ความรุนแรงที่ขอนแก่น พ.ศ. 2479 สู่การสิ้นสุดของ “พรรคคอมมิวนิสต์สยาม”

วงเวียนใกล้ศาลหลักเมืองขอนแก่น (ภาพจาก www.khonkaen.info)

องค์กรการเมืองในระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีบทบาทต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีอยู่ 2 องค์กรหลัก ๆ ได้แก่ พรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พคส.) กับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แม้องค์กรหลังจะพัฒนามาจากองค์กรแรกด้วยอุดมกาณณ์ทางการเมืองแบบซ้ายจัดเหมือนกัน แต่ถือว่าเป็นคนละองค์กรกันอย่างชัดเจนด้วยหลาย ๆ เหตุผล สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์สยามนั้นถือกำเนิดตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2473 ก่อนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2485

การจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยามเป็นส่วนหนึ่งในการประสานงานของโฮจินมินห์กับ 2 องค์กรสำคัญในดินแดนไทย คือ องค์กรคนจีนภายใต้คณะกรรมการสยามแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้ (รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ) และองค์กรสันนิบาตเยาวชนปฏิวัติเวียดนาม (ฐานที่มั่นในภาคอีสาน) พรรคคอมมิวนิสต์สยามจึงมีผู้นำและคณะกรรมการบริหารเป็นชาวจีน-เวียดนามเป็นตัวตั้งตัวตีในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

Advertisement

ปฏิบัติการและการดำเนินการของพรรคคอมมิวนิสต์สยามคือการดึงเอาชาวสยามที่มีสัญชาติไทย เชื้อชาติไทย หรือแม้แต่เชื้อชาติลาว เข้ามาเป็นสมาชิก โดยองค์กรพรรคสายเวียดนามซึ่งมีที่มั่นในภาคอีสานและภาคเหนือจะกระตือรือร้นในการชักนำคนสยามมาเป็นสมาชิกพรรคมากกว่าพรรคสายจีนที่มีฐานอยู่ในกรุงเทพฯ การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์สยามจึงเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานเป็นสำคัญ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและระบอบจักรพรรดิหรือกษัตริย์ โดยมีปลายทางคือการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ

ใน พ.ศ. 2479 จากความแตกแยกภายในขององค์กรพรรคสายเวียดนามของบรรดาผู้นำพรรค ประกอบกับการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ถูกทางการไทยปราบปรามและมีการจับกุมบุคคลระดับผู้นำอยู่เนือง ๆ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์สยามอ่อนกำลังลงเรื่อย ๆ โดยมีการเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายคือ “เหตุการณ์รุนแรงที่ขอนแก่น” ซึ่ง เออิจิ มูราชิมา ให้ข้อมูลไว้ในหนังสือ กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พ.ศ. 2473-2479) (โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แปล. (2555), มติชน) ดังนี้


 

สำหรับเหตุการณ์รุนแรงที่ขอนแก่นมีรายละเอียดดังนี้คือ ในวันที่ 31 ตุลาคม 1936 (พ.ศ. 2479 – ผู้เขียน) ตั้งแต่ประมาณ 9 โมงเช้า ที่บ้านพระลับ ไม่ไกลจากตัวจังหวัดขอนแก่น มีคนมาชุมนุมกันราว 30-40 คนที่ใกล้ ๆ สนามบิน และมีคนเวียดนามถูกจับกุม 11 คนที่นั่น ส่วนที่ถนนในเมืองก็มีชาวเวียดนามเกือบ 200 คนออกมาชุมนุมประท้วง แจกใบปลิว ร้องตะโกนว่า ไชโย! โค่นล้มรัฐบาลสยาม! ก่อตั้งรัฐบาลโซเวียตของกรรมกรชาวนาทหาร!

