี การหล่อพระพุทธรูปที่บ้านช่างหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และการหล่อโลหะเป็นเต้าปูน กระดิ่ง และเครื่องใช้ต่างๆ ที่บ้านปะอาว ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

การหล่อโลหะแบบพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะการหล่อสำริดและการหล่อทองเหลืองที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น มีกรรมวิธีเฉพาะที่แตกต่างไปจากการหล่อโลหะแบบตะวันตก การหล่อสำริดแบบพื้นบ้านในอดีตส่วนมากจะหล่อพระพุทธรูปและเครื่องมือเครื่องใช้บางชนิด เช่น กระดิ่ง ระฆัง เต้าปูน ฯลฯ กรรมวิธีในการหล่อโลหะจะคล้ายกันแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่หรือการหล่อ กระดิ่ง เต้าปูน ที่มีขนาดเล็กก็ตาม

กรรมวิธีในการหล่อโลหะแบบพื้นบ้านดั้งเดิม จะเริ่มด้วยการปั้นหุ่นหรือปั้นแกนด้วยดินผสมทราย เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการก่อน จากนั้นจึงใช้ขี้ผึ้งหุ้มหรือเข้าขี้ผึ้ง เพื่อให้ได้รายละเอียดมากขึ้นและสามารถแต่งรูปทรงลวดลายได้ง่าย เพราะขี้ผึ้งมีเนื้อละเอียดและนิ่ม ใช้เครื่องมือและความร้อนแต่งให้ได้รูปทรงตามต้องการได้ไม่ยาก เมื่อแต่งขี้ผึ้งเสร็จแล้ว ต้องติดสายชนวน โดยใช้ขี้ผึ้งกลึงเป็นเส้นๆ ติดลงไปบนผิวรูปปั้นหรือสิ่งที่ต้องการจะหล่อ เพื่อเป็นทางให้ขี้ผึ้งไหลออก อีกด้านหนึ่งที่เป็นกรวยหรือ “ปากจอก” ไว้สำหรับเททอง เมื่อเข้าขี้ผึ้งแล้วจะต้องตอกทอยหรือตอกตะปูทอยลงไปในเนื้อขี้ผึ้งให้ทะลุถึงแกนทรายหรือดินใน เพื่อช่วยยึดดินนอกและดินในไม่ให้ทรุดตัว เพราะตะปูทอยจะช่วยรักษาช่องว่างที่ขี้ผึ้งถูกไล่ออกไปแล้วให้อยู่คงที่เหมือนเมื่อมีขี้ผึ้งอยู่

การเข้าดินนอกหรือการใช้ดินหุ้มขี้ผึ้งที่ตกแต่งเรียบร้อยแล้ว มักใช้ขี้วัวหรือมูลโคทาเคลือบบนขี้ผึ้งเป็นผิวชั้นในก่อน จากนั้นจึงใช้ดินนวลผสมขี้วัวหุ้มขี้ผึ้งทั้งหมด การเข้าดินนอกหรือการหุ้มดินนอกจะต้องหุ้มหลายชั้น ชั้นในใช้ดินผสมขี้วัว ถัดมาใช้ดินเหนียวผสมทรายหุ้มออกมาให้หนาพอที่จะไม่แตกเมื่อถูกไฟ ขณะเดียวกันก็ต้องตอกตะปูทอยไปด้วย หลังการเข้าดินครั้งสุดท้ายที่ปลายชนวนด้านหนึ่งจะต้องทำปากจอกไว้สำหรับเททองที่หลอมจนเหลวแล้ว ถ้าเป็นพระพุทธรูปมักทำปากจอกไว้ที่ฐาน จากนั้นจึงเข้าโครงเหล็ก หากเป็นรูปปั้นหรืองานประติมากรรมขนาดใหญ่จะต้องเข้าโครงเหล็กให้แน่นหนา ป้องกันไม่ให้แตกร้าวเมื่อสุมไฟสำรอกขี้ผึ้งหรือไล่ขี้ผึ้งออก การสำรอกขี้ผึ้งมักกลับหุ่นเอาหัวลง เพื่อให้ขี้ผึ้งไหลออกทางสายชนวนได้สะดวก ขณะเดียวกันการกลับเอาหัวลงจะช่วยให้เททองลงในปากจอกที่ทำเป็นกรวยไว้ได้ง่ายด้วย

