รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ “กายบริหารประกอบดนตรี” ทำอะไรสงครามโลกครั้งที่ 2

กายบริหารประกอบดนตรีในญี่ปุ่น (ภาพจาก https://www.jas-hou.org)

กิจกรรมกายบริหารประกอบดนตรี (Radio Taiso หรือ Rajio Taiso) เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่พัฒนาสุขภาพประชาชนของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1928 เป็นต้นมา

“กายบริหารประกอบดนตรี” นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโฆษณาการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเป็นเวลา 15 นาที ของบริษัทประกันชีวิตของอเมริกาที่ชื่อว่า Metropolitan Life Insurance Corporation ช่วงต้นทศวรรษ 1920 ญี่ปุ่นจึงหยิบยืมความความคิดนี้มาปรับใช้กับการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาในสังคมญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นใช้กิจกรรมกายบริหารเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชาชนตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มีการก่อตั้งสถาบันยิมนาสติกแห่งชาติ ขึ้นใน ค.ศ. 1879 เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่พัฒนาการออกกำลังกายและการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะที่ดีในสถานศึกษาของญี่ปุ่น

ต่อมาสถาบันยิมนาสติกแห่งชาติได้เชิญ จอร์จ อดัมส์ ลีแลนด์ (George Adams Leland) นายแพทย์ชาวอเมริกันมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของสถาบัน และใช้รูปแบบการจัดการกีฬาของโลกตะวันตกและอเมริกาเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาด้านกีฬาของญี่ปุ่น ช่วงเวลาดังกล่าวกิจกรรมกายบริหารที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของยิมนาสติก ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการออกกำลังกายของกองทัพโดยมีการฝึกสอนในสถานศึกษาร่วมกับการศึกษายิมนาสติกทั่วไป และการเล่นกิจกรรมนอกสถานที่เช่นเดียวกัน ปรากฏเป็นหลักสูตรการสอนสำหรับโรงเรียนประถม ค.ศ. 1887

กองทัพญี่ปุ่นใช้กิจกรรมกายบริหารเป็นเครื่องมือเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านการทหารอย่างเป็นระบบมากขึ้นในทศวรรษ 1910 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งหลังจากที่ยุโรป และสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้กิจกรรมดังกล่าวในการฝึกซ้อมทหารในกองทัพตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 พร้อมกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับการใช้กิจกรรมกายบริหารในการพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกายของประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน

รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ประกาศใช้แผนการใช้กิจกรรมกายบริหารแบบกองทัพ เป็นการสนับสนุนการออกกำลังกายด้วยการปฏิบัติกายบริหารเพื่อปลูกฝังเยาวชนให้เป็นทหาร โดยพยายามปลูกฝังจิตวิญญาณของนักสู้ ในการฝึกฝนร่างกายและจิตใจของเยาวชนทุกคน

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1930 จนถึงช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลกองทัพญี่ปุ่นได้นำเอากิจกรรมกายบริหารประกอบดนตรีจากสหรัฐอเมริกามาปรับใช้ภายในสังคมญี่ปุ่น และภายในกองทัพญี่ปุ่น โดยกำหนดให้ประชาชนทำกิจกรรมดังกล่าววันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า-เย็น ครั้งละ 15 นาที ด้วยชุดท่ากายบริหารที่รัฐบาลกำหนด

รัฐบาลญี่ปุ่นยังประกาศใช้กิจกรรม “กายบริหารประกอบดนตรี” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในดินแดนที่ยึดครองอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสงครามหาเอเชียบูรพาระหว่าง ค.ศ. 1942-1945 เพื่อพัฒนาสุขภาวะอันดีให้กับประชาชนท่ามกลางสถานการ์ตึงเครียดของสงคราม และโรคภัยไข้เจ็บตลอดเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่นปกครองภูมิภาคดังกล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติสำคัญอย่างน้ำมัน และแร่ธาตุต่างๆ ที่กองทัพญี่ปุ่นเล็งเห็นว่ามีความสำคัญต่อแผนวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเอาชนะเจ้าอาณานิคมดัตช์และยึดครองหมู่เกาะอินโดนีเซียได้ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1942 รัฐบาลกองทัพญี่ปุ่นพยายามส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนภายในหมู่เกาะอินโดนีเซียหลายช่องทาง และหนึ่งในนั้นก็คือ กายบริหารประกอบดนตรี (Radio Taiso) โดยรัฐบาลกองทัพญี่ปุ่นกำหนดให้มีกิจกรรมกายบริหารประกอบดนตรีครั้งละ 15 นาที ทุกวันๆ จำนวน 1-3 ครั้งต่อวันตามแต่เขตปกครองต่างๆ จะกำหนด

นับแต่ ค.ศ. 1942 ที่รัฐบาลกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาปกครองหมู่เกาะอินโดนีเซีย ก็ได้ส่งเสริมกิจกรรมกายบริหารประกอบดนตรีแก่ประชาชนในพื้นที่ตลอดเวลาที่ยึดครองพื้นที่ดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้เป็นกิจกรรมที่สร้างพลานามัยที่ดีกับประชาชนในหมู่เกาะ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชานกลุ่มดังกล่าวมาเป็นทหารอาสา, ทหารเกณฑ์ให้แก่กองทัพญี่ปุ่นในอนาคต

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้น บทความของ กษิดิศ วงษ์ลิขิตธรรม. “สุขภาพแข็งแรงแบบญี่ปุ่น: การส่งเสริมกายบริหารประกอบดนตรี (Radio Taiso) ของญี่ปุนในอินโดนีเซียช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (ค.ศ. 1942-1945)” ใน, วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 39 พุทธศักราช 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2565