กลุ่มผู้ประท้วงปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่พยายามจะยับยั้งควบคุมการชุมนุมที่หน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนสังกัดส่วนกลาง มีชาวเวียดนามถูกยิงเสียชีวิต 2 คน และได้รับบาดเจ็บ 10 กว่าคน ท้ายสุด จำนวนผู้ที่ถูกจับตามรายงานที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยแจ้งต่อปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1937 คือ 201 คน ในจำนวนนี้มีคนเวียดนามในบังคับฝรั่งเศส 193 คน คนลาวเวียงจันทน์ในบังคับฝรั่งเศส 1 คน คนไทย 7 คน

คนเหล่านี้ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และกลุ่มที่ถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2478 (ฉบับที่ 7) มาตรา 104 (4) ว่าด้วยการบ่อนทำลายชาติโดยใช้ความรุนแรง (จำคุก 10 ปีขึ้นไปหรือตลอดชีวิต) ผู้ที่ตกอยู่ในกลุ่มแรกมีจำนวน 142 คน (เป็นคนเวียดนามในบังคับฝรั่งเศสทั้งหมด) ในระหว่างขั้นตอนการสอบสวน มีผู้ได้รับการปล่อยตัว 6 คน และอีก 136 คนถูกดำเนินคดี ศาลตัดสินว่ามีความผิด 105 คน ปล่อยตัวเพราะหลักฐานไม่พอที่จะเอาผิด 31 คน ผู้มีความผิดจะถูกเนรเทศออกนอกราชอาณาจักรหลังจากรับโทษจนครบกำหนดแล้ว

ส่วนกลุ่มหลังประกอบด้วยคนเวียดนามในบังคับฝรั่งเศส 51 คน คนลาวในบังคับฝรั่งเศส 1 คน คนสัญชาติไทย 7 คน คนกลุ่มนี้ถูกดำเนินคดี และปรากฏว่าคนเวียดนาม 7 คนไม่มีความผิด จึงได้รับการปล่อยตัวไป ส่วนที่เหลืออีก 52 คน มีความผิด กลุ่มหลังซึ่งถูกตั้งข้อหาว่ากระทำผิดฐานกบฏภายในนั้น คนกว่าครึ่งได้ถูกส่งฟ้อง กล่าวคือ กลุ่มหลักประกอบด้วย 31 คน (ชาย 18 คน หญิง 13 คน) ได้ถูกส่งฟ้องศาลจังหวัดขอนแก่นโดยเร็วในวันที่ 14 พฤศจิกายน 1936 คนกลุ่มนี้เกือบทั้ง 31 คน ล้วนมีที่อยู่ในตำบลพระลับ จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมือง) ยกเว้นชายคนหนึ่งซึ่งมีที่อยู่ในจังหวัดมหาสารคาม และอีกคนหนึ่งมีที่อยู่ในอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ในผู้หญิง 13 คน มีคนที่ใช้ชื่อว่า นางยอ (Nho) แจ่มศรี คนผู้นี้คือ ดั่งกวิ่งห์แอ็งห์ มารดาของธง แจ่มศรี (ธง แจ่มศรี หรือประชา ธัญญไพบูลย์, อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ถึง 2562 – ผู้เขียน)

ช่วงปี 1934 หลังจากที่นางยอ (หรือ “บ่ายอ” หรือ “ป้ายอ”) ใช้หนี้ที่ยืมมาจากคนบ้านใกล้เรือนเคียงเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมการเคลื่อนไหวหมดแล้ว ก็พาลูกสาวคนโต อายุ 9 ปี และลูกชายคนที่ 2 อายุ 6 ปี ออกจากบ้านดงเพื่อไปเสาะหาองค์กรพรรคคอมมิวนิสต์ นางยอไม่มีความสัมพันธ์กับพรรคเลยนับแต่องค์กรพรรคได้ถอนปฏิบัติการออกจากบ้านดงไปเมื่อปี 1930 เป็นต้นมา ทีแรกคิดว่าตนน่าจะติดต่อกับองค์กรพรรคที่โคราชได้แน่ ๆ แต่พอสืบค้นที่นั้นแล้ว ปรากฏว่าไม่พบร่องรอย ผลสุดท้ายจึงไปที่อุดร ผู้ที่ปรากฏตัวในฐานะตัวแทนพรรคคือเลแหม่งห์จิงห์ (หนึ่งในผู้นำองค์กรพรรคสายเวียดนาม – ผู้เขียน) ซึ่งเข้าใจผิดคิดว่าดั่งกวิ่งห์แอ็งห์ติดเหล้าและละทิ้งงานปฏิวัติ