การสำรอกเอาขี้ผึ้งออก จะต้องเผาไฟให้ขี้ผึ้งไหลออกจนหมดและเผาจนดินสุก สุมไฟให้ร้อนอยู่ตลอดเวลา จากนั้นจึงเททองคือโลหะที่ใส่ไว้ในเบ้าแล้วเผาจนหลอมเป็นของเหลว อาจจะเป็นทองเหลือง หรือถ้าการหล่อสำริดก็ใช้ทองแดงผสมดีบุก จากนั้นจึงเททองหรือโลหะที่หลอมเหลวแล้วลงไปในปากจอก ให้โลหะที่เป็นของเหลวไหลลงไปแทนที่ขี้ผึ้ง เมื่อโลหะเย็นและแข็งตัวแล้ว ทุบเอาดินนอกและดินในออก ก็จะได้โลหะที่มีรูปทรงตามหุ่นที่ขึ้นไว้ และเนื้อโลหะจะหนาเท่ากับความหนาของขี้ผึ้งที่หุ้มแกนทรายหรือดินในไว้ จากนั้นจึงตกแต่งผิวให้เรียบหรือขัดให้มัน ถ้าเป็นพระพุทธรูปอาจจะทารักปิดทองอีกครั้งหนึ่ง

แม้การหล่อโลหะแบบพื้นบ้านที่คนไทยทำสืบต่อกันมาแต่โบราณนั้น จะดูไม่ยุ่งยากซับซ้อนนักก็ตาม แต่กว่าที่จะคิดกรรมวิธีดังกล่าวได้ จะต้องใช้การสั่งสมความรู้และความชำนาญสืบต่อกันมานับพันปีทีเดียว

ปัจจุบันการหล่อโลหะแบบพื้นบ้านที่ยังทำตามกรรมวิธีโบราณที่น่าสนใจมาก คือ การหล่อโลหะของชาวบ้านปะอาว ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งยังใช้วิธีการหล่อโลหะแบบดั้งเดิมที่แสดงให้เห็นภูมิความรู้เกี่ยวกับงานโลหกรรมแบบดั้งเดิมได้ดี

ชาวบ้านปะอาวแต่เดิมทำกระดิ่งและเต้าปูนสำหรับใส่ปูนแดงที่ใช้กินกับหมาก แต่ต่อมาจำนวนคนกินหมากลดลง ทำให้เต้าปูนขายได้น้อย ชาวบ้านปะอาวยุกต์เต้าปูนมาเป็นที่ใส่เกลือ พริกไทย แต่กรรมวิธีการทำยังเป็นแบบพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

หัตถกรรมโลหะของชาวบ้านปะอาวเริ่มด้วยการปั้นหุ่นด้วยดินจอมปลวกผสมขี้วัว ตำให้ละเอียดแล้วผสมน้ำ นวดให้เข้ากันจนเหนียวแล้วปั้นเป็นหุ่น เมื่อดินแห้งดีแล้วจึงเข้าขี้ผึ้ง โดยใช้ขี้ผึ้งที่รีดเป็นเส้นเล็กๆ อย่างเส้นลวด พันรอบหุ่นหรือแกนดินที่ปั้นไว้ แล้วแต่งให้เรียบโดยอังไฟให้ขี้ผึ้งนิ่ม จากนั้น “กดลาย” โดยใช้ไม้แม่ลายที่แกะเป็นลายไว้กดลงบนขี้ผึ้งให้เป็นลวดลายตามต้องการ จากนั้นจึงเข้าดินนอกคือ ใช้ดินผสมแกลบหุ้มขี้ผึ้งที่ตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ทิ้งไว้ให้แห้งจึงเททองเหลืองที่หลอมจนเป็นของเหลวเข้าไปแทนที่ขี้ผึ้ง ปล่อยให้ทองเหลืองเย็นและแข็งตัว จึงทุบดินออก ตกแต่งทองเหลืองที่หล่อได้ให้เรียบด้วยตะไบ ก็จะได้กระดิ่งหรือเต้าปูนประยุกต์ตามต้องการ

การหล่อโลหะของชาวบ้านปะอาวและชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะการหล่อสิ่งของขนาดเล็ก เช่นกระดิ่ง ลูกกระพรวน เต้าปูน ฉิ่ง มักทำตามกรรมวิธีพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาแต่โบราณมากกว่ากรรมวิธีที่รับแบบอย่างมาจากตะวันตกที่นำมาใช้หล่ออนุสาวรีย์หรืองานประติมากรรมขนาดใหญ่ การหล่อโลหะแบบตะวันตกสามารถหล่อโลหะจากต้นแบบที่ปั้นไว้ได้จํานวนมาก ต่างกับการหล่อโลหะแบบพื้นบ้านที่หล่อจากต้นแบบได้เพียงชิ้นเดียว

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าความรู้เกี่ยวกับโลหกรรมของมนุษย์นั้นสืบทอดกันมาช้านานหลายพันปี แต่กรรมวิธีดั้งเดิมที่ทำอย่างง่ายๆ ด้วยมือนั้น ยังคงเป็นกรรมวิธีที่ชาวบ้านสามารถทำได้โดยใช้เครื่องมือและวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างทุกวันนี้แต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งของคนไทยที่น่าสนใจ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2565