ครั้นแก้ไขความเข้าใจผิดแล้ว ดั่งกวิ่งห์แอ็งห์ก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน (ตามที่แหล่งข้อมูลระบุ) เมื่อเดือนเมษายน 1934 จากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้เปิดร้านอาหารเล็ก ๆ เพื่อสร้างฐานการติดต่อที่ขอนแก่น และได้พาลูกย้ายไปอยู่ที่ขอนแก่น ในการประท้วงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1936 บุคคล 5 คนตั้งแต่เยิ่น ซึ่งเป็นเลขาหน่วยสาขาพรรคลงมา รวมทั้งดั่งกวิ่งห์แอ็งห์ด้วย คือบุคคลหลักในการวางแผน จุดประสงค์ที่หน่วยสาขาพรรควางแผนก่อการประท้วงคือ เพื่อต่อต้านการขึ้นภาษีและแสดงให้เห็นพลังของคนเวียดนาม อีกทั้งเพื่อประกาศเรียกความสนใจให้คนสยามเข้ามามีส่วนร่วม

แผนการประท้วงอย่างสงบแปรไปสู่เหตุการณ์ใหญ่โตได้อย่างไร? ธง แจ่มศรียังจำได้ว่า หลังจากพ้นการจองจำเมื่อปลายปี 1937 แล้วเคยได้ยินกระแสวิจารณ์ว่าเหตุการณ์เล็ก ๆ (ต่อต้านการขึ้นภาษี) ผันไปสู่เหตุการณ์ใหญ่โตเพราะการชี้นำไม่เหมาะสม นอกจากนี้ หว่างวันฮวาน (กรรมการบริการพรรคสายเวียดนาม – ผู้เขียน) ก็บันทึกไว้ว่า ระหว่างถูกจับจำคุกภายหลังเหตุดังกล่าว เกิดความรู้สึกสะท้อนใจว่า วิธีการต่อสู้แบบนี้รังแต่จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์สูญเสียผู้สนับสนุน (บันทึกความทรงจำของหว่างวันฮวาน, ฉบับภาษาอังกฤษ, หน้า 66)

การประท้วงที่ขอนแก่นครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่น ตรงที่สามารถระดมผู้คนได้มากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการต่อสู้ครั้งใด ๆ ของพคส. (พรรคคอมมิวนิสต์สยาม – ผู้เขียน) จนถึงขณะนั้น ครั้งนี้เป็นการกระทำที่อาจหาญและเปิดเผย คนเวียดนามที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ก็ถูกระดมมาด้วยอย่างเป็นระบบ อาจเป็นไปได้ว่าการเคลื่อนไหวนี้สอดแทรกแฝงไว้ด้วยเจตนารมณ์ที่จะเรียกร้องให้ประจักษ์แก่สายตาว่า พรรคยังคงตั้งมั่นอย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการเคลื่อนไหวขององค์กรชาวเวียดนามภายใน พคส. ก็ถึงกาลอวสาน โดยมีเหตุการณ์รุนแรงที่ขอนแก่นในครั้งนั้นเป็นปฏิบัติการครั้งสุดท้าย

หว่างวันฮวานบันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งที่ฝุ่งจี๋เกียน (Phung Chi Kien) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานวิเทศสัมพันธ์ของคณะชั้นนอกประเทศพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนมาที่เมืองหวู่ฮั่นในเดือนมิถุนายน 1938 ช่วงสมัยแนวร่วมสามัคคีที่ 2 ระหว่างพรรคก๊กมินตั้งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในมณฑลหูเป่ย์ของจีน เขาแจ้งว่าขาดการติดต่อกับ พคส. โดยสิ้นเชิงแล้ว (บันทึกความทรงจำของหว่างวันฮวาน, ฉบับภาษาอังกฤษ หน้า 98)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2565